การบริการให้คำปรึกษาและบริการข้อมูล

สำหรับวันนี้จะเป็นการบริการให้คำปรึกษาและบริการข้อมูล ซึ่งสรุปเป็นแนวทางการทำงานได้ดังนี้ค่ะ
ขั้นตอนการดำเนินงาน

  1. สำรวจรายการเทคโนโลยีที่พร้อมให้บริการและข้อมูลผู้เชี่ยวชาญ
  2. จัดทำข้อเสนอโครงการ/อนุมัติโครงการ
  3. เตรียมงาน (จัดทำข้อมูลเทคโนโลยีที่พร้อมถ่ายทอด ข้อมูลผู้เชี่ยวชาญ แบบบันทึกการให้บริการ เจ้าหน้าที่ / สถานที่ / ขั้นตอนการให้บริการ)
  4. ประชาสัมพันธ์การให้บริการผ่านสื่อ (เอกสาร / เว็บไซต์)
  5. ดำเนินการให้คำปรึกษาและบริการข้อมูล / บันทึกข้อมูล
  6. ประเมินความพึงพอใจของผู้รับบริการ
  7. ติดตามผลการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์
  8. ประเมินผลด้านผลผลิต / ผลลัพธ์ของโครงการ
  9. จัดทำเอกสารและรายงานผล (ระบบออนไลน์ และระบบเอกสาร)

เทคนิคการดำเนินงาน

  1. เลือกเทคโนโลยีที่พร้อมถ่ายทอดให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน / ภาคอุตสาหกรรม / ประชาชนทั่วไป ทั้งนี้เพื่อให้สามารถใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในการเพิ่มผลิตภาพของกลุ่มผู้รับบริการ
  2. เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการต้องเป็นผู้มีหัวใจนักบริการ และมีทักษะในการประสานงานระหว่างผู้เชี่ยวชาญ และผู้รับบริการได้เป็นอย่างดี
  3. การบันทึกข้อมูลการให้บริการ ควรบันทึกรายละเอียดส่วนอื่น ๆ ที่ผู้รับบริการต้องการ หากไม่ใช่เทคโนโลยีที่มหาวิทยาลัยมีอยู่ ให้ประสานงานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อให้บริการต่อไป
  4. การติดตามผลการนำไปใช้ประโยชน์ ควรสอดแทรกการถามถึงข้อมูลหรือเทคโนโลยีที่ผู้รับบริการยังมีความต้องการต่อเนื่องเพื่อให้สามารถพัฒนาเป็นโจทย์วิจัยได้ต่อไป

การถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน

วันนี้มาลองดูขั้นตอนการดำเนินงานในการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนกันดีกว่า ใครจะลองทำบ้างจะได้มีแนวทางอย่างเป็นขั้นเป็นตอนไปดำเนินการได้เลย
ขั้นตอนการดำเนินงาน

  1. สำรวจความต้องการรับถ่ายทอดเทคโนโลยี
  2. จัดทำข้อเสนอโครงการ/อนุมัติโครงการ
  3. ประสานงานชุมชนเกี่ยวกับการรับสมัครและสถานที่สำหรับการถ่ายทอด
  4. สำรวจพื้นที่ของชุมชนเพื่อเตรียมความพร้อม
  5. เตรียมรายการที่เกี่ยวข้อง (วิทยากร เอกสาร สถานที่ วัตถุดิบ/วัสดุ เครื่องมือ อุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก)
  6. ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยี (ทดสอบความรู้ก่อนรับการถ่ายทอด ดำเนินการถ่ายทอด ทดสอบความรู้หลังการถ่ายทอด ประเมินความพึงพอใจต่อโครงการ)
  7. ติดตามผลการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
  8. ประเมินผลด้านผลผลิต/ผลลัพธ์ของโครงการ
  9. จัดทำเอกสาร และรายงานผล (ระบบออนไลน์ และระบบเอกสาร)

เทคนิคการดำเนินงาน

  1. การสำรวจความต้องการของชุมชน (Need Assessment) ต้องมีการเดินทางสู่พื้นที่ของชุมชนเพื่อสำรวจประกอบการสัมภาษณ์ความต้องการที่แท้จริง และมีผลสืบเนื่องถึงการได้มาซึ่งโจทย์วิจัย ถือเป็นการบูรณาการงานบริการวิชาการและงานวิจัยของหน่วยงาน
  2. การจัดทำข้อเสนอโครงการต้องเขียนแสดงให้เห็นถึงปัญหาและความต้องการของชุมชนในด้านต่าง ๆ อาทิ ต้องการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือต้องการให้มหาวิทยาลัยให้คำปรึกษาหรือบริการข้อมูลร่วมด้วย
  3. ในกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีนั้น วิทยากรต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ ทั้งในเชิงวิชาการและวิชาชีพ กล่าวคือ ต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีในองค์ความรู้ที่ทำให้ผู้รับการถ่ายทอดเข้าใจ และทำตามหรือประยุกต์ได้ รวมทั้งต้องมีเทคนิคในการบรรยายหรือปฏิบัติให้เกิดบรรยากาศที่สนุกสนานควบคู่กับการเรียนรู้
  4. การติดตามผลการนำไปใช้ประโยชน์ สามารถใช้เทคนิคการรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร (แบบติดตามผล) หรือบุคคล (โทรศัพท์) ควบคู่กันจะทำให้ได้ข้อมูลที่เที่ยงตรง และควรสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับปัญหา/อุปสรรคของการนำไปใช้ประโยชน์ด้วย เพื่อให้มหาวิทยาลัยใช้เป็นข้อมูลประกอบการขอสนับสนุนงบประมาณต่อเนื่องในปีงบประมาณถัดไป

ของทอดต่อยอดธุรกิจอาหาร

โครงการของทอดต่อยอดธุรกิจอาหาร
05fried-0105fried-0205fried-0305fried-041

  1. สถานภาพของเรื่องเล่าความสำเร็จและกลุ่มเป้าหมาย
  2. กลุ่มชุมชนสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด และกลุ่มสตรีชุมชนตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี มีอาชีพจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผลไม้ทอด อาทิ ฟักทองทอด เผือกทอด มันต่อเผือกทอด ขนุนทอด และกล้วยทอด โดยรับซื้อผลิตภัณฑ์จากชุมชนแหล่งอื่นมาจำหน่าย ณ ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ของสหกรณ์ พบว่า มียอดการจำหน่ายค่อยข้างสูง แต่กำไรน้อยเพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ผลิตเอง

  3. การดำเนินการและผลที่ได้รับ
  4. ศูนย์คลินิกเทคโนโลยีสถาบันวิจัยและพัฒนา ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปผลไม้แก่ชุมชนสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง และกลุ่มสตรีชุมชนตำบลเขาใหญ่ ต่อเนื่องมาตั้งปีงบประมาณ 2550- 2551 โดยเชิญวิทยากรจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร และวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตสินค้าชุมชน (OTOP) จากชุมชนสตรีบ้านทาน อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี มาให้ความรู้และศึกษาดูงานการประกอบธุรกิจการทำผลไม้ทอด แก่ ชุมชนเป้าหมาย จำนวน 65 คนผลที่ได้รับทำให้มีการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ของครอบครัวคือ ชุมชนโดยการนำของนางกัญญา แป้นทอง ประธานกลุ่มขนมได้รวมตัวกันผลิต ผลิตภัณฑ์จำหน่ายในศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารของสหกรณ์และจำหน่ายในงานการแสดงนิทรรศการต่างๆ รวมทั้งงานนิทรรศการตลาดนัดองค์ความรู้ SML ณ ทำเนียบรัฐบาล ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10