การบริหารจัดการด้วย ค่านิยมแบบไทยๆ

สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ เป็นการพักผ่อนการทำงานที่มีวันหยุดที่ยาวนานที่สุดของปี 2553 นี้ เพราะเป็นวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งจัดเป็นวันขึ้นใหม่ไทยของเรา ดังนั้นในสัปดาห์นี้ช่วงเวลาของรายการ คนสำราญ งานสำเร็จ ดิฉันขอนำเรื่องการบริหารจัดการด้วย ค่านิยมแบบไทยๆ มาเล่าให้ฟังค่ะ
คนไทยเราภาคภูมิใจกับความเป็นชาติ ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาหลายร้อยปี มีค่านิยมและวัฒนธรรมอันดีงามที่สืบทอดกันมาจากคนแต่ละรุ่นมาถึงปัจจุบัน ชั่วระยะเวลาประมาณ 700-800 ปี นับแต่การก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัย วัฒนธรรมและค่านิยมหลายประการได้ถูกลบเลือนจางหายไป แต่ก็มีค่านิยมอีกหลายประการ ที่ยังคงอยู่และแสดงถึงความเป็นคนไทยของเรา ที่มีทั้งข้อดีและข้อน่าเป็นห่วง หากนำมาใช้ไม่เหมาะสมกับเหตุการณ์ ซึ่งดิฉันจะหยิบยกค่านิยมบางประการของไทย ที่มีผลกระทบต่อการบริหารงานมาเล่าสู่กันฟังค่ะ
Performance Management คือ แนวความคิดด้านการบริหารคน เพื่อให้ได้ผลงานมากที่สุด ซึ่งผลงานนั้นวัดโดยตัวชี้วัดต่างๆ เช่น จำนวนชิ้นงาน คุณภาพของผลิตภัณฑ์ ความพึงพอใจของลูกค้า เวลา และต้นทุนในการดำเนินงาน รายได้ ผลกำไร ราคาหุ้นต่อหน่วย เป็นต้น ทั้งนี้ การวัดผลงานในปัจจุบันจะวัดเพียงแค่ “ชิ้นงาน” ไม่ได้ จำเป็นต้องมีเกณฑ์ในการประเมินหลายปัจจัยด้วยกัน สำหรับการที่ จะบริหารคน ให้ทำงานได้ผลงานตามที่ต้องการ ก็ต้องอาศัยองค์ประกอบหลายประการเช่นกัน โดยเมื่อพิจารณาแล้ว การทำ PM จะต้องเริ่มจากการกำหนดกลยุทธ์และเป้าหมายที่สนับสนุน และสอดคล้องกับกลยุทธ์และเป้าหมายธุรกิจขององค์กร จากนั้นก็ต้องมีการกำหนดมาตรฐานในการคัดสรร พัฒนา ประเมินผล และให้รางวัลบุคลากรภายใต้กรอบกลยุทธ์ขององค์กร ทั้งนี้ กระบวนการขั้นตอนการทำงานของทั้งหมด ต้องสะท้อนถึงค่านิยมที่เป็นแบรนด์นายจ้างขององค์กร ที่เป็นเอกภาพ กับ
แบรนด์ขององค์กรและสินค้าอย่างสนิทแนบแน่น
แน่นอนว่าการทำ PM หากจะให้ได้ผลสัมฤทธิดังความมุ่งหมาย ผู้ที่เกี่ยวข้องคือ ผู้บริหาร ที่มีบทบาท ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมในการกำหนดนโยบายการทำงานโดยภาพรวม การคัดเลือกพนักงาน การพัฒนาคน ประเมินผลงาน และพิจารณารางวัลผลตอบแทน จะต้องเป็นผู้ที่มีค่านิยมดังต่อไปนี้ค่ะ
1.มุ่งเน้นผลงาน (Result–Oriented)
2.บริสุทธิ์ยุติธรรม (Justice)
3.นิยมความโปร่งใส (Transparency)
4.มีความเป็นประชาธิปไตย (Democracy) คือ เชื่อในการมีสิทธิที่เท่าเทียมกันของพนักงานทุกคน ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง นอกจากนี้ การเป็นประชาธิปไตยยังหมายความถึง การมีใจเปิดกว้าง รับฟังความเห็นของทุกฝ่าย เปิดใจยังไม่พอ ต้องเปิดโอกาสให้บุคลากรมีสิทธิแสดงความคิดเห็นด้วย
ค่านิยม 4 ประการหลักนี้ เมื่อพิจารณาให้ลึกซึ้งอาจเป็นมากกว่าค่านิยมก็เป็นได้ ผู้เขียนมองว่ามันคือ คุณธรรมประจำใจที่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนคือ ผู้บริหารและพนักงานต้องมีกันทุกคน เพื่อให้การทำ PM เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่เล่นพรรคเล่นพวกเห็นแก่หน้าใครทั้งสิ้น
ค่านิยมหลักของคนไทยนั้น เห็นได้อย่างชัดเจนเช่น เวลาชาวต่างชาติมาเที่ยวเมืองไทย ก็มักติดใจในอัธยาศัยใจคอของคนไทยที่มีความโอบอ้อมอารี ยิ้มแย้มแจ่มใส รู้จักเกรงอกเกรงใจ ให้เกียรติผู้อาวุโส ทั้งนี้ ค่านิยมที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นค่านิยมหลักของคนไทยมีดังนี้ คือ
1.การเคารพผู้อาวุโส
2.การเกรงใจ
3.การรู้จักตอบแทนบุญคุณ
4.การมีน้ำใจ
5.การรักษาหน้า ไม่เผชิญหน้ายามมีข้อขัดแย้ง
ยังมีค่านิยมอื่นๆ อีกหลายประการ แต่ขอนำมาพูดคุยกันเฉพาะ 5 ประการนี้ ที่มีผลกระทบต่อการนำแนวคิด PM ไปปฏิบัติ
ค่านิยม คือ ดาบสองคม
เรื่องของความเชื่อและค่านิยมเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการนำมาใช้ เป็นเหมือนดาบสองคมที่ถ้าใช้ให้ถูกกับสถานการณ์ก็จะเกิดผลดี แต่ถ้านำมาใช้ไม่ถูกก็เกิดโทษมหันต์ จากประสบการณ์ทำงานส่วนตัวที่ดิฉันเป็นที่ปรึกษาให้กับโรงงานอุตสาหกรรมหลายๆแห่ง และประสบการณ์ของคนทำงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนพบว่า ค่านิยมของไทย ที่ถูกนำมาใช้ในองค์กรในทางที่ผิด มีผลทำให้ประสิทธิภาพในการบริหารงานลดลงอย่างไร และสร้างปัญหาอะไรบ้าง การให้เกียรติผู้อาวุโส การเคารพนบนอบ และแสดงความสุภาพอ่อนน้อมต่อผู้อาวุโสกว่า โดยวัยวุฒิและตำแหน่งหน้าที่การงาน เป็นการแสดงออกที่เหมาะสมงดงามและเป็นค่านิยมที่ควรรักษา แต่มีข้อแม้ว่า ผู้อาวุโสนั้นต้องเป็นผู้มีคุณธรรมสมควรต่อการที่เราจะเคารพ แต่ในสังคมนั้นย่อมมีทั้งคนดีและไม่ดี มีผู้ใหญ่ที่ทำตัวไม่เหมาะสมใช้ความเป็นผู้มีอาวุโสกดดัน บีบบังคับ หรือขอร้องแกมบังคับ ทำให้องค์กรไม่สามารถคัดเลือก พัฒนา ประเมินผล และให้รางวัลบุคลากรตามความเป็นจริง แต่ต้องเลือก หรือสนับสนุนบุคลากรเพียงเพราะเขาผู้นั้นมีวัยแก่กว่า หรือบุคลากรคนนั้นมีผู้อาวุโสฝากมา ด้วยความเกรงในอาวุโสและด้วยความเกรงใจที่ผิดกาละและกรณี ทำให้ผู้บริหาร ต้องทำงานโดย ยึดความเกรงใจ แทนที่จะยึดผลงานเป็นหลัก
ต่อไปก็คือเรื่องของ ความมีน้ำใจซึ่งนำมาใช้ไม่ถูกต้อง แต่คนไทยในองค์กรหลายคนก็อ้างเรื่องของการตอบแทนน้ำใจ การทดแทนบุญคุณเป็นเหตุผลในการส่งเสริมสนับสนุนบุคลากรที่ไม่มีความสามารถ ไม่มีผลงานแต่เป็นคนที่มีบุญคุณเคยช่วยเหลือตนในอดีต ดังนั้น เพื่อเป็นการแสดงน้ำใจจึงตอบแทนน้ำใจกลับด้วยการเลื่อนขั้นตำแหน่งให้ หรือส่งไปดูงานต่างประเทศ แบบนี้ก็มีให้เห็นคาตากันอยู่บ่อยๆ

Comments are closed.