การนำหลักธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาปรับใช้กับการบริหารองค์กร

หลักพุทธธรรม หลักธรรมคำสั่งสอน ตามหลักพระพุทธศาสนานั้นเป็นสิ่งที่ทันสมัย เป็นวิทยาศาสตร์ และสามารถนำมาปรับใช้ได้กับการดำรงชีวิต และการทำงานในปัจจุบัน สัปดาห์นี้ดิฉันนำเรื่องของภาวะผู้นำ ที่ท่านอาจจะสงสัยว่า หลักธรรมคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น จะเกี่ยวข้องอย่างไรกับผู้นำ ดิฉันขอนำเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ "ภาวะผู้นำ ความสำคัญต่อการพัฒนาคน พัฒนาประเทศ" โดยพระธรรมปิฎก มานำเสนอค่ะ เผื่อท่านผู้อ่านที่สนใจจะได้ไปศึกษาต่อได้ และแทนที่เราจะต้องไปเรียนรู้เรื่องของภาวะผู้นำจากตำราตะวันตก เราจะได้หันกลับมาศึกษาจากหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ากันมากขึ้น มาเล่าให้ฟังค่ะ
หลักผู้นำจากพระพุทธศาสนาประการแรก คือ บทบาทของผู้นำกับการสื่อสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ว่าจะจากปัญหาทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ ทำให้ผู้นำขององค์กรต่างๆ ต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารทั้งภายในและภายนอกองค์กร โดยภายใต้หลักกัลยาณมิตรธรรมหรือธรรมของกัลยาณมิตร 7 ประการนั้นมีอยู่ข้อหนึ่ง คือ วัตตา หรือเป็นผู้รักจักพูด โดยการที่จะเป็นนักพูดที่ดีนั้นต้องพูดให้ผู้อื่นสามารถเข้าใจได้ พูดให้ผู้อื่นได้ประโยชน์ หรือพูดให้ผู้อื่นช่วยกันสร้างสรรค์ประโยชน์ ไม่ใช่การพูดเพื่อหาประโยชน์ให้แก่ตนเอง โดยพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดง ลักษณะของนักสื่อสาร หรือนักพูดที่ดีไว้ 4 ประการด้วยกัน ได้แก่
พูดแจ่มแจ้ง (อธิบายให้เข้าใจ ได้ชัดเจน)
พูดจูงใจ (พูดจนคนยอมรับและอยากจะลงมือทำ)
พูดเร้าใจ (พูดให้เกิดความคึกคัก กระตือรือร้น)
และพูดให้ร่าเริง (พูดให้เกิดความร่าเริง มีความหวัง ในผลดีและทางที่จะสำเร็จ)
การเป็นผู้ รู้จักพูดตามหลักการข้างต้นนั้น เรามองว่าสามารถนำมาปรับใช้กับการพูดเนื่องในโอกาสต่างๆ ไม่จำเป็นแต่ต้องเป็นการพูดของผู้นำเท่านั้น แม้กระทั่งครูบาอาจารย์ที่สอนหนังสือเอง ก็ต้องรู้จักพูดให้แจ่มแจ้ง จูงใจ เร้าใจ และร่าเริง เพื่อให้ผู้เรียนได้มีความเข้าใจ กระตือรือร้น และสนใจที่จะเรียนหนังสือ สำหรับตัวผู้นำนั้น นอกเหนือจากการรู้จักที่จะพูดแล้วยังต้องรู้จักที่จะฟังด้วย โดยใช้คำว่า วจนักขโม แปลว่าควรทนหรือฟังต่อถ้อยคำของคนอื่นด้วย ไม่ใช่ว่าเอาแต่พูดแก่เขาอย่างเดียวโดยไม่ยอมรับฟังใคร ซึ่งการเป็นผู้ฟังที่ดีนั้น ถือเป็นสิ่งที่ยากและท้าทายสำหรับผู้นำหลายๆ ท่าน เนื่องจากผู้นำจำนวนมากมักจะชอบพูดมากกว่าฟัง โดยเฉพาะการรับฟังจากผู้ที่ต่ำกว่าหรือเป็นลูกน้อง นอกจากนี้ ยังมีหลักธรรมว่าไว้ว่า คัมภีรัญจะ กะถัง กัตตา แปลว่ารู้จักแถลงเรื่องราวต่างๆ ที่ลึกซึ้ง โดยประเด็นหรือเรื่องราวต่างๆ ที่สำคัญ ก็ต้องสามารถอธิบาย ทำให้ผู้ที่ร่วมงานมีความเข้าใจ
หลักธรรมที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ที่มักจะถูกนำมาโยงกับเรื่องของการทำงานร่วมกับผู้อื่น หรือภาวะผู้นำ นั้นคือหลักพรหมวิหาร 4 ประการ ซึ่งถือเป็นคุณธรรมพื้นฐานที่จะต้องมีอยู่ประจำในจิตใจ เพื่อนำไปสู่การแสดงออกที่ดีและเหมาะสม และสำหรับตัวผู้นำแล้ว ถ้าสามารถแสดงออกได้อย่างดีและเหมาะสมแล้ว ก็จะนำไปสู่ศรัทธาจากบุคคลต่างๆ ในองค์กร และทำให้สามารถนำพาทุกคนไปในทิศทางเดียวกันได้
พรหมวิหาร 4 นั้นประกอบด้วย เมตตา โดยมีความเป็นมิตรไมตรีต่อผู้อื่น มีน้ำใจ ปรารถนาดีต่อผู้อื่น กรุณา คือ ความต้องการช่วยเหลือให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์ ความเดือดร้อน โดยเมื่อผู้อื่นมีทุกข์นั้นผู้นำจะต้องมีกรุณา ช่วยบำบัดทุกข์ให้ มุทิตา ก็คือ เมื่อพนักงาน เพื่อนร่วมงานมีความสุข ความสำเร็จมากขึ้น ผู้นำก็จะต้องพลอยยินดี ช่วยส่งเสริมสนับสนุน และสุดท้าย คือ อุเบกขา ก็คือ การรักษาความเป็นกลาง ไม่ลำเอียง ไม่เข้าข้างใดข้างหนึ่ง
หลักพรหมวิหารสี่ นั้นเป็นสิ่งที่ผู้นำควรจะยึดเป็นหลักธรรมในการบริหารงานเป็นประจำวันทั่วไปเลย โดยเฉพาะกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ กับองค์กร โดยเมื่อบุคคลอื่นมีปัญหา มีทุกข์ เดือดร้อน ผู้นำก็ต้องมีความกรุณาที่จะแก้ไขปัญหา ในขณะเดียวกัน เมื่อบุคคลอื่นประสบความสำเร็จ มีความสุข ก็ต้องมีมุทิตา ที่จะช่วยส่งเสริมสนับสนุน และยินดีในความสำเร็จของผู้อื่น ในช่วงสถานการณ์ปกตินั้นก็ต้องคอยดูแล เอาใจใส่ให้บุคคลต่างๆ ในองค์กรมีความสุขในการทำงาน และสุดท้าย ในการบริหารงานทุกอย่าง ผู้นำจะต้องมีและสามารถรักษาความเป็นกลาง ไม่ลำเอียง เข้าข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งหลักของอุเบกขานั้นจะคุมเมตตา กรุณา มุทิตา ไว้อีกด้วย โดยการปฏิบัติหรือช่วยเหลือผู้อื่นนั้น ก็จะต้องมีความเป็นกลาง ไม่ลำเอียง
ปัจจุบันเรารับอิทธิพลในแนวคิดทางด้านการบริหารจากโลกตะวันตกมามากขึ้น ทำให้เรามักจะละเลยการนำหลักธรรมตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาปรับใช้กับการนำองค์กรของเรา แต่จริงๆ แล้ว ดิฉัน เชื่อว่าการนำหลักธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาปรับใช้กับการบริหารองค์กรนั้น น่าจะเหมาะกับบริบทของคนไทยมากกว่า การนำหลักของตะวันตกมาใช้แต่เพียงอย่างเดียวนะค่ะ

Comments are closed.