เงินกับความพึงพอใจในงานและชีวิต (เปิดโลกทัศน์

)
 
 

หลายคนเชื่อว่าความสุขในชีวิตเกิดจากฐานะทางการเงินที่มั่งคั่งและมั่นคงขึ้น หรือกล่าวได้ว่ายิ่งมีเงินมากเท่าใด ก็ยิ่งทำให้ตนเองมีตวามสุขมากขึ้นเท่านั้น แต่จากผลการวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากพบว่า เงินมีผลกระทบน้อยมากต่อความสุข ซึ่งจุดเริ่มต้นของงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความสุขและการมีเงิน เริ่มต้นจากนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อว่า Robert Esterlin ซึ่งทำการวิจัยเรื่อง 'Does economic growth improve the human lot?' ในปี 1974 โดยทำการวิจัยเชิงเปรียบเทียบความสุขและรายได้ของประชาชนระหว่างประเทศต่างๆ ทั้งประเทศที่ร่ำรวยและประเทศที่ยากจนพบว่า ระดับค่าความสุขโดยเฉลี่ยไม่ได้มีความแปรนปรวนมากนักต่อรายได้ประชาชาติต่อหัว อย่างน้อยก็มี 4 ประเทศที่มีรายได้เพียงพอที่จะตอบสนองต่อความต้องการขั้นพื้นฐาน ซึ่งสิ่งผิดปกติหรือสิ่งที่ดูเหมือนขัดแย้งกันที่ Esterlin ค้นพบก็คือ (Esterlin Paradox) เงินมีผลกระทบน้อยมากต่อความสุข (ทั้งที่การเติบโตทางเศรษฐกิจมีการขยายตัว) โดยตัวอย่างที่คล้ายคลึงกันที่เห็นได้ชัดในอดีตที่ผ่านมาก็คือ ถึงแม้จะมีรายงานตัวเลขรายได้ของประชาชนในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงระหว่างปี 1946 ถึง ปี 1970 แต่ความสุขโดยเฉลี่ยของคนในสังคมอเมริกันไม่ได้แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของความสุขที่มีความต่อเนื่องกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น เพราะความสุขของคนอเมริกันกลับลดลงในช่วงระหว่างปี 1960 ถึง 1970

อย่างไรก็ดีมีงานวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์ที่ตีพิมพ์ในช่วงปี 2008 ในวารสาร Social Indicators Research พบว่าสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมีผลกระทบต่อความสุขมากขึ้นกว่าเดิม จากการศึกษาที่ผ่านมา อย่างเช่นงานวิจัยของ Heady, Muffels, และ Wooden ที่ทำการวิจัยโดยศึกษาข้อมูลรายได้ครัวเรือนของ 5 ประเทศ อันได้แก่ ออสเตรเลีย อังกฤษ เยอรมัน ฮังการี และ เนเธอแลนด์ เพื่อที่จะทำการประเมินผลอีกครั้งสำหรับผลกระทบของความมั่นคงทางเศรษฐกิจต่อความสุข ทั้งนี้อาจเป็นเพราะสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในโลกปัจจุบันทำให้คนมีความต้องการที่จะใช้เงินเพื่อตอบสนองความต้องการในระยะสั้น เพราะอย่างน้อยเงินก็สามารถสร้างความสุขให้กับคนได้ในระยะหนึ่ง แต่ในระยะยาวการมีเงินก็ไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ว่าคนๆ นั้นจะมีความสุขตลอดไปหรือไม่

ในวารสาร The Physician Executive ฉบับเดือนธันวาคม ปี 2008 ได้ตีพิมพ์ข้อมูลจากผลการสำรวจของผู้บริหารทางการแพทย์จำนวน 104 คน เพื่อชี้ให้เห็นว่าปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการปรับปรุงความพึงพอใจในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์คืออะไร ซึ่งจากผลการวิจัยพบว่า ความก้าวหน้าในอาชีพ (Personal growth) การพัฒนาตนเอง (Personal development) ความสมดุลระหว่างงานและเรื่องส่วนตัว (Work/life balance) การสื่อสารที่มีประสิทธิผล (Effective communication) และความสัมพันธ์ของบุคคล (Personal relationships) เป็นกุญแจที่สำคัญที่นำไปสู่การปรับปรุงความพึงพอใจในการทำงานสำหรับพนักงานของตน

โดย 46 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามได้ระบบว่า การปรับปรุงเรื่องการสื่อสาร และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมีความสำคัญและเป็นแนวทางที่ประสบความสำเร็จต่อการปรับปรุงความพึงพอใจในการทำงานของบุคลากรของตน อีก 35 เปอร์เซ็นต์ตอบว่า ความก้าวหน้าและพัฒนาในอาชีพ รวมถึงการปรับปรุงทัศนคติ การจูงใจ และความมีประสิทธิผลเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะกระตุ้นให้เกิดความพึงพอใจ นอกจากนี้ผู้ตอบแบบสอบถามประมาณ 19 เปอร์เซ็นต์เท่ากัน ระบุว่า การปรับปรุงความสมดุลของคุณภาพชีวิต และการปรับปรุงเรื่องของการสื่อสารและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมีความสำคัญต่อการสร้างความพึงพอใจในการทำงาน ในขณะที่อีก 9 เปอร์เซ็นต์ตอบว่า การปรับปรุงคุณภาพทางด้านการเป็นผู้นำเป็นวิธีการที่สำคัญ และมีเพียงแค่ 3 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามได้ระบุว่าการใช้โบนัสเป็นแนวทางที่ช่วยปรับปรุงความพึงพอใจในการทำงานของพนักงาน ซึ่งจากข้อมูลของผลการสำรวจนี้ทำให้คิดต่อได้ว่า เงินไม่ได้เป็นกุญแจที่สำคัญต่อการสร้างความสุขในการทำงานเสมอไป มีผู้บริหารทางการแพทย์บางท่านได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การเพิ่มความรับผิดชอบพร้อมกับเพิ่มเงินให้ไม่สามารถจูงใจพนักงานได้ ถ้าพนักงานคนนั้นไม่ได้ต้องการที่จะแบกรับความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่แรกเริ่ม

เพราะฉะนั้นแนวทางที่จะช่วยสร้างความพึงพอใจในการทำงานให้มากยิ่งขึ้น ไม่ได้อยู่ที่เงิน นั่นหมายความว่าเงินไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่สร้างความสุขในการทำงาน ที่เป็นเช่นนี้เพราะการสำรวจนี้ทำการเก็บข้อมูลจากผู้บริหารทางการแพทย์ซึ่งบุคลากรของคนเหล่านี้ก็คือแพทย์ซึ่งมีค่าตอบแทนหรือรายได้สูงอยู่แล้ว ทำให้อาจไม่ค่อยให้ความสนใจต่อปัจจัยทางการเงินเท่าใดนัก ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับผลการสำรวจของหลายๆ สำนักในต่างประเทศที่ระบุว่าสาเหตุของการลาออกจากงานของพนักงานส่วนใหญ่มาจาก "ค่าตอบแทนที่ไม่เพียงพอ" (Compensation) ทำให้สามารถสรุปได้ว่า ปัจจัยเรื่องเงินมีผลกระทบต่อความสุขหรือความพึงพอใจในการทำงานของคนหรือพนักงานในองค์กรไม่มากก็น้อย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาชีพของแต่ละบุคคลนั่นเอง

เพราะฉะนั้นเราจึงไม่สามารถสรุปได้แบบเต็มปากเต็มคำนักว่าเงินไม่สามารถซื้อความสุขได้ เพราะในความเป็นจริง เราทุกคนเกิดมาต้องใช้เงิน เพราะผลจากสำรวจข้อมูลแบบไม่เป็นทางการของผมเองที่มีต่อกลุ่มนักศึกษา พนักงานบริษัท หรือข้าราชการ ส่วนใหญ่ตอบไปในทิศทางเดียวกันว่า ที่ทำงานอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะเงิน แต่ไม่ได้หมายความว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงานคือเรื่องเงินเสมอไปนะครับ เพราะปัจจัยที่เป็นตัวจูงใจทำให้บุคคลเหล่านี้มีความพึงพอใจในการทำงานมีแตกต่างกันไป แต่ทุกคนก็ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องการมีเงิน เพราะเขาเหล่านั้นทราบดีว่าถ้าไม่มีเงินก็ไม่สามารถดำเนินการอะไรบางอย่างในชีวิตได้ตามที่ควรจะเป็น แต่การที่คนเราจะมีเงินมากหรือน้อยและพึงพอใจหรือไม่พึงพอใจหรือมีความสุขกับเงินที่ตนเองมีหรือไม่นั้น เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล เพราะความสุขเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรมหรือเป็นสิ่งที่คิดส่วนตัว (Subjective) ถ้าเรามีเงินในระดับที่เลี้ยงชีพเพื่ออยู่ในสังคมโดยสามารถตอบสนองต่อความต้องการขั้นพื้นฐานได้ ผมคิดว่าเราได้ใช้เงินเพื่อสร้างความสุขให้เราแล้ว แต่ถ้าเรามีไม่พอที่จะตอบสนองต่อความต้องการขั้นพื้นฐาน ตรงนี้เป็นปัญหาที่ทำให้เราไม่สบายใจหรือทุกข์ใจได้ แต่คนที่ต้องการมีเงินมากๆ เพื่อตอบสนองความต้องการที่เกินพอดีหรือความต้องการที่เกินพื้นฐานความจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการเปรียบเทียบตนเองอยู่ตลอดเวลากับคนที่มีเงินมากกว่า คนเหล่านี้เปรียบเสมือนสุนัขที่เอาเนื้อผูกติดไว้ที่หลังและพยายามวิ่งไล่งับเนื้อนั้น แต่งับอย่างไรก็ไม่โดนสักดี เพราะไม่รู้จักความพอดีนั่นเอง อย่างนี้มีเงินก็ไม่มีความสุขหรอกครับ

ดร.ชัยเสฏฐ์ พรหมศรี
E-mail: Chaiyaset_Promsri@yahoo.com