แจ๊ค หม่ากับการจัดการศึกษา

แจ็ค หม่า(Jack ma) ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารของกลุ่มอาลีบาบาซึ่งประสบความสำเร็จในธุรกิจอินเทอร์เน็ต อีคอมเมิร์ซอันดับ1 ของจีน เขาเคยเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษและการค้าระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยหางโจวเตี้ยนจื่อ ในการเป็นอาจารย์นั้น หม่าได้ชื่อว่าเป็นอาจารย์ที่ไม่สอนตามตำราหรือระเบียบวิธีการสอนทั่วไป ไม่เคยแม้แต่จะเตรียมตัวการสอนด้วยซ้ำ เขามักใช้วิธีดั้นสด แต่นั่นก็ทำให้เขากลายเป็นขวัญใจของเหล่านักศึกษาอย่างยิ่ง หม่าเป็นอาจารย์อยู่ 5 ปี จึงลาออก เนื่องจากเขาเห็นว่าสมควรได้เวลาที่ตนเองจะทำธุรกิจ นอกจากนั้น แจ็ค หม่ายังเคยบอกว่า เลิกจากการทำธุรกิจเมื่อไร ก็อยากกลับไปสอนหนังสือ สิ่งที่เขาสนใจนอกจากธุรกิจแล้วเขามุ่งพัฒนาการศึกษาของจีนเป็นหลัก เขาได้ริเริ่มโครงการพัฒนาอาจารย์ในชนบทของจีน พร้อมประกาศว่า ในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ นอกจากเขาจะเป็นตัวแทนอาลีบาบาแล้ว ขอเป็นตัวแทนครูชนบทของจีนด้วย เมื่อเดือนก.ค. ปี2560 ที่ผ่านมา แจ็ค หม่าได้กล่าวสุนทรพจน์ในเวทีประชุมครูใหญ่ยุคใหม่ของจีน ในโครงการพัฒนาอาจารย์ในชนบทของเขา เนื้อหาของสุนทรพจน์แบ่งออกเป็น 4 ส่วน สรุปได้ดังนี้

1. ครูใหญ่ที่ดีควรเป็นอย่างไร?

จากสถิติของรัฐบาลจีน เมื่อไม่กี่ปีก่อน มีจำนวนครูในชนบทราว 4.1 ล้านคน แต่ผ่านไปไม่กี่ปี จำนวนครูลดลงราว 400,000 คน จากการวิจัยพบว่า เหตุผลหลักที่คนหนุ่มสาวเลิกเป็นครูชนบท เพราะมีแนวคิดขัดแย้งกับครูใหญ่ แจ็ค หม่ามองว่า ครูใหญ่ที่ดีต้องสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับครูในโรงเรียนได้ และ ต้องบริหารจัดการโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครูใหญ่ต้องทำหน้าที่ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้กับครูในโรงเรียน เพื่อที่ครูจะได้สามารถทุ่มเทแรงกายแรงใจทั้งหมดให้กับเด็ก โดยไม่ต้องกังวลเรื่องอื่นใดแจ็คหม่าให้คำจำกัดความ “ครูใหญ่” ว่า “นักพัฒนาการศึกษา” โดยครูใหญ่ต้องไม่คิดจะดูแลบริหารจัดการเพียงแค่ห้องเรียน แต่ต้องคิดเสมอว่าตนจะต้องมีบทบาทช่วยสร้างค่านิยมที่ดีให้แก่เด็ก และปรับปรุงการจัดการศึกษา ต้องมีความเข้าใจว่าตนมีความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ ครูใหญ่ที่ดียังต้องเปิดหูรับฟังตลอดเวลา ดูว่าครูที่อยู่ใต้บังคับบัญชาทำงานอย่างมีความสุขหรือไม่ และต้องพยายามช่วยส่งเสริมให้ครูทุกคนประสบความสำเร็จ พูดง่าย แต่ทำยาก เพราะในการบริหารจัดการโรงเรียน มีเรื่องต้องคิดและกังวลหลายเรื่อง แจ็ค หม่าจึงต้องการจัดอบรมทักษะความเป็นผู้นำ และทักษะการบริหารจัดการให้แก่ครูใหญ่โรงเรียนในชนบททั่วประเทศ เขาบอกว่า ถ้าได้ครูใหญ่ที่ดี 1 คน เมื่อเวลาผ่านไป 20 ปี จะสามารถสร้างพลังบวกให้กับครูอย่างน้อย 200 คน โดยในชีวิตครู 1 คน สามารถสร้างพลังบวกให้เด็กอย่างน้อย 200 คน ดังนั้น ถ้าต้องการจะช่วยเหลือเด็กชนบทของจีน 90 ล้านคน ก็ต้องพยายามช่วยเหลือครู 3.7 ล้านคนเสียก่อน และหากอยากจะพัฒนาครู 3.7 ล้านคน ก็จำเป็นที่จะต้องเริ่มต้นพัฒนาครูใหญ่ 20,000 คน

2. โรงเรียนที่ดีควรเป็นอย่างไร?

แจ็ค หม่าให้คำตอบว่า ไม่มีสูตรตายตัว ปัญหาของกระทรวงศึกษาฯ ของจีน คือต้องการให้ทุกโรงเรียนในประเทศหน้าตาเหมือนกันหมด เวลาคิดจะปฏิรูปการศึกษา ก็มานั่งคิดกันเองว่า อยากให้โรงเรียนเป็นอย่างไร จากนั้นก็จะบังคับให้โรงเรียนทุกโรงเรียนในประเทศเป็นอย่างนั้นเหมือนกันทั้งหมด ทำอย่างนี้จริงๆ แล้วไม่ดี เพราะผู้ปกครองกลับไม่สามารถเลือกโรงเรียนให้เหมาะกับความถนัดและความสนใจของเด็กได้ จริงๆ แล้ว โรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนแตกต่างกันได้ อยู่ที่แนวคิดด้านการศึกษาของครูใหญ่ จากนั้นครูใหญ่จึงค่อยเลือกครูที่เหมาะสม พัฒนารูปแบบการเรียนการสอนให้มีเอกลักษณ์ โรงเรียนที่แตกต่างหลากหลายภายในประเทศ ก็จะได้มีการแข่งขันและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เขายกตัวอย่างว่า ธุรกิจที่ดีและประสบความสำเร็จไม่ได้มีรูปแบบเดียว พนักงานและผู้บริโภคมีตัวเลือกว่าชอบแบบใด อย่างอาลีบาบาเอง ก็มีเอกลักษณ์แตกต่างจากยักษ์ใหญ่ในโลกออนไลน์ของจีนอย่าง Baidu หรือ Tencent โรงเรียนแต่ละแห่งเองก็ควรต้องมีจุดเด่น มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากโรงเรียนอื่น

3. การศึกษาที่ดีควรเป็นอย่างไร?

สิ่งสำคัญที่สุด ก็คือ ต้องบ่มเพาะให้เด็กมีนิสัยใฝ่รู้ มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้และแสวงหาความรู้ใหม่ๆ อยู่ตลอด ต้องไม่ใช่การศึกษาที่ฆ่าความอยากเรียนรู้ ฆ่าการตั้งคำถาม ฆ่าความคิดสร้างสรรค์ เนื่องจากโลกปัจจุบันนับวันยิ่งเปลี่ยนแปลงเร็วและรุนแรง คนที่ฆ่าตัวตายในวิชาชีพ ก็คือคนที่พอเรียนจบหลักสูตรก็ปิดประตู ไม่เปิดรับความรู้ใหม่ๆ อีกต่อไปเด็กยังควรพัฒนาทักษะการทำงานเป็นกลุ่ม จากการเล่นกีฬาเป็นทีม เช่น ฟุตบอลหรือบาสเกตบอล เด็กควรพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์จากการเล่นดนตรีและศิลปะ เด็กควรเรียนรู้ที่จะคิดเชิงกลยุทธ์ เมื่อใดควรรุกเมื่อใดควรวาง จากการเล่นหมากกระดาน แจ็ค หม่าไม่เชื่อสำนวนจีนโบราณที่ว่า “มีความสามารถ เพียงแต่หาที่เหมาะสมไม่ได้” แจ็ค หม่าบอกว่า ถ้าเป็นคนที่มีความสามารถจริง จะหาที่ๆ เหมาะสมกับตนเองไม่ได้ได้อย่างไร ยกเว้นกรณีเดียวคือ มีความสามารถสูง แต่เจ้าอารมณ์ จนไม่มีใครเอาด้วย แต่คนที่มีความสามารถ มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีความใฝ่รู้ใฝ่เรียน ย่อมสามารถมองเห็นโอกาสตลอดเวลา โลกนี้มีโอกาสมากมาย อยู่ที่ใครจะมองเห็นและไขว่คว้าเท่านั้น

4. รูปแบบการจัดการศึกษาที่ดีในแต่ละช่วงวัย

แจ็ค หม่าบอกว่า ระดับปฐมวัย ควรเริ่มต้นให้เด็กเรียนเต้นรำ ร้องเพลง เล่นกีฬา และวาดรูป เพราะความรักในศิลปะและกีฬาคือเมล็ดพันธุ์ที่ต้องเพาะพันธุ์ตั้งแต่ยังเล็ก

ระดับประถม เมื่อเริ่มรู้เรื่อง ต้องปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้อง เช่น ความขยัน ความอดทน ความซื่อสัตย์ ควรต้องเรียนนิทานคลาสสิกของทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก ให้รู้ทั้งค่านิยมที่ดีของทั้งสองฝั่งตะวันออกและตะวันตก

ระดับมัธยม เมื่อเด็กเริ่มมีกำลังกายกำลังใจที่พร้อม ควรต้องฝึกฝนให้มีวินัย หมายความว่า รู้จักควบคุมตนเอง รู้จักยับยั้งชั่งใจ รถต้องมีตัวเครื่องที่ดี แต่ที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ ต้องมีเบรกที่ดีด้วย พอขึ้นมัธยมปลาย ต้องแนะแนวให้เด็กเห็นโลกกว้างและโอกาสที่หลากหลาย ให้เขาเริ่มค้นหาตัวเองว่าอยากทำอะไร สนใจและรักอะไร อยากสร้างสรรค์อะไร ไม่ใช่ใช้เวลาคิดแต่เรื่องสอบเข้ามหาวิทยาลัย

ระดับอุดมศึกษา ต้องเรียนรู้ให้เข้าใจภาพใหญ่ของโครงสร้างความรู้ในศาสตร์ที่เขาเรียน ในระดับปริญญาโท ต้องเน้นศึกษาวิธีวิจัย ส่วนในระดับปริญญาเอก ต้องเข้าใจปรัชญารากฐานของศาสตร์นั้นๆ จนสามารถวิเคราะห์เรื่องต่างๆ ได้อย่างลึกซึ้ง รวมทั้งสร้างองค์ความรู้ใหม่ต่อยอดจากเดิมด้วย

แจ็ค หม่าสรุปว่า ในยุคที่ AI สามารถเก็บและวิเคราะห์ความรู้มหาศาลของมนุษย์ได้ เด็กรุ่นใหม่ต้องไม่ใช่เพียงคลังหนังสือเคลื่อนที่ เพราะไม่เช่นนั้น ก็ไม่ต่างอะไรจาก AI และก็จะถูก AI แทนที่ในที่สุด ดังนั้น เด็กรุ่นใหม่ที่จะประสบความสำเร็จ ต้องมีทั้งความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) และเชาว์ปัญญา (IQ) และที่สำคัญคือต้องมีฉันทะหรือความรักในสิ่งที่ตนทำ จึงจะประสบความสำเร็จ ฉันทะหรือความรักในสิ่งที่ทำนั้น จะช่วยให้คนมีเป้าหมายที่สูงขึ้นในทางจิตวิญญาณ มีความรู้สึกรับผิดชอบต่อเมื่อวาน วันนี้ และพรุ่งนี้ ส่วนความฉลาดทางอารมณ์ทำให้สามารถนำความรู้ไปใช้เป็นพลังสร้างสรรค์ได้ ความฉลาดทางอารมณ์ค่อยๆ พัฒนามาจากการเล่นกับเด็กด้วยกัน เพราะฉะนั้นการเล่นก็สำคัญไม่แพ้การเรียน คนที่ไม่มีความฉลาดทางอารมณ์ ต่อให้มีความรู้มหาศาล แต่ไม่สามารถสื่อสาร แลกเปลี่ยน ทำความเข้าใจกับคนอื่น ไม่สามารถหาคนมาช่วยงานได้ คนอย่างนี้ถึงความรู้ท่วมหัวก็ไร้ประโยชน์ สิ่งที่ต้องสอนหรือปลูกฝังให้เด็กไทยกับการศึกษาคือ ต้องสอนให้เด็กคิดและใช้ทักษะอยู่เสมอ อย่าสอนให้ทำตามที่คนบอกให้ทำ และจงมองโลกในแง่ดี

Ref. http://www.bangkokbiznews.com/blog, https://www.matichon.co.th/news,

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *