"เด็กไทยสู้ได้แค่ไหน ในศตวรรษที่ 21?"

เปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ที่กำลังจะมาถึง เป็นวาระของการ "ตื่นตัว" "ปรับตัว" และ "ประเมิน" ถึงศักยภาพ และขีดความสามารถในการแข่งขันของภาพรวมการศึกษาไทยทั้งระบบ ตัวผู้สอน และเด็กไทย(ผู้เรียน) อย่างแท้จริง  การรวมตัวของ "ตัวจริง" ในแวดวงการศึกษา ในงานสัมมนา “โลกเปลี่ยนไป สร้างเด็กไทยแห่งศตวรรษที่ 21” ที่จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ร่วมกับ Laureate International Universities และบริษัท เอกธนา เอ็ดยูเคชั่น เซอร์วิสเซส ร่วมกันสะท้อนให้เห็นถึง โอกาส ความท้าทาย การเตรียมตัวอย่างไรให้พร้อมกับการแข่งขันที่มีแต่จะเข้มข้นขึ้นในอนาคต
  "เด็กไทยสู้ได้แค่ไหน ในศตวรรษที่ 21?"
 "สู้ได้หรือไม่ได้ สิ่งสำคัญอยู่ที่คุณภาพ"
 "ขีดความสามารถในการแข่งขันสูง ย่อมได้เปรียบ แต่หากขีดความสามารถต่ำ เสียเปรียบแน่นอน"
  เสียงสะท้อนจาก ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หนึ่งในผู้บริหารด้านการศึกษาที่เกาะติดการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยและในภูมิภาคอาเซียนมาโดยตลอด ได้เชื่อมโยงไปถึงในหลายมิติ ทั้งในระดับตัวบุคคล และเชิงระบบโครงสร้าง
 พร้อม ๆ กับโยนคำถามอีกหลายประเด็นถึงหลายส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนการศึกษาของไทย และสร้างเด็กไทยให้แข่งขันได้ในศตวรรษที่ 21
 "จะแข่งขันได้หรือไม่ได้ ขึ้นอยู่ที่ขีดความสามารถในการแข่งขันเป็นหลัก ขีดความสามารถสูง ย่อมได้เปรียบ แต่หากขีดความสามารถต่ำแล้วละก็เสียเปรียบแน่นอน และการเพิ่มขีดความสามารถตรงนี้ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องการศึกษา เพราะการศึกษาเป็นกลไกในการขับเคลื่อนประเทศ แต่การที่ประเทศจะขับเคลื่อนไปได้ ต้องย้อนกลับไปที่คำว่า คุณภาพ ด้วย"
 เกาหลีใต้ ประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการจูงใจ ชักชวน และเชิญชวนให้  "คนเก่ง" เดินเข้าสู่ระบบการศึกษา และยึดอาชีพเป็น "ครู"  เมื่อได้ "คนเก่ง" มาสอนถ่ายทอดความรู้ "ลูกศิษย์" ก็มีความรู้ตามไปด้วย ซึ่งเทียบกับประเทศไทยแล้วกลับตรงกันข้าม
 เพราะ "ครู" จะเป็นตัวเลือกลำดับท้ายๆ ของเด็กไทยที่ต้องการจะเรียนและประกอบอาชีพ ซึ่งก็เป็นหนึ่งในปัญหา "คุณภาพ" ในระบบการศึกษาของประเทศไทย
 "ไทย กำลังเผชิญกับอุปสรรคครั้งใหม่เกี่ยวกับคุณภาพของผู้สอน
ที่ผ่านมาพบปัญหาในทุกระดับและจนถึงวันนี้ก็ยังแก้ปัญหาตรงจุดนี้ไม่ได้"
 นอกจาก "คุณภาพ" ของครูผู้สอนแล้ว หลักสูตร และระบบการเรียนการสอนก็เป็นอีกปัจจัยเชื่อมโยงที่ส่งผลต่อ "คุณภาพ" การศึกษา และ"คุณภาพ" เด็กไทยในศตวรรษที่ 21 ด้วย โดย  ศ.ดร.สมบัติ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของหลักสูตรที่ต้องทันสมัย สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อาทิ นอกจากจะเข้มข้นในเนื้อหาวิชาการแล้วยังต้องเสริมสร้างทักษะที่พร้อมสำหรับการนำไปประกอบอาชีพได้ในอนาคต อย่างเช่นทักษะด้านช่าง หรือ ภาษี เป็นต้น
 ถัดมาเป็นเรื่องของคุณภาพผู้เรียน โครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษา และการจัดระบบการศึกษาให้ตอบโจทย์ในเรื่องของ "คุณภาพ"
 ในวันที่เสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกำลังจะเริ่มต้น เด็กไทย ตัวผู้สอน และระบบการศึกษาของไทย พร้อมแค่ไหนกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น  ศ.ดร.สมบัติ แนะให้เตรียมตัวปรับโครงสร้างทางการศึกษา โดยเฉพาะการปรับเวลาเรียนให้ตรงกับอีกหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน การวางระบบการโอนหน่วยกิตระหว่างสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ  รวมถึงการเร่งการสร้างระบบประกันคุณภาพทางการศึกษา การส่งเสริมการใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการสื่อสาร การแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรม รวมถึงแลกเปลี่ยนนักวิชาการ นักศึกษา และนักวิจัย
 นอกจากการสร้าง "คุณภาพ" ให้เกิดขึ้นทั้งตัวผู้สอน และระบบการศึกษาแล้ว  "ผู้เรียน" เองก็ต้องเรียนรู้ที่จะเตรียมตัวและปรับตัวเพื่อให้แข่งขันได้ในศตวรรษที่ 21
 การเติมความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ ศ.ดร.สมบัติ  ไม่ใช่เพียงการใช้เป็น แต่ต้องเป็นการใช้งานที่อย่างมีประสิทธิภาพด้วย รวมทั้งทักษะในการสืบค้นหาข้อมูลได้ด้วยตัวเองทั้งข้อมูลในแนวลึกและแนวกว้าง
 โดยทักษะของการค้นคว้านี้ยังต้องเป็นการค้นคว้าวิจัยเพื่อค้นพบสิ่งใหม่ที่สร้างสรรค์ รวมถึงเปิดรับต่อโลกาภิวัฒน์ที่เกิดขึ้นทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
 ความสามารถทางด้านภาษาที่มากกว่า 2 ภาษาขึ้นไปกำลังเป็นทักษะที่ภาคธุรกิจในอนาคตมองหาและต้องการเป็นผู้ร่วมงาน การมีความเข้าใจและความรู้ในวัฒนธรรมที่หลากหลาย และปรับตัวเองให้อยู่ได้ภายในสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงนั้น นอกจากนี้เด็กรุ่นใหม่ยังต้องรับรู้ถึงบทบาทและภาระที่เพิ่มขึ้นของตัวเองท่ามกลางสังคมที่กำลังเคลื่อนตัวสู่สังคมผู้สูงอายุ
 ภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง ยังมีอีกมุมมองจากผู้บริหารการศึกษา มร.เดวิด เกรฟส์ CEO, Hospitality, Architect, Art & Design, Laureate International Universities ที่เห็นว่า "สถาบันการศึกษาต้องไม่ทำตัวแยกออกจากอุตสาหกรรม หากแต่ยังต้องทำการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อที่สถาบันการศึกษาจะได้รับรู้ความรู้ที่สอนอยู่นั้นใช้ได้จริงหรือไม่ในภาคธุรกิจ"
 แล้วเด็กไทย จะสู้ได้แค่ไหน และจะทำอย่างไรเพื่อให้อยู่ได้อย่างมีความสุขในศตวรรษที่ 21
 การตระหนักรู้ การปรับตัว และทำความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการรับมือเพื่อก้าวสู่การแข่งขันแบบไร้ขีด
 ความท้าทายที่สำคัญกว่าอยู่ที่  "คุณภาพ" การศึกษา โจทย์ใหญ่ที่ต้องรอคำตอบ!!

จาก http://www.bangkokbiznews.com/

Comments are closed.