ASEAN Quality Assurance Network ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การศึกษาล่าสุดเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๔ ของ SEAMEO-RIHED ซึ่งเป็นศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยการอุดมศึกษาและการพัฒนาภายใต้องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) ดำเนินการสำรวจหน่วยงานประกันคุณภาพการศึกษาของประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยกระตุ้นให้ประเทศสมาชิกร่วมมือกันในการพัฒนากรอบการประกันคุณภาพการศึกษาของอาเชียน (ASEAN Quality Assurance Framework) ก่อนหน้านี้ ใน พ.ศ. ๒๕๕๑ SEAMEO-RIHED ร่วมกับ Malaysian Qualifications Agency เชิญทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าร่วมการประชุมว่าด้วยการประกันคุณภาพการศึกษา  โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก SEAMEO ทั้ง ๑๐ ประเทศ  ในการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้เรื่องการประกันคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา  การประชุมดังกล่าวส่งผลให้เกิดการก่อตั้งเครือข่ายการประกันคุณภาพการศึกษาของอาเชียน (ASEAN Quality Assurance Network หรือ AQAN)

การก่อตั้ง AQAN มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมความร่วมมือและแลกเปลี่ยแนวปฏิบัติที่ดีของการประกันคุณภาพการอุดมศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ร่วมมือในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการประกันคุณภาพการอุดมศึกษา  แลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลด้านการอุดมศึกษาและการยอมรับคุณวุฒิการศึกษาร่วมกัน  และพัฒนากรอบการประกันคุณภาพการศึกษาของอาเชียน  ทั้งนี้ AQAN ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะส่งเสริมการสร้างความกลมกลืน (harmonisation) และการยอมรับคุณวุฒิ (mutual recognition of qualifications) ในระดับอุดมศึกษาภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เพื่อพร้อมรับการเคลื่อนย้ายกำลังคนของประชาคมอาเซียนใน พ.ศ. ๒๕๕๘

ความท้าทายของการประกันคุณภาพการศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ  ความร่วมมือในการประกันคุณภาพการศึกษาที่สามารถส่งผลให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคยอมรับหน่วยกิต  และคุณวุฒิการศึกษาระหว่างกันและกัน

และการส่งเสริมให้ประเทศต่างๆ  พัฒนากระบวนการประกันคุณภาพที่อยู่ในระนาบเดียวกันหรืออย่างน้อยสามารถที่จะเทียบเคียงกันได้  เพื่อความสะดวกในการถ่ายโอนหน่วยกิตและการยอมรับคุณวุฒิการศึกษาระหว่างประเทศต่างๆ อย่างไรก็ตาม  ประเทศในภูมิภาคนี้ยังมีปัญหาร่วมกันคือ  ระดับคุณภาพการศึกษาที่ยังมีช่องว่างอยู่มาก  ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมหาวิทยาลัยในระดับโลก  (World Class)  เช่น  ในสิงคโปร์  และมหาวิทยาลัยที่ยังไม่เป็นที่รู้จักของวงการวิชาการระหว่างประเทศ  เช่น  ในสหภาพพม่า  ประกอบกับหลายประเทศยังไม่มีทรัพยากรที่เพียงพอสำหรับการประกันคุณภาพ  รวมทั้งการขาดผู้เชี่ยวชาญ  ในหลายประเทศพบข้อจำกัดในระดับนโยบาย  เพราะนโยบายการพัฒนาระบบประกันคุณภาพในบางประเทศไม่เป็นรูปธรรม  ประกอบกับมีหลายหน่วยงานในระบบราชการรับผิดชอบในการผลักดันการประกันคุณภาพ  ซึ่งบางครั้งล้มเหลวมากกว่าประสบความสำเร็จ  ดังนั้น ความร่วมมือในการพัฒนากรอบการประกันคุณภาพการศึกษาของอาเซียนจึงจะสามารถช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ดีขึ้นไม่มากก็น้อย

 

Ref.  จุลสาร สมศ. หน้า 5  กันยายน  2555

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *