คุณภาพการจัดการศึกษา

คุณภาพการจัดการศึกษา

               พ่อแม่สร้างชีวิต  สถาปนิกสร้างบ้าน  ครูอาจารย์สร้างอนาคต  การศึกษาที่แท้ต้องมุ่งสร้างคนให้มีคุณค่า  มิใช่เพียงเพื่อตนเอง  แต่ต้องเพื่อสังคม  ชุมชน  และแผ่ขยายไปสู่มวลมนุษยชาติ  การจัดการศึกษาเพื่อคุณภาพของศิษย์จึงเป็นการศึกษาเพื่อให้ศิษย์รู้จักกระบวนการเรียนรู้  ที่มิใช่เพียงอยู่ในห้องเรียน  แต่ต้องสอนให้ศิษย์ได้รู้จักแสวงหาความรู้จากโลกกว้าง  มิใช่มุ่งเพียงให้ศิษย์เป็นคนดี เป็นคนเก่ง  แต่ต้องให้เขารู้จักใช้ความดี  ความเก่งเพื่อประโยชน์ต่อมนุษย์ทั้งมวล

ในขณะที่ยูเนสโกได้กำหนดภาระด้านการศึกษาในทศวรรษที่ ๒๑  ว่าจะต้องประกอบด้วย

“สี่เสาหลัก” ที่เป็นรากฐาน  ได้แก่

การเรียนเพื่อรู้ (Learning to know)

เน้นการรวมความรู้ที่สำคัญเข้าด้วยกัน  มีการศึกษาลงลึกในบางวิชา  ซี่งจะเป็นพื้นฐานที่นำไปสู่การศึกษาตลอดชีวิต  เป็นการวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับให้คนที่ชอบแสวงหาความรู้อยู่ตลอดเวลา

การเรียนรู้เพื่อปฏิบัติ (Learning to do)

เน้นการพัฒนาทักษะและศักยภาพของผู้เรียน  ช่วยสร้างความสามารถในการดำรงชีพอยู่ในสถานการณ์ต่าง ๆ ให้ผู้เรียนมีโอกาสได้ทดลองและพัฒนาความสามารถของตน  โดยมีส่วนร่วมในโครงการประสบการณ์ในงานอาชีพหรืองานทางสังคม

“ยูเนสโกได้กำหนดภาระด้านการศึกษาในทศวรรษที่ ๒๑ ว่าจะต้องประกอบด้วย

“สี่เสาหลัก” ที่เป็นรากฐาน”

               การเรียนรู้เพื่อชีวิต (Learning to be)

               เน้นให้มนุษย์สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกด้านและสามารถปรับตัวให้อยู่ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  โดยมีส่วนในการจรรโลงสิ่งดี ๆ และระงับยับยั้งสิ่งไม่ดีไม่เหมาะสมได้อย่างมีความสุข

การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน (Learning to live together)

เน้นให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ  มีความรักและเคารพซึ่งกันและกัน  สร้างความรู้ความเข้าใจในผู้อื่นทั้งแง่ประวัติศาสตร์  ธรรมเนียมประเพณี  ค่านิยมทางจิตใจที่เหมาะที่ควรต่อมวลมนุษย์  อย่างไรก็ตามเราจะพบว่ามีปัจจัยหลายประการที่ส่งผลต่อคุณภาพการจัดการศึกษา คือ

 

ด้านนโยบาย

๑)      การกำหนดนโยบายควรสอดคล้องกับบริบทของสังคม  มีความต่อเนื่อง  ชัดเจน

สามารถชี้นำสังคม  เป็นที่ยอมรับและไม่มุ่งประโยชน์ทางการเมือง

๒)      มีการทบทวน  ตรวจสอบและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง  สม่ำเสมอ

ด้านการเรียนการสอน

๑)      มีการ “ปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน” โดยเน้นให้ผู้เรียนเรียนผ่านการปฏิบัติหรือ

ประสบการณ์ตรง

๒)      เป็นหลักสูตรที่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้อง  และผู้เรียนสามารถนำไปประกอบวิชาชีพ

ได้จริง

๓)      มีคณาจารย์ประจำหลักสูตรที่มีคุณวุฒิ  ความรู้ความสามารถและเพียงพอต่อการจัด

การเรียนการสอน  รวมถึงสามารถกำกับดูแลให้เป็นไปตามข้อกำหนด

๔)      ห้องเรียนต้องเป็นห้องเรียนที่มีชีวิต  มีการจัดกิจกรรมที่น่าสนใจกระตุ้นความคิด

สร้างสรรค์

๕)      ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรม  ขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิต  ประวัติศาสตร์

ภูมิศาสตร์  รวมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเอง

ด้านการบริหารจัดการ

๑)      ผู้บริหารมีวิสัยทัศน์  มีคุณธรรมยึดมั่นและบริหารภายใต้หลักธรรมาภิบาล

๒)      มีระบบการคัดกรองและการประเมินผลที่มีคุณภาพและเหมาะสม

๓)      สถานศึกษาต้องมีเสรีภาพทางวิชาการและในการจัดการศึกษา  มีอิสรภาพในการบริหาร

จัดการ  ให้คำชี้แนะและเป็นที่พึ่งของสังคมได้

“การจัดการศึกษาเพื่อคุณภาพของศิษย์จึงเป็นการศึกษาเพื่อให้ศิษย์รู้จักกระบวนการเรียนรู้  ที่มิใช่เพียงอยู่ในห้องเรียน  แต่ต้องสอนให้ศิษย์ได้รู้จักแสวงหาความรู้จากโลกกว้าง”

      ด้านสถานที่และงบประมาณ

๑)      มีอาคารสถานที่และบริเวณที่สะอาด  ถูกสุขอนามัย  สวยงาม  กระตุ้นจูงใจให้อยาก

มาเรียน  และเพียงพอต่อความต้องการ

๒)      สื่อ อุปกรณ์  เช่น  ห้องสมุดที่ทันสมัย  หนังสือจำนวนมากให้ค้นคว้าในสิ่งที่อยากรู้

อยากเห็น  อยากทำความเข้าใจ  มีระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมโยงห้องเรียนกับโลกกว้างได้

ที่มา : คุณภาพศิษย์ เป้าหมายการประเมิน. สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา.  ๒๕๕๕

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *