Category Archives: หลักสูตรTQF

มคอ.คืออะไรในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา

มคอ.คืออะไร

โดย   ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุขุมาล หวังวณิชพันธุ์
กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (Thai Qualifications Framework for Higher Education, TQF:HEd) เป็นกรอบที่แสดงระบบคุณวุฒิการศึกษาระดับอุดมศึกษาของประเทศ ซึ่งประกอบด้วย ระดับคุณวุฒิ ความเชื่อมโยงต่อเนื่องจากคุณวุฒิระกับหนึ่งไปสู่ระดับที่สูงขึ้น การแบ่งสายวิชา มาตรฐานผลการเรียนรู้ของแต่ละระดับคุณวุฒิซึ่งเพิ่มสูงขึ้นตามระดับของคุณวุฒิ ปริมาณการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับเวลาที่ต้องใช้ ลักษณะของหลักสูตรในแต่ละระดับคุณวุฒิ การเปิดโอกาสในเทียบโอนผลการเรียนรู้จากประสบการณ์ ซึ่งเป้นการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมทั้งระบบและกลไกที่ให้ความมั่นใจในประสิทธิผลการดำเนินงานตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติของสถาบันอุดมศึกษาว่าสามารถผลิตบัณฑิตให้บรรลุคุณภาพตามมาตรฐานผลการเรียนรู้
มคอ.1 การพัฒนามาตรฐานคุณวุฒิสาขา/สาขาวิชา กรอบที่กําหนดมาตรฐานผลการเรียนรูปของบัณฑิต ในแต่ละระดับการศึกษาของสาขา/สาขาวิชาหนึ่งซึ่งจะกําหนดคุณลักษณะของบัณฑิตในสาขา/สาขาวิชา ปริญญา และองค์ความรู์ที่เป็นเนื้อหาเท่าที่าเป็นจะต้องมีในหลักสูตรสาขา/สาขาวิชาและระดับคุณวุฒิ นั้นๆ เพื่อเป็นหลักประกันว้่าผู้ที่สําเร็จการศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาต่างๆในสาขา/สาขาวิชาและระดับ คุณวุฒิเดียวกันจะมีผลการเรียนรู้ไม่น้อยกว่าที่กําหนด ในขณะเดียวกันมาตรฐานคุณวุฒิสาขา/สาขาวิชาจะ เปิดกว้างและส่งเสริมให้สถาบันต่างๆมีโอกาสบรรจุเนื้อหาวิชาในส่วนที่นอกเหนือจากที่กําหนดไว้ ได้อย่างอิสระ เหมาะสม และตรงกับความต้องการหรือเอกลักษณ์ของแต่ละสถาบัน ซึ่งจะทําให้ สถาบันต่างๆสามารถพัฒนาหลักสูตรได้อย่างหลากหลาย แต่มีมาตรฐานผลการเรียนรู้ของหลักสูตรใน สาขา/สาขาวิชาและระดับคุณวุฒิเดียวกันที่เทียบเคียงกันได้ นอกจากนี้มาตรฐานคุณวุฒิของสาขา/สาขาวิชายังได้กําหนดเงื่อนไข ข้อแนะนํา ในการบริหาร จัดการการเรียนการสอนที่สถาบันอุดมศึกษาต้องนําไปปฏิบัติเพื่อให้หลักประกันว่า หลักสูตรที่จัดการ เรียนการสอนสามารถบรรลุมาตรฐานผลการเรียนรูัที่คาดหวัง
มคอ.2 กรอบมาตรฐานคุณวุฒิกับการพัฒนารายละเอียดของหลักสูตร ซึ่งหมายถึงเล่มหลักสูตรของแต่ละหลักสูตร คําอธิบายภาพรวมของ การจัดหลักสูตร การจัดการเรียนการสอนที่จะทําให้บัณฑิตบรรลุผลการเรียนรู้ของหลักสูตรนั้นๆ โดยจะถ่ายทอดผลการเรียนรู้ที่คาดหวังของบัณฑิตที่กําหนดไว้ในกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติและมาตรฐานคุณวุฒิสาขา ไปสู่การปฏิบัติในหลักสูตรซึ่งแต่ละสถาบันอุดมศึกษาสามารถ บรรจุเนื้อหาวิชาเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่กําหนดไว้ได้อย่างอิสระ เหมาะสม ตรงกับความต้องการ หรือเอกลักษณ์ของสถาบันฯ โดยคณาจารย์ผู้สอนจะต้องร่วมมือกันวางแผนและจัดทํารายละเอียด ของหลักสูตร
มคอ.3 การพัฒนารายละเอียดของรายวิชา เริ่มจากการจัดทำมคอ.2 ต้องเริ่มต้นจากการจัดทำ "อัตลักษณ์ของบัณฑิต" และ มาตรฐานการเรียนรู้กลาง ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัย แล้วนำไปจัดทำ Curriculum Mapping แต่ละหลักสูตร จากนั้นย้อนกลับไปที่แต่ละหลักสูตร เพื่อออกแบบการเรียนการสอนในแต่ละรายวิชาที่มีคำอธิบายรายวิชา สอดรับขึ้นไปถึงมาตรฐานการเรียนรู้กลาง ซึ่งความยากอยู่ที่การนำ มคอ.2 (ตัวอย่างของ CS) ที่มีกรอบเป็น คำอธิบายรายวิชา ไปจัดทำมคอ.3 ที่มีรายละเอียดในการจัดการเรียนการสอนแต่ละหลักสูตรอาจารย์ผู้สอนจะต้องส่ง มคอ.3 ก่อนเปิดภาคเรียน
มคอ.4 การพัฒนารายละเอียดของประสบการณ์ภาคสนาม ดำเนินการเช่นเดียวกับมคอ.3 แต่รายละเอียดของประสบการณ์ภาคสนาม (Field Experience Specification) หมายถึง ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการในรายวิชาหรือกิจกรรมที่นักศึกษาจะต้อง ออกฝึกงาน ออก ฝึกภาคสนาม หรือสหกิจศึกษา ซึ่งจะต้องวางแผนให้สอดคล้องและเป็นไปตามที่กําหนดไว้ใน รายละเอียดของหลักสูตร โดยจะกําหนดไว้อย่างชัดเจนถึงวัตถุประสงค์และรายละเอียดของการ ดําเนินการของกิจกรรมนั้น ๆ ตลอดจนความรู้ความเข้าใจที่นักศึกษาจะได้รับจากการออกฝึก มีการกําหนดกระบวนการหรือวิธีการในการปลูกฝังทักษะต่าง ๆ ตลอดจนคุณลักษณะอื่น ๆ ที่นักศึกษา จะได้รับการพัฒนาให้ประสบความสําเร็จตามจุดมุ่งหมาย รวมทั้งเกณฑ์การวัดและประเมินผล นักศึกษา และการประเมินการดําเนินการตามรายละเอียดของประสบการณ์ภาคสนาม
มคอ.5 การรายงานผลการดำเนินการของรายวิชา รายงานผลการดําเนินการของรายวิชา (Course Report) หมายถึง รายงานผลการจัดการเรียนสอนของอาจารย์ผู้สอนแต่ละรายวิชาเมื่อสิ้นภาคการศึกษาเกี่ยวกับภาพรวมของการจัดการเรียนการสอนในรายวิชานั้น ๆ ว่าได้ดําเนินการสอนอย่างครอบคลุมและเป็นไปตามแผนที่วางไว ้ในรายละเอียดของรายวิชาหรือไม่ และหากไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ต้องให้เหตุผลและ ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนของรายวิชาดังกล่าวในครั้งต่อไป รายงานนี้จะครอบคลุมถึงผลการเรียนของนักศึกษา จํานวนนักศึกษาตั้งแต่เริ่มเรียนจนสิ้นสุด ปัญหาในด้านการบริหารจัดการและสิ่งอํานวยความสะดวก การวิเคราะห์ผลการประเมินรายวิชาของนักศึกษา/หัวหน้าภาค/หรือผู้ประเมินภายนอก รวมทั้งการสํารวจความคิดเห็นของผู้ใช้บัณฑิต การวางแผนและให้ข้อเสนอแนะต้อผู้ประสานงานหลักสูตรเพื่อปรับปรุงและพัฒนารายวิชา
มคอ.6 การรายงานผลการดำเนินการของประสบการณ์ภาคสนาม รายงานผลการดำเนินการของประสบการณ์ภาคสนาม (Field Experience Report) หมายถึง รายงานผลการฝึกงาน ออกฝึกภาคสนาม หรือ สหกิจศึกษา ว่าได้บรรลุผลการเรียนตามแผนที่วางไว้ในรายละเอียดของประสบการณ์ภาคสนามหรือไม่ และหากไม่เป็นไปตามแผนต้องให้เหตุผลและข้อเสนอแนะในการปรับปรุงการฝึกงาน ออกฝึกภาคสนาม หรือ สหกิจศึกษาในครั้งต่อไป รายงานนี้จะครอบคลุมถึงการฝึกประสบการณ์ภาคสนามตั้งแต่เริ่มจนสิ้นสุด ปัญหาด้านการบริหารจัดการและสิ่งอำนวยความสะดวก การวิเคราะห์ผลการประเมิน การฝึกของนักศึกษา/อาจารย์ผู้รับผิดชอบ/พนักงานพี่เลี้ยง
มคอ.7 การรายงานผลการดำเนินการของหลักสูตร การรายงานผลประจำปีโดยผู้ประสานงานหลักสูตรหรือผู้รับผิดชอบหลักสูตรเกี่ยวกับผลการบริหารจัดการหลักสูตร เช่น ข้อมูลทางสถิติของนักศึกษาที่เรียนในหลักสูตร สภาพแวดล้อมภายในและภายนอกสถาบันที่มีผลกระทบต่อหลักสูตร สรุปภาพรวมของรายงานผลของรายวิชาในหลักสูตร ประสิทธิภาพของการสอนในมาตรฐานผลการเรียนรู้แต่ละด้าน การเทียบเคียงผลการดำเนินการกับมาตรฐานอื่นๆที่มี สรุปผลการประเมินหลักสูตรจากความเห็นของผู้สำเร็จการศึกษา ผู้ใช้บัณฑิต ตลอดจนข้อเสนอในการวางแผนและพัฒนา รวมทั้งแผนปฏิบัติการในการพัฒนาคณาจารย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง การรายงานผลดังกล่าวจะส่งไปยังหัวหน้าภาควิชา/คณบดี และใช้เป็นข้อมูลในการศึกษาด้วยตนเองเพื่อปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรเป็นระยะๆ และเป็นข้อมูลในการรับรองหลักสูตรจากผู้ประเมินภายนอกได้ด้วย
สำหรับมทร.พระนคร ผู้สอนทุกท่านจะต้องเข้าไปกรอกข้อมูล มคอ.ต่างๆในระบบสารสนเทศ ผ่านช่องทาง http://reg.rmutp.ac.th/registrar/home.asp ที่กำหนดให้ทั้งระบบดังกล่าวได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้สอนสะดวกยิ่งขึ้น โดยมีการเชื่อโยงข้อมูลต่างอาทิเช่น ผลการเรียนรู้ระดับรายวิชา ผลการประเมินผู้สอน ระดับผลการเรียนของนักศึกษา ตั้งแต่ มอค.2 จนกระทั่งถึง มคอ.7

 

การเทียบคุณสมบัติอาจารย์ คุณวุฒิตรงหรือสัมพันธ์กับสาขาวิชา

จากข้อกำหนดในการจัดทำหลักสูตรตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร 2558 ที่ระบุให้อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรต้องมีคุณวุฒิตรงหรือสัมพันธ์กับสาขาวิชาที่จัดการเรียนการสอนนั้น ทำให้เกิดข้อสงสัยบ่อยครั้งว่าสาขาไหนสัมพันธ์กันอย่างไรใช้แทนกันได้มั้ย วันนี้เรามีคำตอบให้ท่าน ด้วยการเทียบคุณสมบัติอาจารย์ คุณวุฒิตรงหรือสัมพันธ์กับสาขาวิชา ซึ่งหมายถึงคุณวุฒิที่กำหนดไว้ในมาตรฐานสาขาวิชาที่สกอ.ประกาศไปแล้ว แต่กรณียังไม่มีการประกาศ ให้อ้างอิงจากกลุ่มสาขาวิชาเดียวกันในตารางของ ISCED (International Standard Classification of Education) http://unesdoc.unesco.org/images/0023/002350/235049e.pdf

ทั้งนี้อาจารย์ประจำหลักสูตร มีภาระหน้าที่ในการบริหาร และพัฒนาหลักสูตร และการเรียนการสอน (ตั้งแต่การวางแผน การควบคุมคุณภาพ การติดตามประเมินผล และการพัฒนาหลักสูตร) ต้องอยู่ประจำหลักสูตรตลอดระยะเวลาที่จัดการศึกษา เป็นอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรเกินกว่า 1 หลักสูตรในเวลาเดียวกันไม่ได้   (ยกเว้น เป็นหลักสูตรพหุวิทยาการ หรือสหวิทยาการ ให้เป็นอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรได้อีก 1 หลักสูตร)

กรณีมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ไม่สามารถหาอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรได้ครบตามจำนวน ทางสถาบันอุดมศึกษาต้องเสนอจำนวนและคุณวุฒิของอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรที่มีนั้นให้คณะกรรมการการอุดมศึกษาพิจารณาเป็นรายกรณี

การพัฒนามาตรฐานผลการเรียนรู้ (Learning Outcomes)

จากการเข้าร่วมประชุมสัมมนา เรื่อง “การพัฒนา มาตรฐานผลการเรียนรู้ (Learning Outcomes) และนำสู่การปฏิบัติที่สอดคล้องตาม กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ” และบรรยายพิเศษ เรื่อง มาตรฐาน ผลการเรียนรู้ : ความสำคัญ แนวทางการเขียนที่สะท้อนคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ ในวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๖๐ โดยรองศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต ทิพากร รองเลขาธิการ คณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นประธานเปิดการ แนวทางการส่งเสริมคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา และการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการรับทราบหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษา ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพมหานคร รองเลขาธิการ กกอ. กล่าวตอนหนึ่งว่า “นับแต่ได้มีประกาศ กระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๒ และประกาศคณะกรรมการการอุดมศึกษา เรื่อง แนวทางการปฏิบัติตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๒ ที่มุ่งเน้นมาตรฐานผลการเรียนรู้ (Learning Outcomes) ของผู้เรียน เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาใช้เป็นแนวทางในการ พัฒนาหรือปรับปรุงรายละเอียดของหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถปฏิบัติตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ ระดับอุดมศึกษาแห่งชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ” โดยได้เชิญ ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากสหภาพยุโรปและประเทศ ออสเตรเลียมาร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเทียบเคียงแนวคิดและแนวปฏิบัติ โดยมุ่งให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถผลิตบัณฑิตให้มี คุณลักษณะตามเจตนารมณ์ของกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ ระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษายังได้ติดตามพัฒนาการและแนวโน้มการดำเนินการตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิอย่างสม่ำเสมอ รองเลขาธิการกกอ. กล่าวต่อไปว่า แนวโน้มการจัดการศึกษาในปัจจุบัน มุ่งเน้นการเทียบเคียงผลการเรียนรู้ของผู้สำเร็จการศึกษาในระดับต่างๆ การมี Regional Qualification Framework ตลอดจน การสร้างระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องเกิดความเชื่อมั่นในการจัด การศึกษาที่เน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสำคัญ

๑) การส่งเสริมความร่วมมือและเทียบเคียงการประกันคุณภาพการศึกษา และกรอบมาตรฐานคุณวุฒิในระดับภูมิภาค

๒) การตั้งเป้าหมาย Education 2030

๓) ความท้าทายในการเพิ่มขีดความสามารถของสถาบันและคณาจารย์ใน การสร้างวัฒนธรรมคุณภาพในการจัดการศึกษา

๔) การมุ่งเน้นการใช้การจัดการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ (Outcomes Based Education : OBE) ในการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนมี Learning Outcomes ตาม TQF

๕) การเน้นการประเมินผลการเรียนรู้ที่เชื่อถือได้ และ

๖) การประกันคุณภาพในระดับหลักสูตร

ในการนี้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา จึงพยายามสร้างความเข้าใจที่ตรงกันเกี่ยวกับจัดระบบการ เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษานำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาอาจารย์ และการพัฒนาระบบสารสนเทศ การรับทราบหลักสูตรตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาเสนอหลักสูตรต่อ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาด้วยระบบออนไลน์ทดแทนการเสนอด้วยเอกสาร

-เริ่มใช้ มคอ.2 ระบบออนไลน์ สิงหาคม 2561

-ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จของการบริหารหลักสูตร อาทิ การออกแบบหลักสูตร PLOs ผลลัพธ์การเรียนรู้ของหลักสูตร ไม่ควรมีเกิน 11 ตัว, CLO ซึ่งผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับรายวิชาจะต้องถูกออกแบบโดยอาจารย์ประจำหลักสูตร ส่วนผู้สอนจัดทำ Course Design, การจัดการเรียนการสอน กลยุทธ์การสอน การวัดประเมินผลการเรียนการสอนฯลฯ

-แนวทางในการพัฒนาอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา เพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้อาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษากำหนดให้มี 3 องค์ประกอบ คือด้านองค์ความรู้ (Knowledge) ด้านสมรรถนะ(Competencies) และด้านค่านิยม(Values)

องค์ประกอบที่ 1 ด้านองค์ความรู้ (Knowledge) ประกอบด้วย 2 มิติ

1.1 ความรู้ในศาสตร์สาขาวิชา

1.2 ความรู้ในศาสตร์การสอนและการเรียนรู้

องค์ประกอบที่ 2 ด้านสมรรถนะ(Competencies) ประกอบด้วย 4 มิติ

2.1 ออกแบบและวางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพ

2.2 ดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2.3 เสริมสร้างบรรยากาศการเรียนรู้และสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียน

2.4 วัดและประเมินผลการเรียนรู้ พร้อมทั้งสามารถให้ข้อมูลป้อนกลับอย่างสร้างสรรค์

องค์ประกอบที่ 3 ด้านค่านิยม(Values) ประกอบด้วย 2 มิติ

3.1 คุณค่าในการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์ และการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

3.2 ธำรงไว้ซึ่งจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพอาจารย์

จากคุณภาพการจัดการเรียนการสอนที่กล่าวมานั้น กำหนดให้มีระดับของคุณภาพของแต่ละองค์ประกอบจำนวน 4 ระดับ ซึ่งแสดงให้เห็นพัฒนาการของอาจารย์ด้านการจัดการเรียนการสอนโดยใน 4 ระดับมีดังนี้

ระดับที่ 1         เป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์ของตนและประยุกต์ใช้ได้ มีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์การเรียนรู้เบื้องต้น สามารถออกแบบกิจกรรม ใช้ทรัพยากรและสื่อการเรียนรู้โดยคำนึงถึงผู้เรียนและปัจจัยที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ สามารถวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน นำผลประเมินมาใช้ปรับปรุงพัฒนาการจัดการเรียนรู้ พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เปิดใจรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพของอาจารย์ขององค์กร

ระดับที่ 2         เป็นผู้มีคุณภาพการจัดการเรียนสอนระดับที่ 1 ที่มีความรู้ลึกในศาสตร์ของตน และติดตามความก้าวหน้าของความรู้ในศาสตร์อย่างสม่ำเสมอ มีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์การเรียนรู้ สามารถจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้เรียน กำกับดูแลและติดตามผลการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างเป็นระบบ ให้คำปรึกษาชี้แนะแก่เพื่อนอาจารย์ในศาสตร์ได้ และส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพอาจารย์ภายในองค์กร

ระดับที่ 3         เป็นผู้มีคุณภาพการจัดการเรียนสอนระดับที่ 2 ที่เชี่ยวชาญในศาสตร์ของตน ศาสตร์การเรียนรู้และการจัดการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ นำผลการวิจัยในชั้นเรียนมาพัฒนาการจัดการเรียนรู้ เป็นพี่เลี้ยงและผู้ชี้แนะในระดับองค์กรด้านการจัดการเรียนรู้ และนโยบายด้านจรรยาบรรณวิชาชีพอาจารย์

ระดับที่ 4         เป็นผู้มีคุณภาพการจัดการเรียนสอนระดับที่ 3 ที่เป็นผู้นำในศาสตร์ของตน ศาสตร์การเรียนรู้และการจัดการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ เป็นที่ยอมรับทั้งภายในและภายนอกองค์กร มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและกลยุทธ์ในการพัฒนาองค์ความรู้ และการจัดการเรียนรู้ในระดับชาติและนานาชาติ เป็นผู้นำเชิงนโยบายด้านจรรยาบรรณวิชาชีพอาจารย์

---------------------------