Tag Archives: อาเซียน

การประกันคุณภาพการศึกษาของอาเซียน

AQAN  ได้ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ  สมาชิกในการพัฒนากรอบการประกันคุณภาพการศึกษาของอาเซียน   โดยการพัฒนาองค์ประกอบของกรอบการประกันคุณภาพเพื่อให้กลไกดังกล่าวมีคุณลักษณะคล้ายคลึงกัน ดังนี้

(๑)    หน่วยงานการประกันคุณภาพภายนอก  (External Quality Assurance Agency)

เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งตามกฎหมาย  มีพันธกิจที่เป็นที่ยอมรับของหน่วยงานในระดับชาติ  สาธารณะ  และประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ   มีความอิสระในการดำเนินการ  การตัดสินใจในการดำเนินการต้องปลอดการแทรกแซงจากหน่วยงานภายนอก  มีปรัชญา  พันธกิจ  เป้าประสงค์  และเป้าหมายการดำเนินการที่ชัดเจน  มีเกณฑ์มาตรฐาน  และตัวบ่งชี้การประกันคุณภาพที่ชัดเจน  และเป็นที่ยอมรับของสังคม  การบริหารจัดการต้องยึดมั่นหลักการธรรมาภิบาลโปร่งใสและตรวจสอบได้  มีทรัพยากรบุคคลและงบประมาณดำเนินการที่เพียงพอ  มีความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ   ต้องมีระบบการตรวจสอบคุณภาพภายในเพื่อการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง  มีการติดตามความเคลื่อนไหวพัฒนาการและนวัตกรรมของการประกันคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ  เพื่อที่จะก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลง  และมุ่งที่จะพัฒนาในแนวทางการปฏิบัติงานที่ดี (good  practices)

(๒)    กระบวนการประกันคุณภาพภายนอก  (External  Quality Assurance Processes)

การพัฒนาเกณฑ์และมาตรฐานต้องมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  มีการประกาศเกณฑ์และมาตรฐานล่วงหน้า  และสาธารณชนสามารถสืบค้นข้อมูลได้ตลอดเวลา  เกณฑ์และมาตรฐานใช้กับทุกสถานศึกษาอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม  และควรคำนึงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม  กระบวนการควรจะมี  ๕  องค์ประกอบ ดังนี้

(๑)    การประเมินตนเอง (self-assessment) หรือเทียบเท่า

(๒)    การประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกและมีการตรวจเยี่ยมสถานศึกษาตามที่ตกลงกัน

(๓)    การให้ข้อมูลป้อนกลับ (feedback) และข้อเสนอแนะเพื่อเสนอศึกษานำไปปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้น

(๔)    การติดตามผลการนำข้อเสนอแนะไปใช้

(๕)    ผลของการประเมินภายนอกต้องแจ้งให้สาธารณะได้รับทราบการประกันคุณภาพอยู่บนพื้นฐานของรอบเวลา (cyclical basis) ผู้ประเมินต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับสถานศึกษา  มีกลไกการอุทธรณ์

(๓)    หลักการการประเมินคุณภาพภายในของสถานศึกษา (Institutional  Principles)

สถานศึกษาควรสร้างวัฒนธรรมคุณภาพในทุกภารกิจ  รวมทั้งการเรียน  การสอน  การวิจัย  การให้บริการและการบริหารจัดการ  มีโครงสร้างการประกันคุณภาพอย่างเป็นระบบและกำหนดผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจน  ระบบการประกันคุณภาพเป็นที่รู้ของทุกคน  ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูง  และมีการดำเนินการอย่างยั่งยืน  ระบบการประกันคุณภาพเป็นกระบวนการที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกคน  และทุกระดับ  ทั้งอาจารย์  เจ้าหน้าที่  นักศึกษา  และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  มีการติดตามผลเป็นประจำ  เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในทุกระดับ  ควรเผยแพร่ให้สาธารณะทราบข้อมูลข่าวสารที่เป็นปัจจุบันเกี่ยวกับสถานศึกษา  หลักสูตร  ความสำเร็จต่างๆ รวมทั้งการประกันคุณภาพ

(๔)    หลักการผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  (Learners Focus Generic Principles)

สนับสนุนการยอมรับคุณวุฒิระหว่างประเทศสมาชิก  ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต  ส่งเสริมการถ่ายโอนหน่วยกิต  และการเคลื่อนย้ายผู้เรียน  ส่งเสริมการเคลื่อนย้ายแรงงาน  กรอบมาตรฐานคุณวุฒิแห่งชาติต้องมี  ๙ องค์ประกอบ ดังนี้

(๑)   กำหนดบนพื้นฐานของผลลัพธ์การเรียนรู้ในระดับการศึกษาต่าง ๆ

(๒)   เป็นระบบหน่วยกิต

(๓)   บูรณาการรูปแบบการเรียนรู้และการฝึกอบรมต่างๆ ทั้งการศึกษาในระบบ  การศึกษานอกระบบ  และการศึกษาตามอัธยาศัย

(๔)    เชื่อมโยงกับภาคส่วนต่างๆ ของการศึกษา  และการเรียนรู้

(๕)    มีหน่วยงานรับผิดชอบการดำเนินการ

(๖)    มีความร่วมมือกับหน่วยข้อมูลและหน่วยเทียบคุณวุฒิ

(๗)    มีกรอบการดำเนินการด้วยหลักการการประกันคุณภาพ  และมีมาตรฐานที่ครอบคลุม

(๘)    ยึดมั่นปรัชญาการให้โอกาสทางการศึกษาต่อเนื่อง

(๙)    เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง

ดังนั้น  ความร่วมมือในการพัฒนากรอบการประกันคุณภาพการศึกษาของอาเซียนดังกล่าวจะช่วยพัฒนาระบบการประกันคุณภาพในระดับชาติและนานาชาติ  ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเอื้ออำนวยให้ความเป็นนานาชาติเข้ามาสู่ประเทศรวดเร็วขึ้น  หากสถาบันอุดมศึกษาไทยสามารถก้าวสู่ความเป็นนานาชาติผ่านกรอบการประกันคุณภาพการศึกษาระดับภูมิภาคดังกล่าวให้  เราคงจะมีโอกาสแข่งขันได้อย่างน้อยก็ในเวทีภูมิภาคนี้

Ref.  จุลสาร สมศ.  หน้า 6   กันยายน   2555