“วัฒนธรรมองค์กร” (Organization Culture)

ดิฉันเชื่อว่า ณ เวลานี้ทุกท่าน คงคุ้นเคยกันดีกับคำว่า “วัฒนธรรมองค์กร” (Organization Culture) และ “วัฒนธรรมที่เน้นผลงานสูง” (High – Performance Culture) ซึ่งเป็นคำศัพท์ท็อปฮิต ติดปากผู้บริหารทุกระดับ ตั้งแต่ผู้บริหารประเทศจนถึงผู้บริหารองค์กร ต่างๆ แม้กระทั่งในวงการศึกษาที่ดิฉันสังกัดอยู่ เรื่องของการสร้างความสามารถในการแข่งขันก็เป็นหนึ่งในนโยบายด้านการศึกษาเช่นกัน เพราะเมื่อสังคมธุรกิจต้องเร่งสร้างความพร้อมในการแข่งขัน นั่นย่อมหมายถึงการสร้างความพร้อมของพนักงานทุกระดับให้สามารถแข่งขัน แล้วพนักงานเหล่านั้นก็คือ อดีตนักเรียน นิสิต นักศึกษา ของสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่สถาบันต้องรับผิดชอบในการปลุกปั้นบ่มเพาะ อบรมผู้เข้ารับการศึกษาให้มีความรู้ ความสามารถ ตรงตามความต้องการของนายจ้าง

แม้กระทั่งตัวอาจารย์ผู้สอนเอง ในปัจจุบันสถาบันการศึกษาก็มีความเข้มงวดในการควบคุมคุณภาพของผู้สอนมากขึ้น มีการตั้งระบบประเมินผลงานอย่างละเอียดถี่ถ้วน และประเมินคุณภาพอาจารย์บ่อยขึ้น กล่าวได้ว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่อาจารย์เหล่านั้นจะทำตัวสบายๆ ถือว่าจบการศึกษาปริญญาเอกหรือปริญญาโทแล้วก็สอนแบบเดิมๆ ไป ถ้าเรามองสภาพความเป็นไปของสังคมปัจจุบัน จะเห็นว่าเรื่องของการแข่งขันนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปเสียแล้ว อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เด็กเล็กๆ อายุเพียง 2–3 ขวบ ก็ต้องแข่งกันเข้าโรงเรียนอนุบาลดังๆ ดูแล้วชีวิตของคนไทยเรานี้เคร่งเครียดจริงๆ เต็มไปด้วยการแข่งขันทั้งที่จำเป็นและที่ไม่จำเป็น ท่านลองสังเกตจากข่าวสารข้อมูลของเด็กๆ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ หรือประเทศอื่นๆ ทางตะวันตก ที่เรายกย่องว่ามีความเจริญทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ดูระบบการศึกษาของเขานั้นไม่กดดันบีบสมองเด็กเท่าของไทยเรา ดิฉันเคยเดินทางไปท่องเที่ยวและดูงานด้านการศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น นั้นก็เคร่งเครียดเหมือนกัน แบบที่ว่า ถ้าสอบเข้ามหาวิทยาลัยดังๆ เช่น มหาวิทยาลัยโตเกียวไม่ได้ เด็กถึงกับฆ่าตัวตายหรือถึงกับสิ้นหวังในชีวิตเลยทีเดียว เพราะพวกเค้า เชื่อว่าถ้าเข้ามหาวิทยาลัยดังๆ ไม่ได้ แปลว่าหมดสิทธิในการได้งานดีๆ ท่านผู้ฟังลองคิดดูสิคะ ว่าค่านิยมการแข่งขันนั้นทำคนถึงตายเชียวหรือ
แม้ว่า เรื่องของการแข่งขันนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งมีชีวิต ตามหลักของ Charles Darwin ที่ว่า ผู้ที่แข็งแรงที่สุด หรือเชื้อพันธุ์ที่แข็งแรงที่สุดเท่านั้นจึงจะดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้ แต่ดิฉัน คิดว่าเราควรหาสมดุลที่เหมาะสมในการดำเนินชีวิตของเราให้ได้ ทั้งในที่ทำงานและในชีวิตส่วนตัว ในที่ทำงานนั้นอยากให้ผู้บริหารร่วมคิดกัน กับฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์ ในการสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่ปลูกฝังให้บุคลากร มีค่านิยม และทัศนคติที่มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพในการทำงาน และสร้างสมดุลระหว่างชีวิตทำงานและชีวิตส่วนตัวได้ด้วย เพราะ โดยมากผู้บริหารจะเน้นเรื่องผลงานเป็นหลัก ส่วนบุคลากร จะมีคุณภาพชีวิตส่วนตัวอย่างไรนั้นไม่สนใจ ชีวิตพนักงานที่เป็น High – Performers หรือ Top Talent นั้นมักมีรูปแบบคล้ายๆ กันคือ เรียนเก่งในมหาวิทยาลัย จบแล้ว เข้าทำงานในบริษัทดังๆ ได้รับการเลื่อนขั้นอย่างรวดเร็ว ทำงานหนัก..หนักมาก... และหนักที่สุด จนขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดเมื่ออายุประมาณ 40 ปลายๆ หรือ 50 ต้นๆ ซึ่งในเวลานั้นมักมีโรคประจำตัวรุมเร้า เช่นโรคหัวใจ ความดัน และ มะเร็ง เป็นต้น เพราะเขาเหล่านั้นมักไม่ค่อยมีเวลาในการดูแลตนเอง เงินทองที่หามาได้จึงต้องนำมาใช้รักษาสุขภาพตนเอง ถึงเวลาหรือยังที่เราจะต้องปรับเปลี่ยนค่านิยม และวัฒนธรรมในการทำงานของเราเสียใหม่

Comments are closed.