ลักษณะของผู้นำ 3 แบบ

ในองค์การต่าง ๆ หากเราพิจารณาลักษณะของผู้นำ โดยคำนึงถึงลักษณะการใช้อำนาจหน้าที่ระหว่างตัวผู้นำและผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นเกณฑ์ เราอาจแบ่งลักษณะของผู้นำในองค์การออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้ค่ะ
1. ผู้นำแบบเผด็จการ (Autocratic Leadership) เป็นผู้นำที่เน้นการบังคับบัญชา และการออกคำสั่งเป็นลำดับ ผู้นำประเภทนี้ มักตัดสินใจด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ และจะไม่ค่อยมอบอำนาจหน้าที่ให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชามากนัก ลักษณะผู้นำประเภทนี้จะถือตัวเองเป็นหลัก เรียกว่า มีอัตตาสูง เชื่อมั่นตนเองมาก ไม่ค่อยให้เกียรติและไม่เชื่อฟังผู้อื่น ผู้ใต้บังคับบัญชาไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็น แม้จะไม่เห็นด้วยกับนโยบายของผู้นำเองก็ตาม ส่วนผลดีของผู้นำแบบนี้ คือ จะทำให้การทำงานรวดเร็ว เพราะใช้คนตัดสินใจสั่งการเพียงคนเดียวและใช้คนงานรองๆ ลงมาในระดับต่ำได้ ทั้งนี้ เพราะผู้ใต้บังคับบัญชา มีหน้าที่เพียงปฏิบัติตามคำสั่ง และรายงานปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติงานกลับไปเท่านั้น ส่วนผลเสียของผู้นำแบบเผด็จการ คนส่วนใหญ่ไม่ชอบระบบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้นำใช้วิธีการจูงใจแบบด้านลบ (Negative motivation) โอกาสที่คนงานจะเกิดความผิดหวัง และเสียขวัญในการทำงานได้มาก คนงานส่วนใหญ่จะทำแบบพอไปที ที่สำนวนไทยเรียกว่า เช้าชาม เย็นชาม
สรุปได้ว่าผู้นำแบบเผด็จการจะมีอำนาจสูงสุดที่ตัวผู้นำ ผู้นำจะสั่งการและตัดสินใจโดยยึดถือความคิดตนเองเป็นใหญ่ นิยมการให้รางวัลและลงโทษ
2. ผู้นำแบบประชาธิปไตย (Democratic Leadership)
ผู้นำประเภทนี้จะตรงข้ามกับแบบแรกค่ะ ผู้นำแบบประชาธิปไตยจะให้ความสำคัญแก่ผู้ใต้บังคับบัญชามาก การบริหารจะใช้วิธีการกระจายอำนาจ การตัดสินใจหรือการดำเนินงาน จะใช้วิธีปรึกษาหารือผู้ร่วมงาน ซึ่งอาจใช้วิธีการประชุมหรือตั้งคณะกรรมการ ผู้นำประเภทนี้ พยายามส่งเสริมให้คนงานออกความคิดเห็น และมีส่วนร่วมในการพิจารณาตัดสินใจในปัญหาต่าง ๆ ได้ กระบวนการดังกล่าว จะเอื้อให้เกิดความเข้าใจ ซึ่งเรา สรุปว่า ผู้นำแบบประชาธิปไตยเป็นผู้นำที่ทำงานโดยอาศัยความร่วมมือกับผู้ใต้บังคับบัญชา การตัดสินใจอยู่บนฐานของการปรึกษาหารือกัน
3. ผู้นำแบบเสรีนิยม (Laissez Faire Leadership)
ผู้นำประเภทนี้จะปล่อยปะละเลย ไม่สนใจต่อลูกน้อง และไม่ทำอะไรให้เป็นที่น่ารังเกียจเจ็บใจ ผู้นำประเภทนี้จะปล่อยให้ลูกน้องทำงานไปตามความคิดเห็นของตนเอง โดยไม่ต้องปรึกษาหารือกับตนก่อน ในทางปฏิบัติการบริหารแบบผู้นำแบบเสรีนิยม นี้จะแตกต่างจากผู้นำแบบประชาธิปไตยที่ว่า จะมีการปล่อยให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชามีอิสระเสรีเต็มที่ หรือปล่อยให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชามีอำนาจกระทำการใด ๆ ตามใจชอบได้ ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้จะถูกมอบหมายให้ผู้ใต้บังคับบัญชาตัดสินใจอย่างเต็มที่ ผู้ใต้บังคับบัญช าอาจจะได้รับสิทธิในการจัดทำแผนงานต่าง ๆ ได้ตามใจชอบ โอกาสผิดพลาดจากการปฏิบัติงานก็ย่อมมีมากด้วยค่ะ
ท่านผู้ฟังค่ะ การบริหารเป็นทั้งศิลป์และศาสตร์ ที่ผู้บริหารจะต้องนำลักษณะของผู้นำแบบต่าง ๆ มาผสมผสาน ให้มีความเหมาะสม จึงจะทำให้งานที่ตั้งไว้ตามวัตถุประสงค์ประสบผลสำเร็จ ลักษณะผู้นำที่การบริหารเน้นไปที่งานมากเกินไป ก็จะทำให้เสีย“บุคลากร” และ การบริหารที่เน้นหนักไปทางบุคลากร ก็จะทำให้องค์การเสีย “งาน” ดังนั้น ความพอดีของทั้งสองสิ่งนี้คือ ทั้งคนและทั้งงานค่ะ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องค้นหาให้พบ จึงจะทำให้เกิดผลดี คือได้งาน และได้คน ที่เป็นลักษณะผู้นำที่ดีที่สุดที่จะทำให้งานประสบผลสำเร็จดีเลิศนั้น แต่ยังไม่ปรากฏมีงานเขียนหรืองานวิจัยใด ที่แสดงให้เห็นว่าลักษณะความเป็นผู้นำชนิดใดดีกว่าชนิดใด เหตุผลการเลือกใช้ลักษณะผู้นำประเภทใดย่อมขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละสถานการณ์ โดยท่านอาจารย์ อัมพิกา ไกร ได้เสนอแนะไว้แก่ผู้ที่จะเป็นผู้นำ ไว้ว่า “ความชำนาญในการที่ท่านสามารถจะเลือกพื้นฐานของความเป็นผู้นำทั้งสามชนิด คือผู้นำแบบเผด็จการ ผู้นำแบบประชาธิปไตย และผู้นำแบบเสรีนิยมนั้น จะทำให้ท่านเป็นบุคคลที่ได้รับความสำเร็จในการเป็นผู้นำ” ค่ะ

Comments are closed.