งานวิจัยเรื่องความขัดแย้ง

งานวิจัยเรื่อง การศึกษาสาเหตุของความขัดแย้งและวิธีการจัดการกับความขัดแย้งของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ช่วงชั้นที่ 1-2 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุพรรณบุรี
ผู้วิจัย นางสาวจุฑามาศ รุจิรตานนท์
สาขา การบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี
ปี พ.ศ. 2547
ผลการศึกษาพบว่า
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสาเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ช่วงชั้นที่ 1-2 วิธีการจัดการกับความขัดแย้งของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานช่วงชั้นที่ 1-2 และเปรียบเทียบความแตกต่างในวิธีการจัดการกับความขัดแย้งของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ช่วงชั้นที่ 1-2 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุพรรณบุรี ที่มีประสบการณ์ในการบริหารงาน 1-5 ปี 6 -10 ปี และมากกว่า 10 ปี
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ ผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ช่วงชั้นที่ 1-2
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุพรรณบุรี จำนวน 195 คน ซึ่งได้มาโดยวิธีการสุ่มอย่างง่าย (simple random sampling) เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามแบบตรวจสอบรายการ (check list)
และแบบมาตราส่วนประมาณค่า (rating scale) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่
ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์ความแปรปรวน (ANOVA)
ผลการวิจัยพบว่า
1. สาเหตุของความขัดแย้งในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ช่วงชั้นที่ 1-2 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุพรรณบุรี อยู่ในระดับปานกลางทุกด้าน เรียงตามลำดับ คือ ด้านองค์ประกอบส่วนบุคคล ด้านปฏิสัมพันธ์ในการทำงาน และด้านสภาพของสถานศึกษา เมื่อศึกษาเป็นรายข้อย่อย พบว่า สาเหตุของความขัดแย้งที่มีค่าเฉลี่ยระดับความขัดแย้งสูงสุดในแต่ละด้าน มีดังนี้ ด้านองค์ประกอบส่วนบุคคล คือ ลักษณะนิสัยใจคอ ด้านปฏิสัมพันธ์ในการทำงาน คือ การประสานงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ ส่วนด้านของสภาพของสถานศึกษา คือ การให้ข้อยกเว้นหรือสิทธิพิเศษต่างๆ
เฉพาะกลุ่มหรือบุคคล
2. วิธีการจัดการกับความขัดแย้งของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ช่วงชั้นที่ 1-2 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุพรรณบุรี เลือกใช้วิธีการจัดการกับความขัดแย้งอยู่ใน ระดับมาก 3 วิธี เรียงตามลำดับคือ วิธีประนีประนอม วิธีไกล่เกลี่ย และวิธีเผชิญหน้า เลือกใช้วิธีการจัดการกับความขัดแย้งอยู่ในระดับปานกลาง 2 วิธี เรียงตามลำดับ คือ วิธีบังคับ และวิธีหลีกเลี่ยง
3. เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างในวิธีการจัดการกับความขัดแย้ง ของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ช่วงชั้นที่ 1-2 ที่มีประสบการณ์ในตำแหน่งบริหารต่างกัน พบว่า ผู้บริหารเลือกใช้วิธีการจัดการกับความขัดแย้งแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 นั่นคือ ผู้บริหารสถานศึกษาที่มีประสบการณ์ในตำแหน่งบริหารต่างกัน ใช้วิธีการจัดการกับความขัดแย้งไม่แตกต่างกัน

งานวิจัยเรื่อง การจัดการความขัดแย้งของผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขอนแก่น เขต 4
ผู้วิจัย ปรีชา จ่าสิงห์
สาขา การบริหารการศึกษา มหารวิทยาลัยราชภัฎเลย
ปี พ.ศ. 2549

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความคิดเห็นของข้าราชการครูเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งของผู้อำนวยการศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขอนแก่น เขต 4 และเปรียบเทียบความคิดเห็นของข้าราชการครูเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งของผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขอนแก่น เขต 4 จำแนกตาม ตำแหน่งหน้าที่ ประสบการณ์ในการทำงานและขนาดโรงเรียน
ผลการศึกษาพบว่า
1) ข้าราชการครูมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งของผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขอนแก่น เขต 4 เรียงลำดับค่าเฉลี่ย จากมากไปหาน้อย มีผลดังนี้ ด้านการร่วมมือแก้ปัญหา การยอมให้การประนีประนอม การหลีกเลี่ยงและการเอาชนะตามลำดับ
2.) ผลการเปรียบเทียบความคิดเห็นของข้าราชการครู เกี่ยวกับ การจัดการความขัดแย้งของผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขอนแก่น เขต 4 จำแนกตามตำแหน่งหน้าที่ วิธีการยอมให้ การร่วมมือแก้ปัญหา และการประนีประนอม แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3.) ผลการเปรียบเทียบความคิดเห็นของข้าราชการครูเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งของผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขอนแก่น เขต 4 จำแนกตามประสบการณ์ ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4.) ผลการเปรียบเทียบความคิดเห็นของข้าราชการครูเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งของผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขอนแก่น เขต 4 จำแนกตามขนาดโรงเรียน วิธีการจัดการความขัดแย้งของผู้อำนวยการสถานศึกษา ด้านเอาชนะ การยอมให้ และการร่วมมือแก้ปัญหา แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
5.) ผลการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยรายคู่ พบว่าข้าราชการครูในโรงเรียนขนาดเล็กกับโรงเรียนขนาดใหญ่ โรงเรียนขนาดกลางกับโรงเรียนขนาดใหญ่ มีความคิดเห็น ด้านการเอาชนะ การยอมให้และการร่วมมือแก้ปัญหา มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 แต่ข้าราชการครูในโรงเรียนขนาดเล็กกับโรงเรียนขนาดกลาง ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
ข้อเสนอแนะ
ผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขอนแก่น เขต 4 ควรนำการจัดการความขัดแย้ง ในด้านการร่วมมือแก้ปัญหา การยอมให้และการประนีประนอมไปใช้ในสถานศึกษา เนื่องจากเป็นยุคปฏิรูปการศึกษาที่ต้องการผู้บริหารมืออาชีพที่มีความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ คุณธรรมและจริยธรรม เพื่อทำหน้าที่บริหารองค์กรให้สำเร็จ และเป็นไปตามแนวทางที่พึงประสงค์ของสถานศึกษาต่อไป

งานวิจัยเรื่อง การจัดการความขัดแย้งของพยาบาลวิชาชีพในโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่
ผู้วิจัย นางแสงมณี ทรัพย์เมือง
สาขา สาขาวิชา รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต
ปี พ.ศ. 2546

ผลการศึกษาพบว่า
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อวิเคราะห์ระดับความขัดแย้งของพยาบาลวิชาชีพในโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ 2) เพื่อเปรียบเทียบระดับความขัดแย้งของหัวหน้าหอผู้ป่วยและพยาบาลประจำการ 3) เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยส่วนบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับระดับความขัดแย้งและวิธีการจัดการความขัดแย้ง และ 4) เพื่ออธิบายการใช้วิธีการจัดการความขัดแย้งของพยาบาลวิชาชีพในโรงยาบาลประสาทเชียงใหม่
ผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้
1. ระดับความขัดแย้งของพยาบาลวิชาชีพโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง
2. หัวหน้าหอผู้ป่วยและพยาบาลประจำการโดยรวมมีความขัดแย้งในระดับที่ไม่แตกต่างกัน คือมีระดับความขัดแย้งอยู่ในระดับปานกลาง
3. ปัจจัยส่วนบุคคลของพยาบาลวิชาชีพ ทุกปัจจัยไม่มีความสัมพันธ์ระดับความขัดแย้งและวิธีการจัดการความขัดแย้ง
4. ส่วนใหญ่พยาบาลวิชาชีพในโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ เลือกใช้วิธีการจัดการความขัดแย้งโดยการหลีกเหลี่ยงมากที่สุด รองลงมาคือวิธีการปรองดองหรือการยอมให้ ในภาพรวมทั้งหัวหน้าหอ ผู้ป่วยและพยาบาลประจำ การจะใช้วิธีการการจัดการความขัดแย้งเพียง 1 วิธีมากที่สุด และหัวหน้าหอผู้ป่วยส่วนใหญ่จะใช้วิธีร่วมมือ ในขณะที่พยาบาลประจำการใช้วิธีหลีกเลี่ยง