การบริหารจิตและปัญญา

4d6c593199

การบริหารจิตและเจริญปัญญา
           การบริหารจิต  คือ  การฝึกอบรมจิตใจให้มีความสมบูรณ์อย่างเต็มที่  จิตที่ผ่านการฝึกฝนจะมีความอ่อนโยน  นุ่มนวล  เข้มแข็งและปลอดโปร่ง  พร้อมที่จะเป็นฐานแห่งการเจริญปัญญาจึงมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน  และเป็นพื้นฐานของกันและกัน  บุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นคนที่พัฒนาแล้วจะต้องเป็นบุคคลที่ผ่านการฝึกสมาธิและเจริญวิปัสสนามาอย่าครบถ้วน

ข้อมูลเพิ่มเติม.....

สมาธิ
 สมาธิ  แปลว่า  ความตั้งมั่นแห่งจิต  หมายถึง  ภาวะที่จิตคิดจดจ่ออยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงเรื่องเดียวในระยะเวลาหนึ่ง เช่น  การอ่านหนังสือ  ขณะอ่าน  จิตจดจ่ออยู่กับเรื่องที่อ่านไม่ฟุ้งซ่านคิดถึงเรื่องอื่น  เป็นต้น
   ประเภทของสมาธิ  แบ่งออกได้เป็น  ๒  ประเภท  ดังนี้
           ๑)  สมาธิที่มีโดยธรรมชาติ  คือ  สมาธิที่มีมาเองโดยไม่ต้องฝึก  ทุกคนจะมีมากมีน้อยแล้วแต่บุคคล  เช่น  เวลาอ่านหนังสือ อ่านรู้เรื่องดี  สนุกสนานเพลิดเพลินกับการอ่าน  เพราะมีสมาธิ  สมาธิโดยธรรมชาตินี้มิใช่ว่าจะมีทุกเวลา  จะมีก็ต่อเมื่อเราตั้งใจจดจ่อต่อสิ่งที่อยู่ตรงหน้า  เมื่อเลิกตั้งใจสมาธิก็จะไม่มี
           ๒)  สมาธิที่ต้องพัฒนา  หมายถึง  สมาธิที่เกิดจากการฝึกปฏิบัติ  ซึ่งได้แก่  การพัฒนาสมาธิที่มีอยู่แล้วโดยธรรมชาตินั้นให้ถูกวิธี  เพื่อให้มีพลังมากกว่าเดิม  จะได้นำไปใช้ในกิจการงานต่างๆ  ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประโยชน์ของสมาธิ
๑)  ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวัน  เช่น  ทำให้ผ่อนคลาย  หายเครียด  ลดความวิตกกังวล  ความหวาดกลัว
๒)  ช่วยในการพัฒนาบุคลิกภาพ  เช่น  ทำให้เป็นผู้มีความมั่นคงในอารมณ์  บุคลิกเข้มแข็ง  มั่นคง
๓)  เป็นจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา  หมายถึง  สมาธิที่แนบแน่น  มั่นคง  จะทำใหห้มีความสงบ  แน่วแน่  สามารถระงับกิเลส และพร้อมจะก้าวสู่ความมีปัญญา  รู้แจ้งในความจริง

ปัญญา
 ปัญญา  แปลว่า  ความรู้  คือ  ความรอบรู้  ได้แก่  รู้รอบ  และรู้สึก  คำว่ารู้รอบ  หมายถึง  รู้เป็นระบบ  รู้ว่าสิ่งทั้งหลายอาศัยกันและกันเกิดขึ้น เห็นความสำพันธ์ระหว่างเหตุและผลว่าปัญหาต่างๆ  มีสาเหตุหรือเกิดจากเหตุใด  ส่วนรู้สึก  คือ  ความรู้ที่มองเห็นว่าปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเบื้องหน้าหรือเบื้องหลังนั้นมีสาเหตุหรือความเป็นมาอย่างไร

ประเภทของปัญญา
พระพุทธศาสนาแบ่งแหล่งกำเนิดของความรู้หรือปัญญาออกเป็น  ๓  ประการ  ได้แก่
๑)  สุตมยปัญญา  :  ปัญญาที่เกิดจากการฟัง  หมายถึง  ปัญญาที่เกิดจากการเล่าเรียนหรือการฟัง  เป็นการรับรู้ข้อมูลจากแหล่งความรู้ภายนอก
๒)  จิตตามยปัญญา  :  ปัญญาที่เกิดจากการคิด  หมายถึง  ปัญญาที่เกิดจากการคิด  การพิจารณาหาเหตุผล  ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานของจิตภายในตัวเรา
๓)  ภาวนามยปัญญา  :  ปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติ  หมายถึง  ปัญญาที่เกิดจากการลงมือปฏิบัติ  ซึ่งต้องผ่านการลองผิดลองถูก

 ประโยชน์ของปัญญา
๑)  ทำให้วินิจฉัยเรื่องราวต่างๆ  ได้ถูกต้อง  จะรู้ว่าสิ่งใดผิด  สิ่งใดถูก  สิ่งใดมีคุณ  สิ่งใดมีโทษ  ต้องอาศัยปัญญาเป็นเครื่องตัดสิน  ถ้ามีปัญญาน้อย  โอกาสที่จะตัดสินถูก  ก็ย่อมมีน้อย
๒)  ทำให้มองสิ่งต่างๆ  ได้โดยตลอด  ปรากฎการณ์ต่างๆ  ที่เกิดขึ้น  ย่อมเกิดจากหลายเหตุหลายปัจจัยรวมกัน  ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นลอยๆ  โดยไม่มีเหตุ  ไม่มีปัจจัย  บางเรื่องมีเหตุ  มีปัจจัยสลับซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง  คนมีปัญญเท่านั้นจึงจะสามารถมองทะลุโดยตลอดได้อย่างหมดข้อสงสัย
๓)  ทำให้แก้ปัญหาชีวิตได้  คนมีปัญญาแม้ว่าจะประสบความทุกข์ใหญ่หลวงมากเพียงใดก็สามารถใช้ปัญญาผ่อนคลายความทุกข์และแก้ไขให้หมดไปได้
๔)  ทำให้รู้ทางเสื่อมและทางเจริญ  คนมีปัญญาจะมองเห็นว่าสิ่งนี้เป็นทางแห่งหายนะ  จึงละเว้น  ไม่ยอมเอาชีวิตไปเกลือกกลั้วด้วย
๕)  ทำให้สร้างฐานะเป็นปึกแผ่นได้  คนมีปัญญาแม้จะยากจนขัดสนในเบื้องต้นก็ใช้ปัญญาช่วยในการทำมาหาเลี้ยงชีพและประสบความสำเร็จได้
๖)  ทำให้เข้าใจโลกและชีวิต  และมีความเมตตากรุณาต่อคนทั่วไป 
๗)  ทำให้เป็นคนมีเหตุผล  มีใจกว้าง  ยอมรับฟังคนอื่น  คนมีปัญญาจะเรียนรู้อยู่เสมอยอมรับคำแนะนำและความคิดเห็นของคนอื่น ไม่ถือความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่  เป็นคนมีเหตุผล

การเจริญปัญญาตามหลักโยนิโสมนสิการ
   โยนิโสมนสิการ  แปลว่า  การทำไว้ในใจโดยแยบคาย  หมายถึง  การใช้ความคิดที่ถูกวิธี  กล่าวคือ  มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิด  พิจารณาสืบค้นคิดหาเหตุผล  ตลอดจนแยกแยะและวิเคราะห์ปัญหาด้วยปัญญา  มองปัญหาตามความเป็นจริง  หรือมองสิ่งทั้งหลายตามสภาวะและความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย
   ด้วยเหตุนี้พระพุทธศาสนาจึงสอนว่าการศึกษาที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมนุษย์รู้จักคิดวิเคราะห์อย่างรอบคอบและรอบด้าน  จนเข้าใจปัญหาต่างๆ  ตามสภาพความเป็นจริง  เรียกว่า  การคิดแบบโยนิโสมนสิการ  ซึ่งมี  ๑๐  วิธีคิดด้วยกัน  แต่ในชั้นเรียนนี้นักเรียนจะได้ศึกษาวิธีคิดแบบคุณค่าแท้  คุณค่าเทียม  และวิธีคิดแบบคุณโทษ  และทางออก
 การคิดแบบโยนิโสมนสิการ  มี  ๑๐  วิธีคิดด้วยกัน  คือ
๑)  คิดแยกแยะส่วนประกอบ
๒) คิดแบบคุณโทษและทางออก
๓)  คิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย
๔)  คิดแบบสัมพันธ์หลักกับเป้าหมาย
๕)  คิดแบบแก้ปัญหา
๖)  คิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา
๗)  คิดแบบคุณค่าแท้คุณค่าเทียม
๘)  คิดแบบปลุกเร้าคุณธรรม
๙)  คิดแบบอยู่ในปัจจุบัน
๑๐)  คิดแบบแยกประเด็น

๓.๑)  วิธีคิดแบบคุณค่าแท้  คุณค่าเทียม
 วิธีคิดแบบคุณค่าแท้  คุณค่าเทียม  เป็นวิธีคิดที่เกี่ยวข้องกับ  ความต้องการ  และการประเมินคุณค่า  คือ  ถ้าจัดเพียงแต่จะสนองตัณหาของตนไม่ว่ากับสิ่งใด  เป็นการคิดแบบคุณค่าเทียมแต่ถ้าคิดถึงแก่นหรือคุณประโยชน์ที่แท้จริงของสิ่งนั้น  เป็นการคิดแบบคุณค่าแท้
   การคิดแบบคุณค่าแท้  จึงเป็นวิธีคิดบนพื้นฐานของคุณค่า  ภายใต้ประโยชน์ที่สนองความต้องการของชีวิต  รู้จักใช้ปัญญาพิจารณาว่าการกิน  การใช้  การอยู่  การแสวงหา  ควรปฏิบัติให้พอดี  พอควร  และ  พอประมาณ  ตามประโยชน์ที่แท้จริงของสิ่งนั้นๆ  ดังนั้น  การคิดแบบคุณค่าแท้จึงเป็นวิธีคิดบนหลักของ  การประเมินคุณค่า
   การคิดแบบคุณค่าเทียม  เป็นวิธีคิดที่เคลือบแฝงด้วยความทะยานอยาก  ความฟุ้งเฟ้อ  ฟุ่มเฟือย  หลงใหล  เป็นการคิดเพื่อสนองตัณหา  ดังนั้นการคิดแบบคุณค่าเทียมจึงเป็นวิธีคิดบนหลักของความต้องการ  เป็นวิธีคิดที่นำไปสู่ความเสื่อมและความทุกข์  เพราะไม่สามารถสนองความต้องการได้ทั้งหมด

๓.๒)  การคิดแบบคุณโทษ  และทางออก
   พระพุทธศาสนาสอนว่าธรรมดาโลกและชีวิตย่อมมีความเปลี่ยนแปลง  ไม่ยั่งยืน  และไม่แน่นอน  มนุษย์ไม่สามารถบังคับทุกอย่างให้ดำเนินไปตามความปรารถนา
   ด้วยเหตุนี้เมื่อเกิดปัญหา  การคิดหาทางออกที่ดีที่สุดพร้อมๆ  กับการพิจารณาหาผลดีและผลเสีย  จะทำให้เราสามารถปฏิบัติตนได้อย่างเหมาะสมกับทุกสภาพการณ์  ดังนั้นจึงควรมองปัญหาให้รอบด้านและหาทางเลือกให้กับชีวิต  พระพุทธศาสนาจึงสอนให้มีการคิดแบบคุณโทษและทางออกซึ่งมีข้อควรคำนึงถึง  ๒  ประการ  คือ
 ๑)  การมองหรือการพิจารณาตามความเป็นจริงนั้น  ต้องมองทั้งด้านบวกและลบ  กล่าวคือ  มองทั้งคุณและโทษ  เพราะจะช่วยให้เราพิจารณาสิ่งต่างๆ  ด้วยความรอบคอบ  ไม่มีอคติ  ไม่ยึดมั่นในแนวทางใดแนวทางหนึ่งจนเกินไป
 ๒)  เมื่อจะแก้ปัญหาหรือลงมือปฏิบัติ  ต้องกำหนดจุดมุ่งหมายและแสวงหาทางออกเพื่อเป็นทางเลือก  นอกเหนือจากการรู้คุณและโทษของสิ่งเหล่านั้น
          การตัดสินใจทำหรือไม่ทำอะไร  หลังจากได้พิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบแล้วโอกาสที่จะผิดพลาดอาจไม่มีหรือมีน้อยลง

 

ที่มา:สุริวัตร  จันทร์โสภา.  พระพุทธศาสนา  ม.1.  พิมพ์ครั้งที่ 1.  กรุงเทพฯ  :  อักษรเจริญทัศน์.

0 thoughts on “การบริหารจิตและปัญญา

  1. Pingback: viagra