Monthly Archives: December 2009

เมื่อคนที่มีความสามารถเมื่อได้ทำงานร่วมกัน

จากประโยคที่ว่า “องค์กรของเราเต็มไปด้วยคนที่มีความสามารถ แม้จะมากบ้างน้อยบ้าง หรือมีความสามารถแตกต่างกันไปคนละด้านตามความถนัด ซึ่งเป็นเรื่องแปลกแต่จริงที่คนที่มีความสามารถเมื่อได้ทำงานร่วมกัน แทนที่จะทำให้งานมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า แต่กลับกลายเป็นว่า ประสิทธิภาพการทำงานด้อยลง เพราะคนส่วนใหญ่มักมองไม่เห็นคุณค่าของคนอื่น เหมือนการขับเคลื่อนองค์กร ก็เหมือนกับการขับรถยนต์ ทุกชิ้นส่วนมีความสำคัญเหมือนกันหมด เพราะทุกคนคือคนสำคัญ” เป็นคำกล่าวของก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ CEO บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหาร เซเว่น อีเลฟเว่น
ค่ะ

ผลงานที่ยอดเยี่ยมอันยั่งยืน ย่อมมาจากพลังสมองและร่างกายที่สมบูรณ์

เรามีความเชื่อว่า ผลงานที่ยอดเยี่ยมอันยั่งยืน ย่อมมาจากพลังสมองและร่างกายที่สมบูรณ์ของสมาชิกทุกคนในทีมงาน จากผลการศึกษาวิจัย พบว่า ผู้บริหารและบริษัทชั้นนำของโลกที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง ที่วงการธุรกิจให้การยกย่อง เช่น Bill Gates แห่ง Microsoft Jack Welch แห่ง GE Michael Dell แห่ง Dell Computer หรือ คุณธนินทร์ เจียรวนนท์ แห่งเครือ เจริญโภคภัณฑ์ ทำให้เราพบว่าปัจจัยที่ทำให้ ผู้บริหารและองค์กรเหล่านั้นประสบความสำเร็จ คือ การมีวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง การที่มีวัฒนธรรมองค์กรแข็งแกร่ง หมายความว่า บุคลากรในองค์กรทุกระดับ มีความเข้าใจ ศรัทธา และประพฤติปฏิบัติตามวัฒนธรรมขององค์กร ดังนั้น องค์กรที่ประสบความสำเร็จเป็นที่ยกย่อง นั้น เราจะพบว่า พวกเค้าล้วนได้สร้าง พัฒนา และรักษาวัฒนธรรมของเขาอย่างเป็นระบบและอย่างต่อเนื่อง การสร้างวัฒนธรรมก็เปรียบเสมือนการสร้างกรุงโรม เป็นเรื่องที่ ใช้เวลา ไม่ใช่ว่านึกจะสร้างวัฒนธรรม ก็นึกถึงวลีเพราะๆ เก๋ๆ ที่สังคมกำลังฮิตนำมาเขียนเป็นปณิธาน วิสัยทัศน์ และค่านิยมขององค์กร
กันค่ะ
ดิฉันขอฝากคำคมไว้ว่า
จงอย่ากลัว ที่จะก้าวไปอย่างช้าๆ
แต่จงกลัว ที่จะหยุคอยู่กับที่

ทฤษฎี กบต้ม

ดิฉันมีเรื่อง ศาสตร์และศิลป์ของการบริหารจัดการแบบ ทฤษฎี กบต้ม มาเล่าให้ฟังค่ะ
ทฤษฎีกบต้ม เป็นทฤษฎีที่นักวิชาการชาวไอริชได้เสนอแนวคิดทางทฤษฎีโดยการทดลองนำกบมาต้มในอ่างน้ำ 2 อ่าง เพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลที่เกิดขึ้น
อ่างน้ำที่ชาวไอริชนำมาใช้ทดลองได้ใส่น้ำต่างกัน อ่างน้ำใบแรกเป็นอ่างน้ำร้อนจัด อ่างน้ำอ่างที่สองเป็นอ่างน้ำที่อุ่นสบาย ๆ และทำให้ค่อย ๆ อุ่นขึ้นจนเดือด
ในการทดลองได้นำกบมาสองตัว ตัวแรกใส่ในอ่างน้ำที่ร้อนจัด ส่วนกบตัวที่สองใส่ในอ่างน้ำอุ่น ที่ทำให้อุ่นขึ้นจนกระทั่งเดือด โดยผู้ทดลองต้องการศึกษาว่ากบตัวไหนจะตายก่อน หรือตัวไหนรอดชีวิต
ผลจากการทดลองปรากฏว่า กบที่ใส่ไปในอ่างแรก คือ อ่างน้ำเดือด ปรากฏว่ากบรอดชีวิต แต่กบในอ่างน้ำอุ่นที่ค่อย ๆ ร้อนขึ้นกลับตาย เพราะเหตุใด เหตุผล คือ กบในอ่างน้ำเดือดจะรู้ว่าน้ำร้อนจึงรีบกระโดดออกมาหลังสัมผัสน้ำเดือดทันที แต่สำหรับกบที่อยู่ในน้ำอุ่นจะรู้สึกสบาย แม้ว่าน้ำจะค่อย ๆ อุ่นขึ้นก็ไม่ยอมกระโดดออกมา ยังคงอยู่ในอ่างน้ำจนกระทั่งน้ำเดือดจึงตาย
กรณีของกบทั้งสองตัวในอ่างน้ำ 2 อ่างเปรียบเทียบกับบุคคลในองค์การ เรื่องของการปรับตัวในการเปลี่ยนแปลง ถ้าองค์การได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภายนอกจึงจำเป็นต้องปรับตัว เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ อยู่รอดได้ บุคลากรในองค์การถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการองค์การให้สามารถแข่งขันได้ ก็จำเป็นต้องปรับตัว บางครั้งจำเป็นต้องละทิ้งแนวคิดหรือกระบวนทัศน์เดิม (paradigm) มาสู่แบบใหม่อย่างสิ้นเชิง ถ้าจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง เพื่อความอยู่รอดในองค์การก็ต้องกระทำ เหมือนกับในอ่างน้ำเดือด คือ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกบต้องปรับตัวเร็ว กระโดดออกจากอ่างน้ำเดือด จึงจะมีชีวิตรอด ถ้าทำเป็นทองไม่รู้ร้อน ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ผลสุดท้ายก็ตาย เมื่อบุคลากรตาย องค์การก็ยากที่จะอยู่รอดเช่นกัน เหมือนกบที่อยู่ในน้ำอุ่นจนตายในที่สุด
ซึ่งที่จริงแล้ว กบควรจะรอดทั้งสองตัว เพราะกว่าจะเกิดเป็นกบได้ ต้องใช้เวลา ต้องกินอาหาร ต้องแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติไป จึงต้องชดใช้ หรือช่วยให้ธรรมชาติมีความสมดุลต่อไป ส่วนองค์การก็เช่นเดียวกัน บุคลากรในองค์การจึงต้องปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง ต้องปรับแนวคิด มีวิสัยทัศน์ใหม่ ก้าวให้ทันหรือนำหน้าการเปลี่ยนแปลง คือ ต้องรู้ว่าจะทำอย่างไรให้อยู่รอดในภาวการณ์แข่งขัน และก้าวขึ้นสู่แนวหน้าและเป็นผู้นำในที่สุดได้อย่างไร ปัจจัยเหล่านี้ก็อยู่ที่ทุกคนในองค์การต้องช่วยกัน กระโดดออกมาจากอ่างน้ำเดือด
นักวิชาการชาวไอริชคนนี้ฉลาดที่ทดลองเรื่องง่าย ๆ เกี่ยวกับกบและได้ตั้งเป็นทฤษฎีกบต้ม ทฤษฎีกบต้มเป็นข้อคิดที่น่าคิดต่อไปว่า ถ้าเราเป็นกบเราจะทำอย่างไร ดีค่ะ

“วัฒนธรรมองค์กร” (Organization Culture)

ดิฉันเชื่อว่า ณ เวลานี้ทุกท่าน คงคุ้นเคยกันดีกับคำว่า “วัฒนธรรมองค์กร” (Organization Culture) และ “วัฒนธรรมที่เน้นผลงานสูง” (High – Performance Culture) ซึ่งเป็นคำศัพท์ท็อปฮิต ติดปากผู้บริหารทุกระดับ ตั้งแต่ผู้บริหารประเทศจนถึงผู้บริหารองค์กร ต่างๆ แม้กระทั่งในวงการศึกษาที่ดิฉันสังกัดอยู่ เรื่องของการสร้างความสามารถในการแข่งขันก็เป็นหนึ่งในนโยบายด้านการศึกษาเช่นกัน เพราะเมื่อสังคมธุรกิจต้องเร่งสร้างความพร้อมในการแข่งขัน นั่นย่อมหมายถึงการสร้างความพร้อมของพนักงานทุกระดับให้สามารถแข่งขัน แล้วพนักงานเหล่านั้นก็คือ อดีตนักเรียน นิสิต นักศึกษา ของสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่สถาบันต้องรับผิดชอบในการปลุกปั้นบ่มเพาะ อบรมผู้เข้ารับการศึกษาให้มีความรู้ ความสามารถ ตรงตามความต้องการของนายจ้าง

แม้กระทั่งตัวอาจารย์ผู้สอนเอง ในปัจจุบันสถาบันการศึกษาก็มีความเข้มงวดในการควบคุมคุณภาพของผู้สอนมากขึ้น มีการตั้งระบบประเมินผลงานอย่างละเอียดถี่ถ้วน และประเมินคุณภาพอาจารย์บ่อยขึ้น กล่าวได้ว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่อาจารย์เหล่านั้นจะทำตัวสบายๆ ถือว่าจบการศึกษาปริญญาเอกหรือปริญญาโทแล้วก็สอนแบบเดิมๆ ไป ถ้าเรามองสภาพความเป็นไปของสังคมปัจจุบัน จะเห็นว่าเรื่องของการแข่งขันนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปเสียแล้ว อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เด็กเล็กๆ อายุเพียง 2–3 ขวบ ก็ต้องแข่งกันเข้าโรงเรียนอนุบาลดังๆ ดูแล้วชีวิตของคนไทยเรานี้เคร่งเครียดจริงๆ เต็มไปด้วยการแข่งขันทั้งที่จำเป็นและที่ไม่จำเป็น ท่านลองสังเกตจากข่าวสารข้อมูลของเด็กๆ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ หรือประเทศอื่นๆ ทางตะวันตก ที่เรายกย่องว่ามีความเจริญทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ดูระบบการศึกษาของเขานั้นไม่กดดันบีบสมองเด็กเท่าของไทยเรา ดิฉันเคยเดินทางไปท่องเที่ยวและดูงานด้านการศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น นั้นก็เคร่งเครียดเหมือนกัน แบบที่ว่า ถ้าสอบเข้ามหาวิทยาลัยดังๆ เช่น มหาวิทยาลัยโตเกียวไม่ได้ เด็กถึงกับฆ่าตัวตายหรือถึงกับสิ้นหวังในชีวิตเลยทีเดียว เพราะพวกเค้า เชื่อว่าถ้าเข้ามหาวิทยาลัยดังๆ ไม่ได้ แปลว่าหมดสิทธิในการได้งานดีๆ ท่านผู้ฟังลองคิดดูสิคะ ว่าค่านิยมการแข่งขันนั้นทำคนถึงตายเชียวหรือ
แม้ว่า เรื่องของการแข่งขันนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งมีชีวิต ตามหลักของ Charles Darwin ที่ว่า ผู้ที่แข็งแรงที่สุด หรือเชื้อพันธุ์ที่แข็งแรงที่สุดเท่านั้นจึงจะดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้ แต่ดิฉัน คิดว่าเราควรหาสมดุลที่เหมาะสมในการดำเนินชีวิตของเราให้ได้ ทั้งในที่ทำงานและในชีวิตส่วนตัว ในที่ทำงานนั้นอยากให้ผู้บริหารร่วมคิดกัน กับฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์ ในการสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่ปลูกฝังให้บุคลากร มีค่านิยม และทัศนคติที่มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพในการทำงาน และสร้างสมดุลระหว่างชีวิตทำงานและชีวิตส่วนตัวได้ด้วย เพราะ โดยมากผู้บริหารจะเน้นเรื่องผลงานเป็นหลัก ส่วนบุคลากร จะมีคุณภาพชีวิตส่วนตัวอย่างไรนั้นไม่สนใจ ชีวิตพนักงานที่เป็น High – Performers หรือ Top Talent นั้นมักมีรูปแบบคล้ายๆ กันคือ เรียนเก่งในมหาวิทยาลัย จบแล้ว เข้าทำงานในบริษัทดังๆ ได้รับการเลื่อนขั้นอย่างรวดเร็ว ทำงานหนัก..หนักมาก... และหนักที่สุด จนขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดเมื่ออายุประมาณ 40 ปลายๆ หรือ 50 ต้นๆ ซึ่งในเวลานั้นมักมีโรคประจำตัวรุมเร้า เช่นโรคหัวใจ ความดัน และ มะเร็ง เป็นต้น เพราะเขาเหล่านั้นมักไม่ค่อยมีเวลาในการดูแลตนเอง เงินทองที่หามาได้จึงต้องนำมาใช้รักษาสุขภาพตนเอง ถึงเวลาหรือยังที่เราจะต้องปรับเปลี่ยนค่านิยม และวัฒนธรรมในการทำงานของเราเสียใหม่

การบริหารจัดการ แบบ ไททานิค

ดิฉัน นำแนวทางการบริหารจัดการใน เรือไททานิค มาเล่าให้ฟังค่ะ ยังจำเรื่อง ไททานิค ที่แสนจะโด่งดัง ที่ได้เข้าฉายในประเทศไทยในปี 2540 กันได้ดีนะค่ะ เรือไททานิคอัปปาง ตั้งแต่ออกเดินทางครั้งแรกเลยทีเดียว ซึ่งตรงกับวันที่ 14 เม.ย. พุทธศักราช 2455 เรือแล่นออกเดินทางจากเมือง เซาแธมป์ตั้น จุดหมายที่นครนิวยอร์ก แต่มาล่มกลางทาง เมื่อตัวเรือพุ่งชนภูเขาน้ำแข็งลูกมหึมาและจมอยู่ใต้สมุทร เกาะนิวฟาวนด์แลนด์ ประเทศแคนาดา พร้อมผู้โดยสารทั้งสิ้น 2,200 คน ที่รอดชีวิตมาได้เพียง 678 คน
กัปตัน เอ็ดเวิร์ด เจ. สมิท (Edward J. Smith) ซึ่งถือว่าเป็นกัปตันที่เก่งกาจ และมีค่าตัวแพงที่สุดในยุคนั้น เค้าได้ มาเป็นกัปตัน เรือไททา นิค เป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย เขา ได้ ทำการ เร่งเครื่อง ยนต์เรือไททานิกด้วยความเร็ว 21 น้อต คือ ครึ่งหนึ่ง ของความเร็วเต็มที่ของไททานิค และพอตกเย็น เขาได้รับคำเตือนเรื่องภูเขาน้ำแข็ง ขณะนั้น คุณบรูซ (เจ้าของเรือไททานิค) ได้สั่งให้เขา เร่งเครื่องยนต์ไททานิคให้เต็มที่ คือ 54 น้อต ตอนแรก กัปตันก็ไม่สนใจ เพราะไม่อยากจะ ฝืนกำลังเครื่องยนต์ แต่ปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่กัปตันจะเกษียณแล้ว เลยทำให้เขาชะล่าใจและตกลงเร่งเครื่องให้เต็มพิกัด จนกระทั่ง พอถึงตอนที่เรือปะทะภูเขาน้ำแข็งและเริ่มจม การกักกันผู้โดยสารชั้นสามไว้ ที่ใต้ท้องเรือ แต่ไม่มีข้อยืนยันว่า ได้มีการกักกันผู้โดยสารชั้นสามไว้ที่ใต้ท้องเรือ แต่มีการจัดระเบียบการอพยพผู้โดยสาร ซึ่งหมายถึงผู้โดยสารชั้นหนึ่งที่เป็นเด็กและผู้หญิงจะได้สิทธิลงเรือชูชีพไปก่อน ส่วนผู้โดยสารชั้นสามต้องรอทีหลัง แต่ในที่สุด ทุกอย่างก็เป็นไปตามระบบเอาตัวรอดกันแบบตัวใครตัวมัน โดยธรรมเนียมของกัปตันเรือ กัปตันสมิทจะต้องอพยพจากเรือเป็นคนสุดท้าย ดังนั้น เขาจึงไม่ได้ลงเรือชูชีพ แต่ได้พยายามอำนวยการอพยพผู้โดยสารจนถึงวาระสุดท้ายอย่างเข้มแข็ง
ในขณะนั้นยังมี วิศวกรแอนดรูวส์ เป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่ลงเรือชูชีพ เพราะไม่ต้องการเอาชีวิตรอด เพื่อไปพบกับคำวิพากษ์วิจารณ์จนถึงสาบแช่งในภายหลัง เขาเลือกที่จะจมไปกับเรือเพื่อแสดงความรับผิดชอบอย่างกล้าหาญ โดยเขาเลือกที่จะนั่งรอวาระสุดท้ายในห้องสูบบุหรี่ของผู้โดยสารชั้น 1
โทมัส แอนดรูวส์ (Thomas Andrews) วิศวกรอาวุโสของอู่ต่อเรือฮาร์แลนด์ และ "วูลฟฟ์" (Wolff) ซึ่งเป็นผู้ออกแบบ และควบคุมการต่อเรือไททานิค ได้ชื่นชมเรือไททานิคว่าเป็นเรือที่สมบรูณ์แบบที่สุดเท่าที่สติปัญญาของมนุษย์จะทำได้ แต่แล้ว เรือไททานิค ก็จมอยู่ใต้ทะเลมาเป็นเวลา 97 ปีแล้ว และใน ปี 2539 มีทีมงานพยายามจะกู้ซากขึ้นมาแต่ก็ล้มเหลว เพราะเรือลำนี้มีน้ำหนักมากหลายหมื่นตัน
เป็นที่ทราบกันดีว่าโศกนาฏกรรมเรือไททานิค เมื่อ 97 ปีที่แล้วนั้น ความประมาท เป็นบทบาทที่สำคัญมากเพราะไททานิค เพิกเฉยต่อคำเตือนภัยเรื่อง ภูเขาน้ำแข็งที่มาจากเรือลำอื่น แถมยังใช้ความเร็วเต็มที่เพื่อสร้างสถิติใหม่ ซ้ำร้ายเมื่อเรือชนกับภูเขาน้ำแข็งจริง คนบนเรือยังคิดว่าเรือไม่เป็นอะไรมาก จนเวลาผ่านไปสัก 2 ชั่วโมงจึงตระหนักว่า เรือจมจริงๆ ซึ่งก็สายเกินแก้ ตำนานความประมาทแบบนี้ มักจะควบคู่มากับกัปตันเรือหรือผู้นำองค์กรที่มีความเชื่อมั่นในตนเองมากเกินไป ซึ่งความเชื่อมั่นแบบนี้ สามารถนำไปสู่ความหายนะมากกว่าที่ควรจะเป็นเนื่องจาก กระการที่หนึ่ง คือความไม่รับฟังผู้อื่น ทำให้ตนเองไม่สามารถเข้าถึงหรือเข้าใจว่า ความร้ายแรงของวิกฤตที่รออยู่ข้างหน้าเป็นอย่างไร ประการที่สอง ก็คือการทให้ทีมงานไม่มีการวางแผนกับระบบการรับมือกับสถานการณ์ที่มีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับเรือไททานิค ที่ไม่รู้กระทั่งว่าเรือสำรองจุคนได้เท่าไหร่ จึงปล่อยเรือบดออกไปทั้งๆที่ยังบรรจุคนได้ไม่เต็มพิกัดเลย แทนที่เรือสำรองจะช่วยชีวิตคนได้ 1,178 คน ตามที่ถูกออกแบบมา กลับรับผู้โดยสารได้เพียง 712 คนเท่านั้น หายนะของเรือไททานิค ในครั้งนี้จึงเกิดขึ้น 2 จังหวะคือ หนึ่งไม่สนใจว่ามีภูเขาน้ำแข็ง จึงชน และสองเมื่อชนแล้ว ยังไม่คิดว่าเรือจะเสียหายมากค่ะ ท่านผู้ฟังลองคิดเปรียบเทียบดูนะค่ะว่า ถ้าองค์กรของท่านเปรียบได้กับไททานิค และผู้นำองค์กรของท่านคือ กัปตัน เอ็ดเวิร์ด เจ. สมิท ท่านควรจะมีมาตรการกับการจัดการความเสี่ยงที่เราเรียกกันติดปากว่า Risk Management อย่างไรกันดี

แนวทางและวิธีการสร้างความสำเร็จในหน้าที่การงาน

ดิฉันเชื่อว่า คนทุกคนที่ก้าวเข้าสู่ช่วงวัยของการทำงานแล้ว..แต่ละคนย่อมมีความต้องการและความคาดหวังให้งานของตนประสบผลสำเร็จ โดยจะมีแนวทางและวิธีการในการสร้างความสำเร็จในหน้าที่การงานที่แตกต่างกันไป บางคนชอบเอาใจ และหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อสร้างความพึงพอใจจากหัวหน้างาน เพราะคิดว่าหัวหน้างานสามารถสนับสนุนความสำเร็จที่เกิดขึ้นให้กับตนเองได้ แต่บางคนประสบความสำเร็จได้จากการสนับสนุนของทีมงานโดยพยายามทำทุกวิถีทางให้สมาชิกในทีมรักใคร่ ..เพื่อว่าจะได้สนับสนุนให้ตนเองประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานตามที่มุ่งหวังไว้ สำหรับบางคนเชื่อไสยศาสตร์ อาศัยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วย… และก็ยังมีอีกหลายต่อหลายคน ที่มีความต้องการและความมุ่งหวังที่จะให้หน้าที่การงานของตนประสบความสำเร็จด้วยความสามารถและฝีมือของตัวเอง
ความสำเร็จด้วยฝีมือของเราเอง จะเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต ดังนั้นดิฉัน จึงขอนำเสนอเทคนิคและวิธีการเพื่อการสร้างความสำเร็จในการทำงานด้วยตัวคุณเองตาม หลักการง่าย ๆ ของคำว่า “D-E-V-E-L-O-P“ ดังนี้ค่ะ
Development : ไม่หยุดยั้งการพัฒนา ผู้ที่จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานได้จะต้องเป็นคนที่มีหัวใจของการพัฒนาอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบุคลิกลักษณะ พฤติกรรม หรือแม้แต่วิธีการทำงาน โดยต้องเป็นผู้ที่มีการสำรวจและประเมินความสามารถของตนเองอยู่ตลอดเวลา คอยตรวจสอบว่า เรามีจุดแข็งและจุดบกพร่องในด้านใดบ้างและพยายามที่จะหาทางพัฒนาจุดแข็งและปรับปรุงจุดบกพร่องของตนให้ดีขึ้น เช่น ถ้าไม่เก่งภาอังกฤษ..ซึ่งจำเป็นต้องนำมาใช้ในการทำงาน..ก็ควรขวนขวายหาโอกาสที่จะเรียนเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังต้องเป็นคนที่ไม่ยึดติดกับวิธีการหรือขั้นตอนการทำงานแบบเดิม ๆ โดยควรจะหาเทคนิคและแนวทางใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาการทำงานของตนเองให้ดีขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้นอยู่เสมอ
Endurance : มุ่งเน้นความอดทนความอดทนเป็นพลังของความสำเร็จ…อดทนต่อคำพูด อดทนต่อพฤติกรรมการดูหมิ่นหรือสบประมาท อดทนต่อความเครียดในการทำงาน…คนบางคนลาออกจากที่ทำงานเพราะเจอหัวหน้างานพูดจารุนแรง หรือเพียงแค่ถูกต่อว่าต่อหน้าที่ประชุมเท่านั้น…คุณรู้ไหมว่าการลาออกจากงานบ่อย ๆ นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี เพราะเวลาคุณไปสมัครงานที่ไหนเค้าอาจจะมองว่าคุณเป็นคนไม่มีความอดทนเลยก็เป็นได้ (เสียประวัติการทำงานของคุณเอง) หากคุณต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เลวร้ายหรือไม่ปรารถนา ขอเพียงแต่ให้คุณมีความอดทนและอดกลั้นเข้าไว้ แล้วคุณจะสามารถเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ได้สำเร็จ
Versatile : หลากหลายความสามารถ หลาย ๆ องค์กรย่อมต้องการคนที่มีความรู้ และความสามารถให้เข้ามาพัฒนาและปรับปรุงองค์กรให้ดีขึ้น…ขอให้ลองคิดดูว่าถ้าคุณเป็นเจ้าของบริษัท คุณอยากได้คนที่สามารถทำงานได้หลาย ๆ อย่าง หรือ ทำได้เฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง…แน่นอนคุณคงต้องการได้คนที่มีความสามารถทำงานได้หลากหลาย ไม่ปฏิเสธหรือหลีกเลี่ยงงานที่ได้รับมอบหมายพิเศษ…ซึ่งบางคนที่หลีกเลี่ยงงาน กลัวว่าจะต้องทำงานมากกว่าคนอื่น ไม่อยากให้ใครเอาเปรียบ ไม่เคยอาสาที่จะทำงานนอกเหนือจากงานที่รับผิดชอบ…แน่นอนว่าคนกลุ่มนี้ไม่มีทางที่จะได้รับความก้าวหน้าและความสำเร็จในชีวิตการทำงานได้เลย…ดีไม่ดีกลุ่มคนเหล่านี้อาจจะเป็นกลุ่มคนแรกที่ถูกพิจารณาให้ Lay Off ก่อนก็เป็นได้ (หากองค์กรต้องเผชิญกับสภาวะการเงินที่ถดถอย)
Energetic : กระตือรือร้นอยู่เสมอ ความสำเร็จต่าง ๆ ย่อมเกิดขึ้นได้ถ้าคุณมีความกระตือรือร้น และมีความตื่นตัวที่จะแสวงความรู้ใหม่ ๆ การรับฟังข้อมูลข่าวสาร ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาและอุปสรรคให้ประสบผลสำเร็จ โดยส่วนใหญ่คนที่มีความกระตือรือร้นจะเป็นคนที่ชอบลองผิดลองถูก มาทำงานก่อนเวลาเสมอเพื่อหาโอกาสค้นคว้าข้อมูลและหาความรู้เพิ่มเติม พยายามที่จะให้งานเสร็จก่อนหรือตรงตามเวลาที่กำหนด ซึ่งแตกต่างจากคนที่ขาดความกระตือรือร้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ไม่อยากให้วันทำงานมาถึง รอคอยเวลาเลิกงานหรือเสร็จสิ้นสัปดาห์การทำงาน ทำงานเฉื่อย ไม่สนใจรับฟังข้อมูลข่าวสารใด ๆ เลย ขอเพียงให้งานของตนเองเสร็จเท่านั้นเพื่อที่จะได้กลับบ้านหรือไปที่ไหน ๆ ตามที่ใจปรารถนา….ซึ่งทำนายได้เลยว่า บุคคลเหล่านั้นไม่มีทางหรือมีโอกาสน้อยมากในการได้รับความสำเร็จและความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของตน
Love : รักงานที่ทำ ขอให้ตระหนักไว้เสมอว่า “คนเราไม่สามารถเลือกเกิดได้ แต่เราสามารถเลือกที่จะรักงานที่ทำอยู่ได้” พบว่าในยุคสมัยนี้การเลือกงานที่รักมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยกว่าการที่จะเลือกรักงานที่ทำ ดังนั้น “หากคุณไม่สามารถเลือกงานที่รักได้ คุณก็ควรเลือกที่จะรักงานที่คุณทำ” เพราะความรู้สึกนี้เองจะส่งผลให้คุณมีความสุขกับงานของคุณ..ขอให้คุณลองถามตัวเองว่าคุณรักงานที่ทำอยู่หรือไม่ แล้วคุณมีพฤติกรรมอย่างไรหากคุณมีความรู้สึกว่าคุณไม่รักงานที่ทำอยู่เลย และผลงานที่เกิดขึ้นของคุณเป็นอย่างไรบ้าง..บางคนเบื่อหน่ายกับชีวิต..ทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม…ไม่มีเป้าหมายในการทำงาน ซึ่งย่อมแน่นอนว่าคุณคงไม่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานของคุณเลย…พื้นฐานของความสำเร็จอยู่ที่ความรักในสิ่งนั้น เมื่อคุณมีความรัก คุณจะมีความสุขกับงานที่ทำ ซึ่งจะทำให้คุณพยายามหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าของงานที่ทำอยู่ตลอดเวลา และนั่นจะส่งผลให้คุณรู้จักวางแผนชีวิตและเป้าหมายความสำเร็จในการทำงานของคุณ
Organizing : จัดการเป็นเลิศ การจัดการงานที่ดี จะทำให้คุณรู้ว่าควรจะทำอะไรก่อนและหลังบ้าง สามารถจัดสรรเวลาและทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพได้อย่างเต็มที่ การจัดการจะเป็นสิ่งผลักดันให้คุณต้องวางแผนและเป้าหมายการทำงานอยู่เสมอ ทั้งนี้คุณเคยสำรวจตัวเองบ้างหรือไม่ว่า คุณมีความสับสนและไม่สามารถทำงานได้เสร็จตามแผนงานที่กำหนดไว้..ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองจะเป็นเครื่องบ่งบอกว่าคุณขาดประสิทธิภาพในการจัดการงานของคุณ คุณไม่สามารถบริหารทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีให้เกิดประสิทธิผลได้
Positive Thinking : คิดแต่ทางบวก ความคิดทางบวกจะเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้คุณมองโลกในแง่ดี มีกำลังใจและพลังที่จะทำงานต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายให้ประสบผลสำเร็จ คนที่มีความคิดทางบวกจะเป็นคนที่สนุกและมีความสุขกับงานที่ทำ แสวงหาโอกาสที่จะช่วยเหลือและสนับสนุนผู้อื่นอยู่เสมอ…สำหรับผู้ที่มีความคิดในด้านลบอยู่ตลอดเวลา จะเป็นผู้ที่หมกมุ่นอยู่แต่กับปัญหา ชอบโทษตัวเองและคนรอบข้างอยู่เสมอ ขาดความคิดที่จะพัฒนาตนเองและงานที่ทำ…ในที่สุดผลงานที่ได้รับ ย่อมขาด ประสิทธิภาพค่ะ