ผู้นำกับความขัดแย้ง ดร.ชัยเสฎฐ์ พรหมศรี

สรุปมาจาก“ผู้นำกับการสร้างความสมานฉันท์” ในเวทีเสวนา การประชุมวิชาการว่าด้วยนวัตกรรมผู้นำระดับชาติ ครั้งที่ 1 ปี พ.ศ. 2552 จัดโดย มหาวิทยาลัยรังสิต
หน้าที่ของผู้นำจึงต้องหาทางควบคุม หรือจำกัดกรอบของความขัดแย้ง ไม่ให้ลุกลามบานปลาย จนกลายเป็นความขัดแย้งที่ไม่สร้างสรรค์
ความขัดแย้งในสังคมหรือองค์กร เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เพราะมนุษย์ต้องทำงานร่วมกัน ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โอกาสกระทบกระทั่งกันจึงมีมากเป็นเรื่องธรรมดา
อย่างไรก็ดี มุมมองของความขัดแย้งในปัจจุบัน เปลี่ยนไปมาก จากเดิมที่เคยมองว่าความขัดแย้งเป็นสิ่งไม่ดี ต้องขจัดไป กลายเป็นว่า เราไม่อาจหลีกเลี่ยงความขัดแย้งไปได้ ฉะนั้นต้องเรียนรู้และจัดการความขัดแย้งเหล่านั้น
จนถึงแนวคิดที่ว่า ความขัดแย้งไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเสมอไป ถ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสม ก็อาจนำไปสู่การสร้างประโยชน์ให้กับองค์กร
หน้าที่ของผู้นำจึงต้องหาทางควบคุม หรือจำกัดกรอบของความขัดแย้ง ไม่ให้ลุกลามบานปลาย จนกลายเป็นความขัดแย้งที่ไม่สร้างสรรค์
สาเหตุที่ทำให้คนเราขัดแย้งกัน มาจาก 2 เรื่องคือ 1. ความต้องการที่เหมือนกัน และ 2. ความต้องการที่แตกต่างกัน ซึ่งเมื่อพิจารณาให้ลึกลงไปจะเห็นว่า ทั้งสองประการนี้มาจากรากปัญหาเดียวกันคือ ความขัดแย้งภายในตนเอง ซึ่งเป็นต้นเหตุนำไปสู่ความขัดแย้งในระดับอื่น
ตัวอย่างความขัดแย้งในองค์กร หรือในสังคม ถ้าวิเคราะห์สาเหตุแล้วจะพบว่าเกิดจากความรู้สึกนึกคิดของคนที่มีความต้องการไม่เหมือนกัน และต้องการจะได้รับในสิ่งที่ตนเองต้องการ โดยขัดขวางอีกฝ่ายหนึ่งไม่ให้บรรลุในสิ่งที่ต้องการ
หลักศาสนาพุทธบอกว่า ความต้องการที่แตกต่างกันของบุคคล เกิดขึ้นภายในตัวบุคคล มาจากอกุศลมูล 3 อย่าง คือ โทสะ โมหะ และ โลภะ สิ่งที่ร้ายที่สุดและเป็นสาเหตุของปัญหาทุกอย่างในโลก คือ โลภะหรือความโลภ
“เมื่อด้านไม่ดีครอบงำความคิด หรือความรู้สึกอยากได้ อยากมี อยากเป็นได้มากกว่า ก็ออกคำสั่งไปสู่ความคิดว่า จะทำอย่างไรถึงจะได้ในสิ่งที่ตนเองต้องการ ก็จะนำไปสู่การกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งความอยากเหล่านั้น”
ผู้นำในสังคมส่วนมากมักตกเป็นทาสของอกุศลมูล โดยเฉพาะกับโลภะ ทำให้ลุ่มหลงมัวเมาในกิเลสของตัวเอง
มีคนเคยกล่าวไว้ว่า สิ่งที่ผู้นำต้องระวัง มีด้วยกัน 3 ประการ ได้แก่ เงิน อำนาจ และกามารมณ์
สังคมไทยมีวัฒนธรรมเฉพาะที่สืบทอดมายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมในด้านที่ไม่ดี เช่น ระบบอุปถัมภ์ หรือ ระบบเกื้อกูลกันในหมู่ญาติสนิทมิตรสหาย ทำให้มีความเชื่อผิดๆ ว่า บุคคลใดก็ตาม ถ้าอยากอยู่อย่างมีหน้ามีตามีความสุข ต้องมีเงิน อำนาจ และเครือข่าย
ทำให้แต่ละคนมุ่งสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา โดยไม่สนใจว่าจะได้มาโดยวิธีใด
ผู้นำก็เช่นเดียวกันที่ชอบมองว่า การได้มาซึ่งอำนาจ เป็นหนทางไปสู่การได้มาซึ่งเงิน ทรัพย์สมบัติ และความสะดวกสบายของชีวิต
ทำให้จุดสนใจของผู้นำอยู่ที่ การรักษาไว้ซึ่งอำนาจ หรือการได้มาซึ่งอำนาจของตน อันนำไปสู่การสร้างความขัดแย้งกับบุคคลอื่น
ดังนั้น การสร้างความสมานฉันท์ในองค์กรหรือสังคม จะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยหลักธรรมของความเป็นผู้นำอย่างแท้จริง โดยปล่อยวางและละซึ่งความโลภ ความเห็นแก่ตัว
ผู้นำที่ดีต้องมีหลักของการเป็นผู้บริหารคือ พรหมวิหาร 4 และหลักของการเป็นผู้นำ ได้แก่ ทศพิธราชธรรม ภายใต้ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
“ส่วนมากผู้นำในองค์กรและสังคม มักเลือกข้างว่า อะไรคือสิ่งที่ควรจะเป็น ไม่ได้วางตัวเป็นกลาง มักตัดสินโดยมีอคติว่า สิ่งนี้ดี สิ่งนั้นไม่ดี มองว่าตัวเองมีคุณธรรมและจริยธรรมมากกว่าคนอื่น คนที่ไม่ได้ดำเนินชีวิตเหมือนตัวเองเป็นฝ่ายผิด”
ผู้นำต้องคำนึงถึงสิ่งที่ตนเองจะพูดออกไปว่า สิ่งนั้นก่อให้เกิดผลดีหรือผลเสียต่อทุกฝ่ายอย่างไร และต้องพยายามฟังทุกฝ่ายให้มาก มากกว่าจะพูดอยู่ฝ่ายเดียว
5 ผู้นำที่ไม่ดี
โรเบิร์ต เจ.อัลลิโอ ได้เขียนบทความชื่อ Bad leaders : how they get that way and what to do about them ในวารสาร Strategy & Leadership 2007 โดยสรุปประเด็นสำคัญของการเป็นผู้นำที่ไม่ดีเอาไว้ 5 อย่าง คือ
1. เกิดจากความผิดปกติทางบุคลิกภาพ เช่น หลงตัวเอง ชอบให้คนยกย่อง ปราศจากการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น อย่างไรก็ดี ผู้นำที่หลงตัวเองไม่ใช่จะนิสัยเสียไปทุกคน ยุคสมัยใหม่ผู้นำที่หลงใหลตัวเองก็มุ่งเน้นไปที่การบรรลุวิสัยทัศน์ การดึงดูดพนักงานที่อุทิศตน และกระตุ้นองค์กรให้บรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่
2. แนวคิดหลักในเรื่องของ Akrasia โซเครติส ว่าด้วยความอ่อนแอของจิตใจ
3. ค่านิยมที่ผิด ผู้นำบางคนชอบเลือกผลประโยชน์ของตัวเอง มากกว่าผลประโยชน์ของส่วนรวม
4. หลีกเลี่ยงความจริง ผู้นำบางคนไม่กล้าเผชิญความจริง เช่น ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ 3 ค่ายของสหรัฐอเมริกา ไม่กล้ายอมรับความจริงว่าโตโยต้าได้เข้ามาครอบครองตลาดโลกเรียบร้อยโรงเรียนซูชิแล้ว
5. ผู้ตามสมรู้ร่วมคิด