ทำอย่างไรให้ถูกใจหัวหน้า

ทำอย่างไรให้ถูกใจ หัวหน้างาน คือการทำตัวเราเอง เมื่อเราอยู่ใต้บังคับบัญชาของหัวหน้า ให้เป็นที่ยอมรับและถูกใจหัวหน้างาน ลองอ่านดูนะคะ โดยปกติแล้ว ยามที่ขึ้นเป็นผู้บริหาร เรามักคำนึงถึงหลักการปกครองผู้ใต้บังคับบัญชาก่อนเป็นอันดับแรก น้อยคนนักที่จะคิดถึงการ ติดต่อ ประสานงานกับผู้บริหารที่อยู่เหนือจากคุณขึ้นไป แต่เชื่อหรือไม่ว่า สิ่งนี้มีความสำคัญไม่น้อย เพราะการที่คุณจะก้าวหน้าหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณดูแลคนของคุณได้ดีเพียงใด แค่เพียงประการเดียว แต่มันหมายรวมไปถึง วิธีการที่คุณทำงานร่วมกับผู้ที่อยู่ในระดับสูง ๆ ขึ้นได้ด้วย มาดูกันว่าการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับหัวหน้างานมีความสำคัญอย่างไร หัวหน้างาน ในที่นี้ หมายถึง บุคคลที่รับผิดชอบงานในระดับสูงว่าคุณ ไม่เจาะจงว่าต้องเป็นหัวหน้างานโดยตรงเท่านั้น หัวหน้างาน เป็นเสมือนตู้เก็บข้อมูลสำคัญ และเป็นผู้กำหนดแนวทางการบริหารงานในบริษัท ดังนั้น ในการทำงานของคุณ ไม่ว่าจะหน้าที่ใด ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ที่จะต้องข้องเกี่ยวกับสิ่งที่หัวหน้างานของคุณรู้ และกำหนดขึ้น การที่คุณ และหัวหน้างานมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ย่อมทำให้คุณได้รับรู้ข้อมูล ความรู้ และความสามารถที่อีกฝ่ายมีได้ไม่ยาก (หากคุณรู้จักที่จะเก็บเกี่ยว) ลองคิดดูสิว่าการตัดสินใจของคุณจะถูกตากรรมการสักแค่ไหน หากคุณรู้แต่เนิ่น ๆ ว่าแนวทางของบริษัทกำลังจะไปในทางไหน, ผู้บริหารระดับสูงมีความคิดเห็นต่องานนี้อย่างไร และทั้งหมดนี้ อาจจะพัฒนาไปสู่ความก้าวหน้าในตำแหน่งงานใหม่ๆ (ที่ดีกว่า) ของคุณด้วย นอกเหนือจากเรื่องของข้อมูลข่าวสาร สิ่งที่หัวหน้างานจะให้กับคุณได้ คือ ความสะดวกในการติดต่อเชื่อมโยงกับแผนกอื่น ๆ ในบริษัท ซึ่งอยู่ในอำนาจความรับผิดชอบของเขา เมื่อหัวหน้างานแนะนำคุณไป มีหรือที่ การทำงานประสานกันจะไม่ลื่นไหล โดยเฉพาะในยามที่คุณต้องการข้อมูล และความช่วยเหลือจากบุคคลที่ไม่คุ้นเคย ในทางกลับกัน เพื่อไปให้ถึงความสำเร็จ หัวหน้างานของคุณก็ต้องการความช่วยเหลือจากคุณเช่นกัน ในฐานะที่คุณเป็นผู้สนองแนวทางการทำงานของเขา หากคุณไม่ร่วมมือ ความสำเร็จของงานคงเกิดขึ้นได้ยาก ความสำคัญของคุณอยู่ที่การเป็นผู้ที่คอยแจ้งให้หัวหน้างานรับรู้ถึงความคืบหน้าของงาน ปัญหาที่เกิดในยามลงมือทำงานจริง รวมถึงข้อเสนอแนะต่าง ๆ ในฐานะของผู้ลงมือปฎิบัติ ซึ่งบ่อยครั้งผู้ที่อยู่ในระดับบริหารมักไม่ได้รับข้อมูลในส่วนนี้ ทั้ง ๆ ที่มันมีประโยชน์อย่างยิ่งที่จะช่วยให้งานประสบผลสำเร็จ รวมทั้งสร้างเสริมประสิทธิภาพในการทำงานให้กับหัวหน้างานของคุณ ไม่ใช่ให้คุณไปประจบประแจหัวหน้างาน แต่ให้คุณแสดงความจริงใจ และความตั้งในในการทำงาน เพื่อความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพและประสบผลสำเร็จ สองสิ่งสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างคุณ และหัวหน้างาน

1.เข้าใจความต้องการของหัวหน้างาน
ก่อนอื่นคุณต้องพิจารณาถึงจุดใหญ่ใจความของงานชิ้นที่หัวหน้างานของคุณมอบหมาย ให้เวลากับการเรียนรู้ชิ้นงานนั้น ๆ ให้ถ่องแท้ เพื่อให้การทำงานเป็นไปตามเป้าประสงค์ สิ่งหนึ่งที่คุณควรทำความเข้าใจ คือ หัวหน้างานของคุณต้องรับผิดชอบงานอื่น ๆ นอกเหนือจากที่มอบหมายให้คุณด้วย และในงานหลาย ๆ อย่างนั้นอาจมีการขัดแย้งกันเอง ซึ่งหัวหน้างานของคุณต้องแบกรับความกดดันที่อาจเกิดจากทีมงานหลาย ๆ ทีมซึ่งเขาต้องพยายามแก้ปัญหาด้วยการประนีประนอมเพื่อความพอใจของทุกฝ่าย ในการทำงาน คุณจึงไม่ควรสร้างความกดดันเพิ่มให้กับหัวหน้างานโดยไม่จำเป็น หาวิธีที่ทำงานในส่วนของตนให้สำเร็จ โดยไม่กระทบกับทีมอื่น ๆ นอกจากจะช่วยลดปัญหาน่าปวดหัวให้หัวหน้างานเห็นความดีของคุณแล้ว ยังช่วยประหยัดเวลาในการทำงานของทั้งคุณและหัวหน้างานด้วย
2.ทำความเข้าใจกับรูปแบบการทำงานของหัวหน้างาน
การทำงานร่วมกับผู้อื่น คุณต้องรู้จักปรับเปลี่ยนตัวเองบ้าง เพื่อให้การทำงานสอดประสานกันได้ดี โดยเฉพาะในกรณีที่เรากำลังพูดถึง คือ หัวหน้างาน เพราะเขาจะไม่มาปรับตัวเพื่อเราแน่นอน และข้อห้ามสำคัญเพียงอย่างเดียวเลยที่ไม่ควรมีในตัวคุณต่อหัวหน้างาน นั่นก็คือ อย่าแสดงความเสแสร้ง คุณไม่ควรแสดงการกระทำที่จริงใจอย่างเสแสร้ง ไม่จะกระทำด้วยกาย วาจา ใจ ต่อหัวหน้างาน (หรือแม้แต่บุคคลอื่นทั่วไป) เพราะมันจะส่งผลร้ายให้คุณในภายหลัง หากคุณมีปัญหา หรือข้อข้องใจเกี่ยวกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขอแนะนำว่าให้คุณพูดคุยหรือปรึกษากับหัวหน้างานอย่างจริงใจและเปิดกว้าง มันจะทำให้คุณรู้สึกดี ที่ได้เปิดใจ เพราะไม่มีใครแสดงความเสแสร้งแล้วจะมีความสุขในการทำงานและประสบผลสำเร็จในภายหน้า หากคุณมีความคิดที่จะทำงาน หัวหน้างานแต่ละคนก็มีสไตล์การทำงานแตกต่างกันไป ก่อนอื่น คุณคงต้องลองสังเกตดูก่อนว่า เจ้านายของคุณชอบทำงานแบบไหน สบาย ๆ หรือชอบทำงานแบบเป็นหลักเป็นเกณฑ์ เช่นว่า ถ้าจะเสนอความคิดเห็น เขาชอบให้มีการนำเสนอความคิดเห็นสั้น ๆ ด้วยการนำเสนอรายงานเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนการประชุม หรือชอบที่จะนั่งถกกันสด ๆ กับคุณ เวลาที่มีปัญหาเกิดขึ้น, เวลาที่มีปัญหา เขาชอบให้คุณเดินเข้าไปปรึกษาแบบทันทีทันใด หรือชอบให้คุณคิดตัดสินใจเอง เรื่องแบบนี้ค่อนข้างต้องอาศัยความช่างสังเกต และปรับตัว แต่หากคุณรู้สึกว่าไม่เก่งในการดูคน หรือไม่แน่ใจว่าคิดถูกหรือไม่ สอบถามกับหัวหน้างานของคุณตรง ๆ นับแต่วันที่เข้ารับตำแหน่งเลยก็ยังได้ เพราะนั่นเป็นการแสดงให้เห็นว่าคุณใส่ใจ และตั้งใจที่จะทำงานให้หัวหน้างานของคุณอย่างดีที่สุดทีเดียวถ้าคุณมีคุณสมบัติดังกล่าว ดังที่กล่าวมา แล้วใครกันที่จะเป็นที่รักของทุกคนโดยเฉพาะหัวหน้างานถ้าไม่ใช่คุณ

Comments are closed.