มหาวิทยาลัย กับ การประกันคุณภาพ

      “การศึกษา”  หมายถึง  กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคม  โดยการถ่ายทอดความรู้  การฝึก  การอบรม  การสืบสานทางวัฒนธรรม  การสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ  การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคม  การเรียนรู้และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต  “สถานศึกษา”  หมายถึง  สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย  โรงเรียน  ศูนย์การเรียน  วิทยาลัย  สถาบัน   มหาวิทยาลัย  หน่วยงานการศึกษาหรือหน่วยงานอื่นของรัฐหรือของเอกชนที่มีอำนาจหน้าที่หรือมีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษา (พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ. ๒๕๔๒ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๔)

               ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญยิ่ง  ในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศให้เป็นคนเก่ง  ดี  มีคุณค่า  ที่พร้อมทั้งด้านสติปัญญา  ความรู้ความสามารถ  เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์  รู้จักรับผิดชอบต่อสังคม  อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนา  สร้างการเปลี่ยนแปลงหรือเป็นที่พึ่งของสังคมในการป้องกัน  ชี้แนะและแก้ปัญหา  ทั้งในด้านเศรษฐกิจ  สังคม  การเมืองและความมั่นคงของประเทศ

ในการบริหารมหาวิทยาลัยนั้น  กฎหมายได้กำหนดได้มีสภาสถานศึกษาหรือที่เรียกขานกันว่า  “สภามหาวิทยาลัย”  ทำหน้าที่กำกับ  ดูแลกิจการของสถานศึกษา  (พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๓๖) รวมถึงการที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้กระจายอำนาจการกำกับดูแลโดยเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยมีอิสระ  คล่องตัวในการบริหารจัดการ  ดังนั้น สภามหาวิทยาลัยในฐานะองค์กรบริหารสูงสุดของสถาบันจึงมีบทบาทสำคัญ  ทำหน้าที่สรรหา  แต่งตั้งอธิการบดี  กำหนดนโยบาย  งบประมาณ  จัดหาและบริหารทรัพยากร  ติดตามประเมินผลการดำเนินการ  และตรวจสอบการบริหารงานของอธิการบดี  ทั้งนี้ ถึงแม้กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการประกันคุณภาพโดยต้องมีการประกันคุณภาพภายใน (Internal  Quality  Assurance : IQA) เป็นประจำทุกปีและต้องได้รับการประเมินภายนอก  (External  Quality  Assessment : EQA) จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน)  อย่างน้อยหนึ่งครั้งในทุกห้าปีก็ตาม  แต่ที่ผ่านมาคงปฏิเสธไม่ได้ที่ถูกสังคมตั้งคำถามว่า  “ทำไมการศึกษาไทยจึงด้อยคุณภาพ?”  หรือแม้กระทั่งปัญหาบางสถาบันมีบัณฑิตสำเร็จการศึกษา  ทั้งที่หลักสูตรยังไม่ผ่านการรับรองจากต้นสังกัด  เป็นต้น

ปรากฏการณ์เหล่านี้ย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่า  สภามหาวิทยาลัยในฐานะที่เป็นองค์กรบริหารสูงสุดของสถาบัน  มีผลการดำเนินงานแตกต่างกัน  แม้จะอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกันก็ตาม  ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับคุณภาพของคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยนั่นเอง  ดังนั้นการกำกับดูแลกิจการมหาวิทยาลัยด้วยความทุ่มเท  ร่วมรับผิดชอบสังคม  โดยการจัดการศึกษาต้องประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ ดังนี้

๑)      ความเชี่ยวชาญ  สภามหาวิทยาลัยจะต้องกำกับ  ดูแลการจัดการศึกษาทั้งในระดับ

ปริญญาตรีและบัญฑิตศึกษาตามความเชี่ยวชาญเฉพาะของมหาวิทยาลัย  โดยหลักสูตรที่เปิดจะต้องเป็น    ความต้องการของสังคมและชุมชน  ที่สำคัญหลักสูตรต้องผ่านการรับรองจากต้นสังกัดและมีมาตรฐาน    คุณภาพ  ซึ่งความเชี่ยวชาญจะแสดงให้เห็นความเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของสถาบันต่อไป

๒)  ความพร้อม  ซึ่งประกอบด้วยความพร้อมด้านคณาจารย์  บุคลากรและสิ่งสนับสนุน

มหาวิทยาลัยใดจะเปิดการเรียนการสอน  เปิดหลักสูตรนอกที่ตั้ง  หลักสูตรภาคพิเศษ  จะต้องได้รับการอนุญาตอย่างถูกต้องเพื่อเป็นการแสดงถึงความพร้อมของบุคลากรและสิ่งสนับสนุนของหลักสูตรนั้นๆ

๓)  ความต้องการหรือความจำเป็นของสังคมถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญ  เนื่องจากพบว่า  หลักสูตรที่เปิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นการเปิดเพื่อสนองความต้องการของผู้เรียน (Supply  Side) ซึ่งในสภาพจริงแล้วควรตระหนักถึงความต้องการหรือความจำเป็นของสังคม (Demand  Side) เป็นสำคัญ

๔)  ความรับผิดชอบในผลผลิตของมหาวิทยาลัย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณภาพบัณฑิตที่จะรับใช้สังคมต่อไป  บัณฑิตที่ดีนอกจากจะต้องเป็นคนที่มีความรู้  มีทักษะและต้องมีคุณธรรมจริยธรรม  ตลอดจนจรรยาบรรณในวิชาชีพ  มีจิตสำนึกที่ดี  มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ที่แสดงถึงอัตลักษณ์เฉพาะของสถาบัน

ในส่วนของการขยายโอกาสทางการศึกษาเพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสได้รับการศึกษามากขึ้นนั้น  นับเป็นสิ่งที่ดีและจำเป็นที่ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมจัดให้มีขึ้น  แต่ทั้งนี้โอกาสทางการศึกษาที่หยิบยื่นให้นั้น  ต้องประกอบด้วย ๓ ค คือ (๑) คุณธรรม  คือ  ผู้บริหารสถาบันจะต้องมีคุณธรรม  ซื่อสัตย์ต่อผู้เรียน  โดยจัดบริหารเฉพาะหลักสูตรที่ผ่านการรับรองอย่างถูกต้อง  (๒) คุณภาพ  สถานศึกษาจะต้องจัดการศึกษาที่มีคุณภาพเพื่อผลิตบัณฑิตได้มาตรฐาน  เพราะหากมหาวิทยาลัยยิ่งผลิตบัณฑิตที่ด้อยคุณภาพออกสู่สังคมมากเท่าใดก็จะส่งผลกระทบในด้านลบต่อตัวสถาบันเองในอนาคตเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ  (๓) คุณค่า  กล่าวคือ  มหาวิทยาลัยต้องตระหนักถึงความจำเป็นหรือความต้องการของสังคม  โดยการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน

ดังนั้นในฐานะสภามหาวิทยาลัยซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินของมหาวิทยาลัย  จะต้องส่งเสริม  สนับสนุน  ให้เกิดคุณภาพอย่างแท้จริง  โดยจะต้องเริ่มตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคล  มหาวิทยาลัยจะต้องกำกับ  ดูแล  ควบคุมให้มีคุณภาพ  ต้องมีการประกันคุณภาพภายในอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องจนเป็นวิถีชีวิตคุณภาพ  โดยการนำผลประเมินคุณภาพภายนอกไปใช้ในการขับเคลื่อนและพัฒนาสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่ดีสู่การเป็นองค์กรคุณภาพต่อไป

อ้างอิง : สยามรัฐ  ปีที่ : ๖๓  ฉบับที่ : ๒๑๖๙๗  วันที่ : ศุกร์ ๒๑ กันยายน  ๒๕๕๕

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *