Monthly Archives: March 2011

"ครู - อาจารย์" ที่ดีเป็นอย่างไร?

"ครู - อาจารย์" ที่ดีเป็นอย่างไรจากบทความเรื่อง What makes a good teacher เป็นบทความที่บอกถึงลักษณะของการเป็นครู-อาจารย์ที่ดี ซึ่งสามารถนำมาพัฒนา ประยุกต์ใช้สำหรับการเป็น Human Resouce ที่ดีได้อีกด้วย เพราะอาชีพทั้ง 2 อาชีพนี้ต้องทำงานเกี่ยวกับบุคลากรตลอดเวลา การเป็นครูที่ดีมีหลักการ ดังนี้

1.                   ครูต้องเป็นคนที่มีอารมณ์ขันและยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่เสมอ
เป็นการสร้างไมตรีโดยที่ไม่ต้องลงทุนอะไร แต่ได้ผลอย่างมากมายได้ความมีมิตรไมตรี ผู้เรียนจะมีขวัญกำลังใจที่ดี 

2.       มีความยุติธรรมและวินัย
ครูต้องยุติธรรมต่อลูกศิษย์  ไม่ควรเลือกที่รักมักที่ชัง

3.       ต้องเฉลียวฉลาดรู้เรื่องวิชาการเป็นอย่างดี
ครู คือ กูรู(ผู้รู้) รู้ในที่นี้ยังหมายถึงจะต้องทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ มุ่งเน้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดี
ได้อย่างถาวร โดยอาศัยการเน้นย้ำ ให้ความช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อแก่ศิษย์ 

4.       ต้องมีความเมตตากรุณา และอดทน
เด็กทุกคนแตกต่างกันในภูมิหลังของ ครอบครัว การอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ ฐานะทางการเงิน ฯลฯ ในความแตกต่างเหล่านี้ครู ต้องอาศัยความอดทน อดกลั้น เพื่อพัฒนาให้เด็กมีความเจริญงอกงาม ทั้งกาย วาจา ใจ

5.       สร้างตัวอย่างที่ดี
ดังคำที่ว่า "ครูคือ แม่พิมพ์ของชาติ"  ครูต้องเป็นตัวอย่างที่อยู่ในใจของเด็ก เป็นแบบอย่างที่ดีในทุก ๆ ด้านให้เด็กยึดถือ, ปฏิบัติ

6.       เข้าใจและยอมรับในความแตกต่างของมนุษย์ทุกคนในฐานะที่เป็นปัจเจกบุคคล
ครูต้องเข้าใจว่าความแตกต่างไม่ใช่ ความแตกแยก หน้าที่ครูต้องชี้ให้เห็นถึงแนวคิด เพื่อผู้เรียนจะได้วิเคราะห์ เปรียบเทียบ และตัดสินใจเลือกทางเลือกที่ดีในชีวิตของเขา  ครูต้องยอมรับในความสามารถของลูกศิษย์ทุกคน แต่ละคนที่มีอยู่ รู้จักชมเชย
และให้กำลังใจ

7.       พร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ที่มีความทุกข์ยากลำบากใจ
ครูต้องเป็น Coach  ที่ดี เป็นผู้ให้คำชี้แนะสั่งสอน เมื่อลูกศิษย์ หรือแม้กระทั่งบุคคลอื่นที่มีปัญหา ทั้งนี้เพราะครูคือผู้รู้ ผู้ซึ่งบุคคลทั่วไปให้การยอมรับนับถือ

8.       อย่ายอมแพ้ จงเชื่อมั่นในทุกสิ่ง
ต้องเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเราเอง และความสามารถในตัวของบุคคลอื่น บางที่เราต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กับบุคคลอื่น เมื่อเราแก้ปํญหาไม่ได้ จะต้องมีคนที่แก้ได้ เพราะปัญหาทุกอย่างมีทางแก้เสมอ

9.       ให้รางวัลเป็นสิ่งจูงใจ และให้คำชมสม่ำเสมอ ถูกแล้ว ดีมาก เยี่ยม!......
ครูต้องคอยให้กำลังใจลูกศิษย์ แต่ละคำชมที่ออกมาอย่างจริงใจ จะเป็นพลังอันมหาศาลต่อศิษย์ 

ครูต้องรับภาระอันหนักอึ้ง โดยต้องทำหน้าที่ เป็นตัวกลางเสริมสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในพฤติกรรมของเด็ก ทั้งความรู้ คู่คุณธรรม จริยธรรม และค่านิยม เพื่อให้เด็ก เป็นคนดีในสังคม มีใจรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์

ก่อนจากกันในวันนี้ ดิฉันขอฝากคำคมไว้ว่า

คนฉลาดย่อมไม่นำ  แต่ตาม       ย่อมไม่พูด  แต่ฟัง

นิทานเรื่อง ถ้วยเก่ากับคนแก่

ดิฉันมีเรื่อง ถ้วยเก่ากับคนแก่ มาเล่าให้ฟัง  ครั้งหนึ่ง มีบ้านหลังหนึ่งมีสามี ภรรยา ลูกชาย และอาม่าแก่ๆคนหนึ่ง อาม่าแก่มากและไม่แข็งแรง มีอาการมือสั่นตลอดเวลา ทำให้ถือของลำบาก โดยเฉพาะ เวลาที่อาม่าทานข้าวร่วมกับครอบครัว อาม่าจะถือชามข้าวได้ลำบากและทำข้าวหกลงบน โต๊ะตลอดเวลา  ลูกสะใภ้อาม่ารำคาญกับเรื่องนี้มาก จึงปรึกษากับสามี ว่าเวลาอาม่า ทานข้าวเขาจะทำข้าวหกเกลื่อนโต๊ะ นางทนไม่ได้เพราะมันทำให้รู้สึกกินข้าวไม่ลง สามีก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะเขาไม่สามารถทำให้อาม่าหายมือสั่นได้  อีกไม่กี่วัน ลูกสะใภ้ก็พูดกับสามีเรื่องนี้อีก ว่าจะไม่แก้ไขอะไรเลยหรือ นางทนไม่ได้แล้ว หลังจากโต้เถียงกันไปสักพัก สามีก็ยอมตามภรรยา โดยเมื่อ ถึงเวลาทานข้าว เขาจะจัดให้แม่นั่งแยกโต๊ะต่างหากเพียงคนเดียว และใช้ถ้วยข้าว ถูกๆบิ่นๆ เพราะอาม่าทำถ้วยแตกบ่อยๆ  เมื่อถึงเวลาทานข้าว อาม่าเศร้าใจมาก เพราะอาม่าก็ไม่มีปัญญาจะแก้ไข อะไรได้ นางนึกถึงอดีต ที่นางเลี้ยงดูลูกชายด้วยความรักเสมอมา นางไม่เคยบ่นต่อ ความเหนื่อยยาก และเวลาที่ลูกชายเจ็บไข้นางก็ดูแลอย่างดี เวลาลูกชายมีปัญหาก็ ช่วยแก้ไขทุกครั้ง แต่ตอนนี้อาม่ารู้สึกว่าถูกทิ้ง อาม่าเสียใจมาก  หลายวันผ่านไป อาม่ายังเศร้าใจ รอยยิ้มเริ่มจางหายไปจากใบหน้าของเขา หลานชายน้อยๆของอาม่าซึ่งเฝ้าดูทุกอย่างมาตลอดก็เข้ามาปลอบใจและบอกคุณย่า ว่า เขารู้ว่า คุณย่าเสียใจมากที่พ่อแม่ของเขาทำแบบนี้ แต่หลานชายมีวิธีที่จะให้อา ม่ากลับไปทานข้าวรวมกับทุกคนได้  ความหวังเริ่มเกิดขึ้นในหัวใจของหญิงชรา จึงถามหลานชายว่าจะทำอย่าง ไร หลานก็ตอบว่าเย็นนี้ให้คุณย่าแกล้งทำชามของคุณย่าตกแตกเหมือนกับไม่ได้ ตั้งใจ อาม่าได้ฟัง ก็แปลกใจ แต่เด็กน้อยยืนยันว่า ให้คุณย่าทำตามที่บอก ที่เหลือปล่อย เป็นหน้าทีของหลานเอง  และแล้วเมื่อได้เวลาอาหารเย็น หญิงชราก็ตัดสินใจลองทำตามที่หลานพูด เพื่อจะดูว่าหลานมีแผนอะไร หญิงชรายกถ้วยข้าวเก่าที่เต็มไปด้วยรอยบิ่นขึ้นแล้ว แกล้งปล่อยลง บนพื้นเหมือนกับหลุดมือ ถ้วยข้าวเก่าๆแตกกระจายยับเยิน  ลูกสะใภ้เห็น ถ้วยแตกเสียหายก็ลุกขึ้นเตรียมจะด่าว่าอาม่า แต่ลูกชายตัวน้อยของนางกลับชิงพูด ขึ้นมาก่อนว่า  “คุณย่าทำไมทำชามแตกหมดเลยล่ะครับ หนูกะว่าจะเก็บไว้ให้คุณแม่ใช้ตอนแก่นะ แล้วคุณแม่จะได้ใช้ชามเก่าที่ไหนกันล่ะเนี่ย…”  ลูกสะใภ้เมื่อได้ยินลูกชายพูดเช่นนี้ก็หน้าซีดและด่าอาม่าไม่ออกอีก ต่อไป นางรู้ทันทีว่าสิ่งที่นางทำจะเป็นตัวอย่างให้ลูกชายของนางปฏิบัติเมื่อนาง แก่ตัวลง นางรู้สึกอับอายและสำนึกกับการกระทำของตัวเอง ตั้งแต่นั้นมา ทุกคนก็ทานข้าวรวมกันมาตลอด นิทานเรื่องนี้สอนใจเกี่ยวกับ สิ่งที่เราทำจะเป็นตัวอย่างให้ลูกเราเองได้เรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผิดหรือถูก เพราะฉะนั้นการกระทำของเรา ก็ส่งผลกลับมาให้เราเองได้พบเจอ เรื่องถ้วยเก่ากับคนแก่ ให้ข้อคิดที่ดีเลยทีเดียว

หลักการคิด เพื่อพิชิตเป้าหมาย

วันนี้ดิฉันขอนำเสนอ หลักการคิดเพื่อพิชิตเป้าหมาย แต่ละองค์กรย่อมมีการการวางเป้าหมายกันไว้แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้องค์กรไปถึงเป้าหมายนั้น ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และประสบความสำเร็จได้เร็วที่สุด แต่สำหรับนักบริหารแล้ว การคิดเพื่อพิชิตเป้าหมายให้สำเร็จนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย เพราะคำว่า บริหาร นั่นหมายความว่า การบริหารจัดการทั้งหมด ทั้งเกี่ยวกับตัวพนักงาน และรายละเอียดของงาน ซึ่งผู้บริหารที่ดีต้องให้ความสำคัญแม้กระทั่งเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วยเสมอ จึงจะถือว่าเป็นผู้บริหารที่ดี
แนวทางหลักการคิด เพื่อพิชิตเป้าหมาย มีหลักการดังต่อไปนี้

1. การคิดที่เป็นระบบและมองให้ทะลุ เพื่อจะได้สร้างและรักษาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการที่จะทำได้นั้น ผู้ประกอบการต้องขจัดความคิดเดิมที่ว่า ตนเองสามารถมองภาพธุรกิจได้ และสามารถทำได้เองโดยไม่ต้องมีรูปแบบที่แน่นนอน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ผู้ประกอบการหลายท่านขาดความรู้ในเรื่องของกระบวนการทางธุรกิจว่าจะสามารถทำในภาพที่ตนเองคิดอยู่อย่างนั้นได้อย่างไร แม้การทำกิจกรรมทางธุรกิจของ SME ในช่วงเริ่มต้นไม่ใช่เรื่องยากเมื่อดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจที่มีมิติมากขึ้นจะต้องอาศัยวิธีและกระบวนการคิดและการจัดการที่เป็นระบบเพื่อให้สามารถทำดำรงธุรกิจให้ยั่งยืนได้
2. รู้จักการเลียนแบบและมองให้เป็น หากพบว่ารูปแบบธุรกิจไหนดี ก็ควรจะมาใช้โดยไม่ต้องคิดใหม่ ถึงแม้จะเป็นการลอกเลียนความสำเร็จของคนอื่นแล้วนำมาสร้างสิ่งที่แตกต่างและโดดเด่น แต่ไม่ใช่การลอกเลียนแบบสินค้า ซึ่งเราอาจจะสามารถมองเห็นการเลียนแบบรูปแบบธุรกิจได้มากมายในธุรกิจ แฟรนไชส์และในธุรกิจขายตรง
3. คิดถึงความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ โดยต้องตอบให้ได้ว่าทำไมลูกค้าจึงมาซื้อสินค้าหรือใช้บริการ ก่อนที่จะคิดแต่ว่าเราต้องการขายสินค้าอะไร
4. เข้าใจการตลาดอย่างถ่องแท้ให้ได้ โดยต้องมองว่า การสร้างแบรนด์เป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จที่ยั่งยืน เพราะแบรนด์ คือบันไดสู่การเติบโตของธุรกิจ
5. สร้างเครือข่ายที่ดี การมีเครือข่ายที่ดีนั้นเกิดประโยชน์ได้หลายทางทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเน้นที่การช่วยเหลือกันละกันเป็นหลัก ส่วนผลประโยชน์ที่จะได้รับจากเครือข่ายนั้น เป็นผลพวงที่จะเกิดขึ้นตามมา
6. ยอมรับการเปลี่ยนแปลง และการยอมเปิดโลกทัศน์ใหม่ ด้วยการพยายามมองหาสิ่งใหม่ ๆ เพื่อรองรับอนาคต และท้าทายตัวเอง ไม่กอดแน่นอยู่กับสิ่งเดิม ๆ ที่คิดว่าดีอยู่แล้ว หรืออ้างเงื่อนไขข้อจำกัดมากมาย ถ้ามีความจำเป็นต้องหาผู้ร่วมทุนก็ต้องทำโดยไม่เสียดายหรือยึดติด เพื่อจะนำเงินมาใช้ในสิ่งที่ฝันหรือธุรกิจที่ใหญ่กว่าเดิม เพราะทางธุรกิจต้องมีการแข่งขัน และความสำเร็จเมื่อวานไม่ได้บอกอะไรไปมากกว่ารากฐานที่ดี
7
. ใช้เงินอย่างถูกต้อง ยึดอยู่กับธุรกิจหลักให้มั่นคงก่อน เพราะโดยทั่วไปเมื่อมีรายได้จากการประกอบธุรกิจแรกหรือดำเนินการไปซักระยะพอเห็นโอกาสในธุรกิจหรือโอกาสในเรื่องอื่น ๆ ที่ดีกว่าก็ดึงเงินจากธุรกิจเก่าออกไปลงทุนในธุรกิจใหม่เสียจนหมด แม้ว่าการลงทุนในสิ่งที่ใหม่ที่เห็นโอกาสอยู่นั้นไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องทำให้เป็น ต้องแยกระบบการเงินออกเป็นสัดส่วน ไม่ปะปนกันเพื่อไม่ให้ธุรกิจที่ดีต้องหยุดการพัฒนาหรือเสียหาย หากอีกธุรกิจล้มเหลวนั่นเอง

บัณฑิตจบใหม่

เด็กจบใหม่ในปัจจุบันได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภายในองค์กรก็เต็มไปด้วยเด็กจบใหม่ด้วยเช่นกัน เด็กจบใหม่ คือผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ทำงานมาก่อน แต่เมื่อต้องมาเข้าทำงานภายในหน่วยงานที่มีทั้งแรงกดดัน รวมทั้งความรับผิดชอบในหน้าที่การงานที่เด็กจบใหม่จะละเลยไม่ได้ จึงจำเป็นต้องมีการสอนงานในระยะแรก ๆ อยู่ไม่น้อย ที่จะทำให้เด็กกลุ่มนี้ได้โชว์ความสามารถออกมาได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเด็กใหม่ไฟแรงกลุ่มนี้ ก็จะเกิดการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วตามมาในเวลาเพียงไม่นาน  เมื่อกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้เข้ามาร่วมทำงานภายในองค์กรเป็นจำนวนมากขึ้นแล้ว และได้เริ่มก้าวเข้ามาเป็นผู้จัดการหรือผู้บริหารตามลำดับ ซึ่งสิ่งที่ต้องรับผิดชอบย่อมมีสูงขึ้นตามมาด้วย ต้องบริหารทั้งเรื่องงานและเรื่องคน โดยเรื่องงานที่ทำนั้นก็มีความสลับซับซ้อนแถมยังต้องทำให้เสร็จเร็วขึ้น ส่วนเรื่องการบริหารคนก็มีหลายเรื่องที่น่าปวดหัว เพราะแต่ละคนมีปัญหาที่ไม่เหมือนกัน   แต่ก่อนอื่น เมื่อกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ต้องมาเจอกับผู้บริหารรุ่นเก่า (Baby Boomer Generation) ก็จะยิ่งรู้สึกว่า ทำไมผู้บริหารไม่ค่อยเข้าใจคนรุ่นใหม่อย่างเราเอาซะเลย (Generation X, Generation Y) ดังนั้นการเป็นผู้บริหารรุ่นเก่าและจะต้องเข้าใจและสามารถบริหารพนักงานรุ่นใหม่ได้อย่างราบรื่นนั้น ไม่ได้ง่ายเลย แต่ก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิด หากเราศึกษาและทำความเข้าใจความคาดหวัง ค่านิยม วิถีชีวิต และแรงจูงใจของพนักงานรุ่นใหม่ ซึ่งพอจะสรุป ได้ดังนี้

1. ต้องให้งานที่ท้าทายมีเป้าหมายที่ชัดเจน เพราะ Gen X ส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง และชอบแสดงความสามารถให้เป็นที่ประจักษ์

2. ให้มีโอกาสได้ทำงานที่หลากหลาย เพราะคนกลุ่มนี้เป็นคนในยุคที่สามารถทำงานหลาย ๆ อย่างได้ในเวลาเดียวกัน มีความกระตือรือร้น และมีความสนใจที่หลากหลาย เช่น อาจโทรศัพท์ในขณะที่ค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ดังนั้น ไม่ควรมองว่าเป็นคนจับจด

3. ในการมอบหมายงาน ต้องบอกภาพรวม เหตุผลของงาน และความสำคัญของงานนั้น ๆ ไม่ใช่เพียงแค่บอกว่า ทำอะไร เมื่อไร เพื่อเขาจะได้มีส่วนร่วมในการแสดงบทบาทสำคัญต่องานดังกล่าว

4. การใช้อารมณ์ความรู้สึกกับคนรุ่นใหม่ในการสร้างความผูกพันต่องานมีบทบาทสำคัญ เพราะเขาจะรู้สึกถึงการได้รับการยอมรับ การรับฟัง เพื่อเกิดความมุ่งมั่นที่จะทุ่มเทพลังให้กับงานที่ได้รับมอบหมาย

5. การสร้างบรรยากาศในการทำงานให้สนุก มีสีสัน มีชีวิตชีวา ซึ่งในบางครั้งต้องมีการเปิดโอกาสให้พนักงานทำกิจกรรมที่สนุกสนานร่วมกับผู้บริหารบ้าง

นอกจากนี้ ยังมีผลการสำรวจเพิ่มเติมว่าผู้บริหารที่ Gen Y ชื่นชอบนั้น ควรมีคุณลักษณะ ดังนี้ คือ เป็นคนที่เปิดใจกว้าง รับฟังความคิดเห็น เป็นคนรู้จริงในงาน และคิดเป็นระบบ ไม่ถือตนว่าเป็นหัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชาที่มีหน้าที่สั่งการ แต่ควรมีบทบาทในฐานะเป็นครู เป็นพี่เลี้ยงในการสอนงาน และที่สำคัญต้องเข้าใจและเคารพในวิถีชีวิต ค่านิยม วิธีคิดที่แตกต่างของคนรุ่นใหม่ด้วย

 ก่อนจากกันในวันนี้ ดิฉันขอฝากคำคมไว้ว่า

ถ้าอยากจะประสบความสำเร็จต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง

นิทาน แม่กวางกับลูก

ดิฉันมีเรื่อง  แม่กวางกับลูก มาเล่าให้ฟัง  เเม่กวางพาลูกน้อยออกไปหาอาหารที่ชายป่า ครั้นพอ ได้ยินเสียงหมาล่าเนื้อ เเม่กวางก็รีบชวนลูกวิ่งหนีเตลิด เข้าป่าทันที เเม่กวางจึงถามเเม่ว่า"ทำไมเเม่ต้องกลัวหมาล่าเนื้อด้วยล่ะจ๊ะ ในเมื่อเเม่ ตัวโตกว่า ว่องไวกว่า เเล้วก็ยังมีเขาเเหลมๆ ที่เจ้าหมา ไม่มีอีกด้วย" เเม่กวางฟังเเล้วก็ถอนใจเฮือกหนึ่งก่อนจะบอกลูก ตามตรงว่า "เเม่ก็ไม่รู้ว่าทำไมต้องกลัวมัน เเต่เห็นสัตว์อื่นๆ ก็กลัวมันนะลูก เเค่ได้ยินเสียงมันเห่ามาเเต่ไกลก็ต้องวิ่ง ทุกทีเลยล่ะจ้ะ"

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  คนที่ไม่เคยคิดสู้ ย่อมมีเเต่ความกลัวตลอดไป

ผู้นำ 7 ประเภท

David Rook และ William Torbert ได้จำแนกประเภทของผู้นำไว้ 7 ประเภท โดยมุ่งเน้นเรื่อง คุณลักษณะและแนวทางใน การแก้ไขข้อบกพร่อง และพัฒนาจุดเด่นให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น มีประเด็นสำคัญ ดังนี้...

1.       ผู้นำประเภทนักฉวยโอกาส (Opportunist)
ผู้นำประเภทนี้มีเพียงร้อยละ 5 ของผู้นำทั้งหมด มีลักษณะเด่นคือ ยึดถือความคิดตัวเองเป็นใหญ่ จิตใจคับแคบ ไม่ไว้ใจใคร มองโลกในแง่ร้าย บ้าอำนาจ สามารถทำได้ทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง การยอมรับ และผลประโยชน์ มองเพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง และลูกค้าเป็นเสมือนเครื่องมือเพื่อหาประโยชน์ใส่ตัวอยู่ตลอดเวลา ผู้นำประเภทนี้จะมองว่า โลกมนุษย์เต็มไปด้วยความโหดร้าย การเอารัดเอาเปรียบอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น จึงต้องใช้เล่ห์เหลี่ยมกลโกงทุกรูปแบบ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง และคิดว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้น ถูกต้องเสมอ เมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์ก็พร้อมจะโต้ตอบกลับให้รู้ดำรู้แดงกันไปข้างหนึ่ง ผู้นำประเภทนี้มักจะดำรงตำแหน่งได้ไม่นานเพราะไม่มีใครชอบ ไม่มีใครอยากให้ความร่วมมือ ยากที่จะเจริญก้าวหน้า และหาความสุขไม่ได้ในชีวิต แนวทางการแก้ไขคือ พยายามมองโลกในแง่ดี เปิดใจให้กว้าง มีความไว้เนื้อเชื่อใจ และจริงใจกับคนอื่นบ้าง ถึงแม้ว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมาเราอาจจะเจอแต่คนเอารัดเอาเปรียบ แต่ไม่จำเป็นว่า ปัจจุบันจะต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป ถ้าอยากมีความสุข มีความเจริญก้าวหน้า และได้รับการยอมรับ ก็ต้องรู้จักเปิดใจยอมรับผู้อื่นบ้าง อยากให้ผู้อื่นปฏิบัติกับเราเช่นไรเราก็ต้องทำเช่นนั้นกับเขาก่อน

2.       ผู้นำประเภทนักการทูต (Diplomat)
มีประมาณร้อยละ 5 ของผู้นำทั้งหมด ผู้นำประเภทนี้มักเป็นที่รักของลูกน้องและเจ้านาย เพราะกลุ่มนี้จะชอบสร้างภาพ ให้ตัวเองเป็นที่รักอยู่ตลอดเวลา เช่น พูดจาไพเราะ ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ไม่วิพากษ์วิจารณ์ลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน หรือเจ้านาย ดูผิวเผินอาจจะเป็นสิ่งดี แต่ในความเป็นจริง การไม่ตำหนิติเตียน หรือวิพากษ์วิจารณ์ใครเลย จะทำให้องค์กรไม่มีการพัฒนา หรือการเก็บงำข้อบกพร่องและความขัดแย้งภายในองค์กรไม่ยอมบอกให้หัวหน้ารู้ เพราะกลัวว่าภาพพจน์ตนเอง จะเสียและจะถูกมองว่าเป็นคนช่างฟ้อง จะทำให้ปัญหาบานปลาย เนื่องจากไม่ได้รับ การแก้ไขอย่างทันท่วงที ดังนั้น ผู้นำประเภทนี้เมื่ออยู่ในตำแหน่งสูง ๆ มักจะเกิดปัญหาและไม่เกิดประโยชน์ต่อองค์กรมากนัก บุคคลประเภทนี้เหมาะที่จะเป็นฝ่ายต้อนรับและให้บริการมากกว่าการบริหาร เนื่องจากไม่สามารถวิเคราะห์ปัญหาได้อย่างลึกซึ้ง เพราะสนใจแต่ภาพลักษณ์ภายนอกเท่านั้น กอปรกับมองว่าปัญหาและข้อบกพร่องเป็นเรื่องน่าอับอาย และยุ่งยากจึงชอบ หนีปัญหา เป็นต้น แนวทางการแก้ไขคือ มองปัญหาและความขัดแย้งในแง่ดี และเป็นเรื่องธรรมดา ที่จะต้องเกิดขึ้น องค์กรใดที่ไม่มีความขัดแย้ง ย่อมไม่มีการพัฒนา ดังนั้น การติเตียนและวิพากษ์วิจารณ์ในทางสร้างสรรค์ ย่อมเป็นสิ่งดี ทำให้องค์กร มีความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าต่อไป

3.       ผู้นำประเภทชำนาญการ (Expert)
มีประมาณร้อยละ 38 ผู้นำประเภทนี้จะใช้ความรู้ที่ลุ่มลึกในงานที่ตนเองรับผิดชอบทำให้ผู้อื่นยอมศิโรราบ บุคคลเหล่านี้ จะชอบใฝ่หาข้อมูล ใส่ตัวให้มากที่สุดเพื่อแสดงว่ าตนนั้นอยู่เหนือผู้อื่นและมักคิดว่า ตนเองเก่งที่สุด และไม่มีวันที่คนอื่น จะรู้เท่าทัน ทำให้บ่อยครั้งเกิดการทะเลาะกับเจ้านาย หรือเพื่อนร่วมงานที่ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ อย่างหลีกเลี่ยง เสียไม่ได้ ผู้แต่งได้ยกตัวอย่าง อาชีพที่มีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมดังกล่าว เช่น นักบัญชี นักวิเคราะห์ทางการตลาด นักวิจัยการลงทุน วิศวกรเกี่ยวกับโปรแกรมข้อมูล และที่ปรึกษาในด้านต่าง ๆ เป็นต้น ถึงแม้ว่าบุคคลเหล่านี้จะมีข้อดีคือ มีความรู้อย่างแท้จริง และสามารถพัฒนาปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้น มีความรับผิดชอบ และตั้งใจทำงานเพราะต้องการผลิตผลงานออกมาให้ดีที่สุด แต่ข้อเสียคือไม่สามารถทำงานเป็นทีมได้ งานส่วนใหญ่มักจะต้องทำคนเดียว และหน้าที่การงานก็ไม่เจริญรุ่งเรืองเท่าที่ควร เพราะชอบโอ้อวดและดูถูกคนอื่น ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญดังกล่าว จึงไม่ได้รับความช่วยเหลือและการสนับสนุนมากนัก แนวทางการแก้ไขคือ รู้จักทำงานเป็นทีม รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน อย่าดูถูกดูแคลนผู้อื่นเพราะจะเป็นการสร้างศัตรูโดยไม่รู้ตัว และให้ตระหนักว่าเหนือฟ้า ย่อมมีฟ้า อย่ามั่นใจในตัวเองมากนัก

4.       ผู้นำประเภทจัดการ (Achiever)
มีประมาณร้อยละ 30 บุคคลประเภทนี้สามารถทำงานทุกอย่างลุล่วงไปได้ด้วยดี ตามระยะเวลาที่กำหนด รับฟังความคิดเห็น ของผู้อื่น ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี รู้จักการประนีประนอม และมีมนุษยสัมพันธ์ดี ภาพรวมของบุคคลประเภทนี้ เหมือนจะดี แต่ผู้แต่งกล่าวว่า คนกลุ่มนี้ไม่ค่อยมีวิสัยทัศน์ ไม่กล้าคิดนอกกรอบ ไม่ค่อยมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ จะทำเฉพาะสิ่งที่ได้รับ มอบหมาย ถ้าเกินกว่านี้ก็จะไม่กล้าทำ เพราะกลัวการเปลี่ยนแปลงและกลัวการสูญเสียอำนาจ และมักจะมีปัญหา กับลูกน้อง ที่อยู่ในประเภท "ผู้ชำนาญการ (Expert)" เป็นต้น ผู้นำประเภทนี้ถึงแม้ว่า จะไม่เป็นตัวสร้างปัญหา แต่ก็มิได้สร้างประโยชน์ ให้กับองค์กรมากนัก แนวทางการแก้ไขคือ รู้จักคิดนอกกรอบและกล้าที่จะเสี่ยงทำสิ่งใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์

5.       ผู้นำประเภท "ข้าแน่คนเดียว" (Individualist)
มีประมาณร้อยละ 10 บุคคลประเภทนี้มีความคล้ายคลึงกับกลุ่ม "ผู้ชำนาญการ (Expert)" คือชอบทำงานคนเดียว แต่คนกลุ่มนี้จะรู้จักมองโลกสองด้านเช่น การรู้จักแยกแยะข้อมูลทางทฤษฎีกับการนำไปปฏิบัติจริงว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ หรือมีข้อจำกัดอะไรบ้าง หรือเป้าหมายของบริษัทนอกจากจะได้กำไรแล้วผลกระทบที่ตามมามีอะไรบ้าง คนกลุ่มนี้จะไม่ใช่สักแต่ทำงานตามที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น แต่จะรู้จักวิเคราะห์และไตร่ตรองข้อมูลต่าง ๆ กล้าที่จะคิดและเสนอสิ่งที่แตกต่าง เต็มไปด้วยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีความรู้ความสามารถ และต้องการผลักดันให้องค์กรมีความเจริญก้าวหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง แต่จุดอ่อนของคนประเภทนี้คือ ไม่รู้จักการยืดหยุ่น หรือประนีประนอม และพร้อมที่จะสู้ตายเพื่อพิสูจน์ว่าความคิดของตนเองนั้นถูกต้อง จึงทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกับคนทุกระดับ ไม่ค่อยเจริญก้าวหน้าเท่าที่ควรเพราะขาดคนสนับสนุน หรือกว่าจะไปถึงจุดสูงสุดก็ต้องใช้เวลาและความพยายามอย่างหนักเพื่อสู้กับแรงต้านที่มาทั่วทุกสารทิศ แนวทางการแก้ไขคือ รู้จักปล่อยวางบ้าง อย่ามั่นใจตัวเองมากนัก เปิดใจยอมรับความคิดของผู้อื่นบ้าง รู้จักทำงานเป็นทีม และในฐานะหัวหน้าหากมีลูกน้องประเภทนี้ถือว่าเป็นเพชรเม็ดงามที่ขาดการเจียรนัย จึงควรให้การอบรมสั่งสอนให้รู้จักการวางตัวและแสดงออกอย่างเหมาะสม

6.       ผู้นำประเภทนักยุทธศาสตร์ (Strategist)
มีประมาณร้อยละ 4 บุคคลประเภทนี้จะมีความรู้ ความสามารถมาก มองเห็นภาพรวมทั้งหมดขององค์กร รู้ว่าสิ่งไหนทำได้ หรือทำไม่ได้ หรือยังขาดทรัพยากรใดบ้าง มีวิสัยทัศน์ก้าวไกล สามารถสร้างความรักและศรัทธา จากลูกน้องและผู้ร่วมงานได้ ยึดเอาผลประโยชน์ขององค์กรเป็นหลัก รับความขัดแย้งได้ทุกรูปแบบ มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้องค์กรมีความเจริญก้าวหน้า และมีคุณธรรมไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ขององค์กรแต่เพียงฝ่ายเดียว

7.       ผู้นำประเภทนักสร้างสรรค์พัฒนา (Alchemist)
มีประมาณร้อยละ1 บุคคลกลุ่มนี้พร้อมที่จะพัฒนาตนเองและพัฒนาองค์กรอยู่ตลอดเวลา ซึ่งคล้ายคลึงกับ"กลุ่มนักยุทธศาสตร์ (Strategist)" แต่แตกต่างกันตรงที่นักยุทธศาสตร์นั้นจะมองภาพรวมทั้งหมดและจัดการทุกอย่างได้อย่างไม่มีที่ติ แต่นักสร้างสรรค์ พัฒนานั้นนอกจากจะบริหารงานได้อย่างดีเยี่ยมแล้วยัง สามารถริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่เหนือ ความคาดหมาย ได้อีกด้วย นอกจากนั้น คุณลักษณะอื่น ๆ ของผู้นำประเภทนี้คือ สามารถรับได้ทุกสถานการณ์ ไม่มีความขัดแย้งเพราะ มองปัญหาเป็นเรื่องธรรมดา พูดจานุ่มนวล ถูกต้องตามกาละเทศะ มีบุญญาบารมี มีรอยยิ้มอยู่บนใบหน้า อยู่ตลอดเวลา มีสติรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา และมีจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยคุณธรรม

ลูกจ้างที่นายจ้าง...ต้องการ

การประกอบอาชีพในปัจจุบัน ลูกจ้างจำเป็นต้องมีทักษะความรู้ความสามารถในการทำงาน ไม่งั้นนายจ้างเขาไม่จ้างคุณหรอก แต่การสั่งสมประสบการณ์จากการทำงานอาจต้องใช้ระยะเวลา ยิ่งนักศึกษาจบใหม่แล้ว  ประสบการณ์ทำงานยิ่งไม่มีใหญ่เลย ดังนั้นระหว่างที่กำลังศึกษาเล่าเรียน จึงควรเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการเรียนอย่างเต็มที่ เพื่อการนำไปใช้ในการทำงาน เพื่อเตรียมสู่การมีอาชีพ โดยให้สอดแทรกทักษะจำเป็นซึ่งเป็นทักษะที่สถานประกอบการมีความต้องการผู้ทำงานและให้สถานศึกษาได้ตรวจสอบแววอัจฉริยภาพหรือความถนัดความสนใจของเด็ก เพื่อให้เด็กจบการศึกษาพื้นฐานแล้วสามารถพัฒนาตนเองสู่โลกอาชีพต่อไป10 ทักษะที่นายจ้างต้องการ

1. ทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า  ฝึกฝนทักษะในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในสถานการณ์ต่าง ๆ (ม. 24 (2) พรบ.การศึกษาแห่งชาติ)

2. ทักษะการดูแลแก้ไขอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงานที่ใช้ประจำ เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องถ่ายเอกสารโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น

3. ทักษะทางด้านทรัพยากรมนุษย์  มีมนุษยสัมพันธ์ รู้วิธีการติดต่อหรือจัดการเมื่อต้องทำงานร่วมกับบุคคลประเภทต่าง ๆ

4. ทักษะทางด้านคอมพิวเตอร์  สามารถใช้งานคอมพิวเตอร์อย่างง่าย ๆ ใช้อินเตอร์เน็ตอย่างคล่องแคล่ว สามารถเขียนโปรแกรมง่าย ๆ ได้

5. ทักษะที่ได้รับการฝึกอบรมมาเป็นพิเศษ  ให้ตรงกับอาชีพ และกับวิชาที่เรียนมา

6. ทักษะทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์  จำเป็นสำหรับผู้จะประกอบอาชีพเกี่ยวกับวิศวกรรมและแพทย์ หรือสาขาที่เกี่ยวเนื่องกับวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ

7. ทักษะการจัดการด้านการเงิน  รู้จักบริหารการเงิน ทำบัญชีเบื้องต้นได้ อ่านงบดุลได้

8. ทักษะในเรื่องการจัดการข้อมูล  เก็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานให้เป็นหมวดหมู่ สามารถเข้าถึงและค้นหาได้ง่าย

9. ทักษะด้านต่างประเทศ  สื่อสารภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว รู้ภาษาอื่นที่จำเป็นต่องานที่ทำ เช่น ภาษาญี่ปุ่น จีน ฝรั่งเศส เยอรมัน เป็นต้น

10. ทักษะในการบริหารธุรกิจ  เข้าใจระบบการจัดการและการบริหารที่ดี

กรมการจัดหางานได้ทำการวิจัยเชิงสำรวจล่าสุดเกี่ยวกับคุณสมบัติพื้นฐานของลูกจ้างที่นายจ้างต้องการ และพื้นฐานของนายจ้างที่ลูกจ้างต้องการ ซึ่งผู้สมัครงานทุกระดับมีการเตรียมตัวดังนี้ คุณสมบัติพื้นฐานของลูกจ้างที่นายจ้างต้องการนั้น โดยภาพรวมนายจ้างในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการต้องการลูกจ้างที่มีคุณสมบัติพื้นฐานด้านจรรยาบรรณเป็นอันดับแรก รองลงมาคือด้านคุณธรรม จริยธรรม ความรู้ความสามารถทางวิชาการตามลักษณะงานในสาขาวิชา และด้านความรู้ความสามารถพื้นฐานที่ส่งผลต่อการทำงาน
         
คุณสมบัติทั่วไปที่นายจ้างในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการต้องการเป็นอันดับแรกคือ ต้องการลูกจ้างที่มีความซื่อสัตย์ในการปฏิบัติงานในหน้าที่ รองลงมาคือ ต้องการลูกจ้างที่มีความตรงต่อเวลา มีความกระตือรือร้นในการปฏิบัติหน้าที่ค่ะ

ก่อนจากกันในวันนี้ ดิฉันขอฝากคำคมไว้ว่า

ไม่มีใครเข้มแข็งตลอดไปและไม่มีใครอ่อนแอตลอดกาล

นิทาน กาอยากเป็นหงส์

ดิฉันมีเรื่อง  กาอยากเป็นหงส์ มาเล่าให้ฟัง กานั้นมีขนที่ดำสนิทเเละเป็นเงางาม เเต่ทว่าพวกกา กลับมิได้พึงพอใจในความเป็นตัวเอง พวกกาเห็นว่าหงส์นั้นมีขนสีขาวสะอาดบริสุทธิ์ ก็พากันนึกอิจฉา เเละ ยากที่จะมีขนสีขาวเช่นนั้นบ้าง  "สงสัยว่า คงเป็นเพราะหงส์ ชอบลงอาบน้ำอยู่เสมอ เเละ ก็ยังพำนักพักอาศัยอยู่ใกล้ สระน้ำด้วย" กาตัวหนึ่งคาดคะเน กาอีกตัวหนึ่งจึงสนับสนุนว่า"นั่นน่ะสิ ถ้าพวกเราว่ายน้ำบ่อยๆ เเละพักอยู่ใกล้สระน้ำ เราก็คงจะขาวเหมือนหงส์นะ"   เมื่อเห็นดีเห็นงามด้วยกันเช่นนั้น พวกกาก็พากันละทิ้ง เทวสถานอันเป็นที่พำนักพักอาศัยมาตั้งเเต่เดิม เเล้วพากันอพยพไปอยู่ที่ริมสระน้ำ  พวกกาชวนกันลงเล่นน้ำทุกวันเเละไซ้ขนเป็นประจำ อย่างหงส์เเต่พวกมันก็มิได้มีขนที่ขาวขึ้นเเต่อย่างใด

กายังคงมีขนสีดำสนิทเช่นเดิน เเต่ทว่ามันไม่อาจมี ความสุขดังเดิมเพราะสถานที่ใหม่นั้นมิได้มีอาหาร การกินอุดมบรูณ์เหมือนที่เคยอยู่ ดังนั้นพวกกาจึง อดตายกันหมดในเวลาต่อมา
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การหลงลืมธรรมชาติของตนนั้น เเม้ว่าจะเปลี่ยนที่อยู่ เปลี่ยนสังคม เเต่ก็ใช่ว่าจะเปลี่ยน ธรรมชาติดั้งเดิม ของตนได 

9 วิธีการบริหารเสน่ห์

วันนี้ดิฉันขอนำเสนอ 9 วิธี เป็นคนเจ้าเสน่ห์ที่มีความสุข  หลายคนอาจมั่นใจในตัวเองว่าเป็นคนมีเสน่ห์ และถูกแวดล้อมด้วยคนรอบข้างตลอดเวลา แต่แน่ใจหรือว่า คุณเป็นคนเจ้าเสน่ห์ที่มีความสุข ในชีวิตจริงๆ ไม่ใช่แค่คนมารุมล้อมคุณเพราะการที่คุณลงทุนทุ่มเงินหรือสิ่งตอบแทนให้เขาเหล่านั้น "หนังสือ 104 วิธีสู่การเป็นคนน่ารัก" ได้ให้แง่คิดการมีชีวิตแบบเป็นสุข จนอดหยิบยกมานำเสนอให้กับสาวเจ้าเสน่ห์ที่อยากมีความสุขที่แท้จริงไม่ได้ว่า จริงๆ แล้ว การหันมามองตัวเองเป็นการสร้างความสุขให้กับตัวเองมากที่สุด

1. สร้างเป้าหมายให้กับชีวิต ดัชนีที่สามารถใช้ชี้วัดความกระตือรือร้นและพลังชีวิตของแต่ละคนคือความสามารถในการสร้างเป้าหมายในชีวิต ลองถามตัวเอง ให้แน่ในเกี่ยวกับเป้าหมายระดับต่างๆ ที่ตั้งไว้ เพราะสิ่งนั้นควรจะเป็นเรื่องที่เราต้องการจริงๆ มีเวลาและพลังงานมากพอ รวมทั้งคุ้มค่าต่อ ความพยายามที่แลกไป เป้าหมายในระดับสูงน่าจะเป็นสิ่งสะท้อนถึงคุณค่าที่เรายึดถือในชีวิตอย่างแท้จริง เพื่อที่ว่าจะได้เกิดแรงผลักดัน ในการไปให้ถึง

2. กำหนดแต่ละก้าวสู่จุดหมายให้ชัดเจน แต่ละก้าวที่เรามุ่งไปสู่จุดหมาย เมื่อสิ้นสุดภารกิจแต่ละขึ้นตอน สูดหายใจลึกๆ และทบทวนอีกครั้งว่าก้าวต่อไปจะแตกต่างจากเดิมอย่างไร ด้วยวิธีนี้จะทำให้เรามองเห็นขึ้นต่อไปชัดเจนขึ้น และมีพลังงานสำรองมากพอที่จะลุยไปข้างหน้า หากเป้าหมายที่วางไว้เป็น สิ่งใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อนเลยในชีวิต ลองปรึกษากับคนที่ประสบความสำเร็จมาก่อน ใช้คำแนะนำและชัยชนะของพวกเขา มาเป็นแรงกระตุ้นที่มีประโยชน์สำหรับเรา แล้วทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด

3. รักษาทัศนคติในแง่บวกและความกระตือรือร้นเอาไว้ให้ด  กฎทองที่ควรมีไว้เตือนใจตัวเองเป็นประจำคือ พยายามเพ่งมองผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจากสิ่งต่างๆ ที่เรากำลังทำอยู่ในแง่ดี มากกว่ามองในแง่ลบ แล้วสิ่งนี้เองที่จะสะท้อนไปถึงสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ที่คุณจะสามารถเข้ากับเพื่อนร่วมงานได้เป็นอย่างดี ทำให้มีความสุขใน การทำงานเพิ่มขึ้น

4. รู้จักใช้ศิลปในการวิพากษ์วิจารณ  อีกเรื่องหนึ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้พ้นทั้งในชีวิตส่วนตัวและชีวิตการงานคือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งที่เราเป็นผู้กระทำและเป็นฝ่ายถูกกระทำ ไม่ว่าจะเป็นมุมไหนก็ตาม ศิลปะในการวิพากษ์วิจารณ์ที่สร้างสรรค์มีกฎง่ายๆ อยู่ไม่กี่ข้อ คือ มีจุดประสงค์ในการวิจารณ์ที่เสนอ ทางออก ที่เป็นจริง รวมทั้งให้คำแนะนำที่ดีในการแก้ปัญหา ในการวิพากษ์วิจารณ์ควรทำเป็นส่วนตัวไม่ใช่ในที่สาธารณะ และคำนึงถึง ความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนต่างๆ ด้วย หากทำได้ตามขั้นตอนเหล่านี้ การวิพากษ์วิจารณ์นั้นๆ จะให้ผลในแง่ดี

5. พูดคำว่า "ไม่" เสียบ้าง เพื่อลดความเครียดลง  เหมือนว่าความเครียดส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันมาจากการปฏิเสธคนไม่เป็น หรือการไม่พูดคำว่า "ไม่" ออกไปชัดเจน ในบาง สถานการณ์โดยเฉพาะในชีวิตการทำงาน การปฏิเสธในเวลาที่เหมาะสมไม่ใช่เรื่องเลวร้ายหรือทำให้ดูไร้น้ำใจเสมอไป เพียงแต่ต้อง เลือกวิธีการและจังหวะเวลาให้ดี ปฏิเสธอย่างชัดเจนในกรณีที่ทำไม่ได้จริงๆ พูดสั้นๆ แค่ "ไม่ค่ะ ขอบคุณมาก" แต่ในบางกรณีอาจปฏิเสธพร้อมเหตุผลสั้นๆ เช่น "ไม่สะดวกค่ะ ต้องรีบเตรียมรายงานสำหรับวันพรุ่งนี้" การมีท่าทียิ้มแย้มจะทำให้การปฏิเสธนั้นไม่ดูก้าวร้าว

6. มองหาศรัทธาในชีวิต  ในชีวิตคนเราจำเป็นต้องมีศรัทธาต่อบางสิ่งอยู่เสมอ ศรัทธาคือความเชื่อมั่นหรือการให้คุณค่าต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นความหมายและคำอธิบาย ต่อการได้เกิดมามีชีวิตอยู่บนโลกนี้ ง่ายๆ อย่างเช่นความศรัทธาที่มีต่อศาสนา ซึ่งถ้าเราจะยึดถือในเรื่องศาสนาได้อย่างพอดีก็นับเป็นเรื่องดีมาก เมื่อมีศรัทธาแล้ว ก็หันมายอมรับและพอใจกับตัวเอง ด้วยการค้นหาความสำเร็จสูงสุดในชีวิตให้เจอแล้ว แล้วมีความพอใจกับมัน แค่นี้ความพอใจในชีวิตก็จะเกิดขึ้นเอง

7. ดูแลสุขภาพกายใจให้ดีอยู่เสมอ  อย่าหลงลืมเป็นอันขาด การดูแลสุขภาพกายและใจให้แข็งแรงอยู่เสมอ เป็นเรื่องพื้นฐานที่เราต้องทำให้เป็นวินัยไปชั่วชีวิต เพราะเมื่อ สุขภาพดี เป็นเบื้องต้นแล้ว เท่ากับว่าต้อนทุนชีวิตของเรามีตุนอยู่เต็มกระเป๋า โดยเริ่มด้วยการเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ อย่ามัวคุมอาหารจนผอมหัวโต ออกกำลังกายเป็นประจก อย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 ครั้ง ครั้งละประมาณ 20 นาที และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ คุณภาพชีวิตเต็มร้อยแน่นอน

8. อิ่มใจกับความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิต  ไม่จำเป็นเสมอไปที่ความอิ่มเอิบใจ จะมาจากความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ เพราะมีตัวอย่างหลายต่อหลายเรื่องที่ทำให้เห็นว่า ความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ ต่างหากที่จะนำไปสู่ชัยชนะที่สูงที่สุดในชีวิต ดังนั้นลองหันมาชื่นชมกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เราทำสำเร็จดูบ้าง หากรู้จักอิ่มใจแล้ว ทีนี้ก็มอบความรักให้กับผู้อื่นด้วยการให้อภัย และพร้อมที่จะยกโทษให้คนรอบข้างได้เสมอ

9. ฟื้นฟูคุณค่าให้ตัวเอง ในวันที่แสนท้อแท  คงจะมีบ้างในบางวันที่รู้สึกล้มเหลวและเป็นผู้แพ้ แทนที่จะปล่อยให้ตัวเองหมดแรงนอนซม หรือตามใจตัวเองผิดๆ ด้วยการกินอย่าง ไม่บันยะบันยัง ดังนั้นลองหาวิธีง่ายๆในการสร้างกำลังใจให้ตัวเอง เช่น โทรคุยกับเพื่อนเก่าที่มีคำพูดดีๆ ให้เราเสมอ

แนวทางการบริหารคน เพื่อความสำเร็จขององค์กร

ท่าน ว.วชิรเมธี ได้ให้แนวทางการบริหารคน เพื่อความสำเร็จขององค์กรตามแนวอาชีพดังต่อไปนี้ คือ พนักงานรถไฟ แพทย์ ชาวนา และชาวประมง ที่ได้เขียนในหนังสือ "บริหารคนให้สำราญ บริหารงานให้สัมฤทธิ์" "ท่าน ว.วชิรเมธี" ตั้งข้อสังเกตว่า คน คือองค์รวมของวิวัฒนาการสูงสุด ดังนั้น การอยู่กับคนให้ราบรื่น จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งการบริหารคนให้ประสบความสำเร็จ ยิ่งต้องใช้สติปัญญา และศิลปะขั้นสูง แต่ถ้าหากใครทำได้ คนคนนั้นนับเป็นยอดคน เหมือนกับปราชญ์คนหนึ่งเคยกล่าวว่า สุดยอดของการทำงาน ก็คือการทำงานที่เกี่ยวเนื่องกับคนให้ประสบความสำเร็จ  ธรรมะกับผู้บริหารจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจแยกจากกัน ถ้าเราแยกออกจากการกันเมื่อไหร่ การบริหารนั้นก็ล้มเหลว ไม่มีใครฟัง เสมือนเป็นการบริหาร แต่ไม่มีคนทำตาม และทุกองค์กรล้วนเป็นอย่างนี้ทั้งสิ้น ดังนั้น ถ้าผู้บริหารไม่มีศักยภาพที่จะบริหาร เพราะขาดหัวใจคือธรรมะ ถึงใช้อำนาจบริหาร ก็ไม่มีคนทำตาม ดังนั้น ธรรมะในการบริหาร จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ขาดไม่ได้ ขึ้นอยู่กับผู้บริหารด้วยว่าจะมีวุฒิภาวะในการนำมาใช้อย่างไร และเหมาะกับสถานการณ์ใด สถานการณ์หนึ่งหรือไม่ แต่สำหรับ "ท่าน ว.วชิรเมธี" มองว่าทฤษฎีผู้บริหารนั้นมีอยู่ด้วยกัน 4 แบบด้วยกัน ดังนี้
1. ผู้บริหารแบบพนักงานรถไฟ
 มักจะไปตามราง มีโบกี้รถไฟ มีรางรถไฟ ขึ้นไปขับรถไฟ ไปตามราง จากสถานีต้นทางถึงปลายทาง นั่นหมายความว่า ไม่คิดอะไรใหม่ ไม่ท้าทาย ไม่ลงทุน ไม่ปรับปรุง ไม่แสวงหาบริการเสริม ไม่ขายบริการ ขับไปเรื่อย ๆ กี่ปีกี่ชาติก็เป็นเช่นนั้น ปล่อยให้ระบบไหลไปตามกลไกของมันเอง โดยที่ตนเองแทบไม่แตะส่วนใด ๆ กลายเป็นผู้บริหารประจำ เวลามีใครมาถามอะไร ถ้าเรื่องยังมาไม่ถึง ต่อให้มารบกันอยู่หน้าบริษัท ก็ไม่เรียกประชุม คำตอบคือ ยังไม่ได้รับรายงาน ให้ผู้เกี่ยวข้องว่ากันไป ผู้บริหารอย่างนี้จะทำให้องค์กรอย่างดีที่สุดก็คือทรง อย่างแย่ก็ทรุด แล้วคนเก่งก็ไม่อยู่กับผู้บริหารที่ทำงานแบบพนักงานรถไฟ เพราะเขาต้องการอนาคตกันทั้งนั้น ทำให้ผู้บริหารเช่นนี้จำนวนมากไม่มีคนเก่งในองค์กร เพราะมัวแต่ขับรถไฟไปตามรางแบบเรียบ ๆ ไม่มีการวางแผน ปรัชญา วิสัยทัศน์ พันธกิจไม่ต้อง ทุกอย่างเป็นไปตามปกติว่ากันไปตามขั้นตอน

2. ผู้บริหารแบบนายแพทย์
เป็นนักแก้ปัญหา เวลาปัญหาเกิดขึ้น จะหาสมมติฐาน หาสาเหตุ หาวิธีการ แล้วลงมือผ่าตัด เยียวยารักษา ถ้าเยียวยารักษาได้ นายแพทย์จะมีความสุขมาก ดังนั้น ผู้บริหารแบบนายแพทย์ จึงเป็นผู้บริหารนักทำงาน แต่ก็เหมือนนายแพทย์คือ ถ้าไม่มีการเข็นผู้ป่วยมาที่โรงพยาบาลก็ไม่ทำอะไรเหมือนกัน ถ้าผู้ป่วยมาไม่ถึง ถึงเวลานัดหมายแล้ว คนไข้ยังไม่มา ก็อาจเล่นบีบี เล่นทวิตเตอร์ หรือเล่นเฟซบุ๊กอยู่ก็ได้ แต่เมื่อผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ามา ถึงจะลงมือทำงานอย่างไรก็ดี ผู้บริหารแบบนายแพทย์ ยังดีกว่าผู้บริหารแบบพนักงานรถไฟ ที่ว่ากันไปตามขั้นตอน แต่ผู้บริหารแบบนายแพทย์ พอมีปัญหา ก็ลุกขึ้นมาแก้ไข ผู้บริหารแบบนี้ เป็นนักแก้ปัญหาที่ดีของระบบที่ดี แต่ค่อนข้างขาดวิสัยทัศน์ในการรุกคืบไปข้างหน้า ยังจำกัดพื้นที่อยู่เฉพาะในองค์กรเท่านั้น
3. ผู้บริหารแบบชาวนา

คือผู้บริหารที่เอาธรรมชาติเข้าว่า การเมืองไม่ดีก็ไม่เป็นไร นักท่องเที่ยวไม่มาก็ไม่เป็นไร สบาย ๆ คือไม่คิดอะไรใหม่ จำกัดอยู่ในพื้นที่ของตัวเองเท่านั้น จะไม่ขยายตลาดเพิ่ม และผู้บริหารชนิดนี้จะจำกัดพื้นที่ที่ได้รับผิดชอบ มีมาเท่าไหร่จะจำกัดอยู่แค่นั้น ไม่ค่อยคิดโครงการล่วงหน้า ปฏิทินงานไม่ค่อยมีอะไรหวือหวาไม่ซับซ้อนพนักงานในองค์กรนี้ นั่งเซ็งกันเป็นส่วนใหญ่ เพราะว่าไม่มีงานพิเศษเข้ามา ไม่มีความท้าทาย ไม่ตื่นเต้น งานอีเวนต์ก็ไม่ทำ แต่ผู้บริหารแบบชาวนายังดีคือมุ่งผลผลิต ถึงแม้จะไม่ทำงานหวือหวา แต่ชาวนาที่ดีก็คือยังหวังที่จะมีผลผลิตที่ดีเสมอ เช่นเดียวกับผู้บริหารที่ไม่เพิ่มงานใหม่ แต่ยังพยายามที่จะบริหารงานหน้าตักให้มีผล งอกเงย ก็ยังนับว่าเป็นผู้บริหารที่ใช้ได้
4. ผู้บริหารแบบชาวประมง

เป็นนักเสี่ยง นักท้าทาย และนักแสวงโชค เพราะมีความเชื่อมั่น ในตัวเองสูง กล้าคิด กล้าทำ กล้านำ และกล้ารับผิดชอบข้อดีของชาวประมงคือถ้าไม่มีทักษะ คุณก็จับปลาไม่ได้ แต่ข้อเสียคือความเสี่ยง แต่ส่วนมากแล้วชาวประมง ก็กล้าที่จะเสี่ยง เพราะถ้าเสี่ยงจนเกิดทักษะแล้ว ความเสี่ยงจะกลายเป็นโชค เราจึงเรียกผู้บริหารที่กล้าท้าทายว่านักเสี่ยงโชค
ดังตัวอย่าง "สตีฟ จอบส์" ผู้ก่อตั้ง Apple พอบริษัทมีทรัพย์สินกว่าพันล้าน จู่ ๆ ก็ถูกลูกน้อง และผู้ถือหุ้นไล่ออกจากบริษัทที่ตัวเองตั้งมากับมือ สตีฟ จอบส์ต้องออกไปเหมือนหมาหัวเน่า เดินลงจากตึก ด้วยน้ำตานองหน้า แต่เขาหายไปครึ่งปี และยังมีสัญชาตญาณผู้บริหารแบบชาวประมง แล้วเขาก็คิดขึ้นได้ว่า เราแค่ถูกไล่ออกจากบริษัท แต่ศักยภาพในการคิดงานยังอยู่กับเราครบทุกอย่าง พอคิดขึ้นได้เขาก็ไปตัดผมใหม่ แล้วเดินไปจดทะเบียนบริษัทใหม่ชื่อว่าบริษัทเน็กซ์ บริษัทนี้ผลิตคอมพิวเตอร์เพื่อเป็นคู่แข่งกับแอปเปิล ไม่กี่ปียอดขายของบริษัทเน็กซ์ก็หายใจลดต้นคอกับบริษัทแอปเปิล ผู้ถือหุ้นบริษัทเดิมนั่งคุยกัน ว่าเราจะปล่อยให้สตีฟ จอบส์ท้าทายพวกเราอย่างนี้ไม่ได้ มิเช่นนั้น แอปเปิลจะเข้าตาจนในที่สุด ทั้งสองบริษัทจึงควบรวมกิจการกัน สิ่งแรกที่สตีฟ จอบส์ทำคือ ปลดซีอีโอคนนั้นที่เคยปลดเขาออกให้ออกไป จากนั้น จอบส์ก็เข้ามาบริหารเองตั้งแต่วันนั้น จนถึงวันนี้ จนกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลของโลก และว่ากันว่า ทุกครั้งที่จอบส์ออกนวัตกรรมใหม่ นั่นหมายความว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอีกยุคหนึ่งนี่คือตัวอย่างคนกล้าเสี่ยงของผู้บริหารแบบชาวประมง ที่ผู้บริหารในยุคนี้ควรเอาแบบอย่าง ในการกล้าคิด กล้าทำ และกล้าเสี่ยง ไม่หยุดนิ่งอย่างกับเต่าล้านปีอีกต่อไป

จะเห็นได้แล้วว่า คนที่จะมาทำงานในตำแหน่งผู้บริหารคนต่อไป ควรจะเป็นแบบอาชีพใด ที่จะนำพาองค์กรของคุณให้ประสบผลสำเร็จมากที่สุดนั่นเอง การประกอบอาชีพในปัจจุบัน ลูกจ้างจำเป็นต้องมีทักษะความรู้ความสามารถในการทำงาน ไม่งั้นนายจ้างเขาไม่จ้างคุณหรอก แต่การสั่งสมประสบการณ์จากการทำงานอาจต้องใช้ระยะเวลา ยิ่งนักศึกษาจบใหม่แล้ว ประสบการณ์ทำงานยิ่งไม่มีใหญ่เลย ดังนั้นระหว่างที่กำลังศึกษาเล่าเรียน จึงควรเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการเรียนอย่างเต็มที่ เพื่อการนำไปใช้ในการทำงานได้เช่นเดียวกันคะ   ก่อนจากกันในวันนี้ ดิฉันขอฝากคำคมไว้ว่า ไม่มีใครสะดุดภูเขาล้ม มีแต่สะดุดก้อนหินล้ม