ผู้ที่จะเป็นผู้บริหารมืออาชีพ จะต้องมือถึงและบารมีด้วย

เป็นที่ทราบว่า ขณะนี้เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจประเทศไทย กำลังผันผวน และไม่มีใครล่วงรู้ได้ว่า ทิศทางของเศรษฐกิจไทย         จะเป็นอย่างไรต่อไป ดังนั้น คนที่เป็นผู้บริหารองค์กร ที่จะต้องบริหารพนักงานหลายร้อยหลายพันคน หรือบางองค์กรอาจจะถึงหลักหมื่นคน จึงต้องมีความเป็นมืออาชีพมากๆ หาไม่เช่นนั้นสินค้าก็จะขายไม่ได้
หรือไม่ก็จะถูกพิษเศรษฐกิจ ดอกเบี้ย และค่าเงินกระหน่ำซัด จนทำให้องค์กรที่แบกพนักงานจำนวนหลายร้อย หลายพันหรือหลักหมื่นคนอาจต้องล้มทั้งยืน
ปุจฉาแห่งความเป็นมืออาชีพจึงเกิดขึ้นว่า...แล้วจะมีหนทางใดที่จะให้ผู้บริหารก้าวไปสู่ความเป็นมืออาชีพ หรือจะมีหนทางใดที่จะทำให้ผู้บริหารเหล่านั้น บริหารองค์กร จนกลายเป็นมืออาชีพในบัดดลค่ะ
ซึ่งเรื่องนี้ "คุณจำลักษณ์ ขุนพลแก้ว" ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ บอกว่า...คนเราเลือกเกิด ไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นได้ และต้องเลือกให้ถูก และทำให้ถูกด้วย
โดยอยู่บนความเชื่อ 3 ประการของความเป็นมืออาชีพ คือ
หนึ่ง Proactive people
สอง Professional people
สาม Productive people

ซึ่งมีคุณลักษณะของมืออาชีพจะต้องประกอบด้วย ไม่ล้ำเส้น, คิดเองได้, มีความรับผิดชอบ, กล้าตัดสินใจ, ให้เกียรติผู้อื่น, รักษาเกียรติในยามแพ้, ยอมรับความเปลี่ยนแปลง, เมื่อผิดพลาดรู้จักขอโทษ, มีความยืดหยุ่น, ไม่น่ารักก็ไม่เป็นไร, จริยธรรม และมีศักยภาพสูงสุดของตัวเอง   คำถามจึงเกิดขึ้นว่า เมื่อลักษณะของ มืออาชีพเป็นเช่นนี้แล้ว องค์กรควรเป็น ผู้สร้างคน หรือคนเป็นผู้สร้างองค์กร   ถ้าเราเป็นผู้บริหารองค์กร เราก็อยากที่จะทำองค์กรน่าอยู่ น่าทำงาน เหมือนกับบ้านหลังที่ 2 เพื่อให้เขาเกิดความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน ขณะเดียวกัน ถ้าเรามองไปที่คน เราในฐานะผู้บริหารก็อยากให้คนของเรากล้าที่จะคิดงานใหม่ๆ งานใหญ่ งานที่ยาก และงานท้าทายด้วย ที่สำคัญ เขาต้องคิดให้เป็น และการคิดให้เป็นนั้น ถ้าเราในฐานะผู้บริหาร ก็จะต้องให้เครื่องมือ อาวุธ ในการทำงานด้วย รวมถึงระบบการทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน สรุปในประเด็นนี้คือ เราจะต้องทำงานอย่างผสมผสาน โดยไม่เลือกว่าองค์กรสำคัญกว่าคน หรือคนสำคัญกว่าองค์กร" ซึ่งการคิดให้เป็นนั้น มืออาชีพจะต้องมีองค์ประกอบคือ
หนึ่ง ทัศนคติ
สอง ความฉลาด
สาม ผลสืบเนื่องจากการกระทำ

 

เพราะทั้งหมดนั้นเกี่ยวข้องกับบุคลากร ซึ่งจะมีอยู่ 9 แบบด้วยกันค่ะ  คือ
1. พวกนักปฏิรูป คนสมบูรณ์แบบ ที่ไม่เพียงจะมีหลักการ มีระเบียบวินัยต่อตนเอง หากยังเคร่งครัดต่อกฎเกณฑ์ มีจุดยืนที่แน่นอนในทุกๆ เรื่อง
2.  นักบุญ ผู้ช่วยเหลือ พวกนี้ชอบดูแลเอาใจใส่ทุกข์สุขของคนรอบข้าง คิดถึงปัญหาของคนอื่นมากกว่าปัญหาของตัวเอง และชอบพยายามทำตัวเป็นที่รักของคนอื่น ด้วยการยกย่องความรักเหนือสิ่งอื่นใด
3.  ผู้ชนะ ผู้ใฝ่ความสำเร็จ พวกนี้ ปรับตัวเก่ง ทะเยอทะยาน เชื่อมั่นในความสามารถของตัวเอง มองเป้าหมายเป็นหลัก ทำงานเก่ง ใส่ใจภาพลักษณ์ บุคลิกภาพ
4. ศิลปิน คนโรแมนติก พวกนี้มีความคิดสร้างสรรค์ ยกย่องจินตนาการ มีความถนัดทางศิลปะ ใจลอย ไม่ค่อยอยู่กับปัจจุบัน และชอบค้นหาตัวเอง อยู่กับตัวเอง
5. นักปราชญ์ นักสังเกตการณ์ คนพวกนี้จะเป็นนักคิดมากกว่าปฏิบัติ เป็นนักประดิษฐ์ ช่างสังเกต และพยายามทำความเข้าใจสิ่งรอบตัว หาความรู้ใส่ตัวอยู่เสมอ ชอบงานที่ใช้ทักษะเฉพาะทาง ไม่ใช้อารมณ์ หรือความรู้สึกตัดสิน
6. นักปุจฉา เพื่อนยาก พวกนี้มีศิลปะในการทำงานเป็นทีม เป็นนักจัดการองค์กร หรือนักรณรงค์ เพื่อสวัสดิภาพที่ดีขึ้นของชุมชน สร้างมิตร สร้างความสามัคคี และชอบการพึ่งพาอาศัยกัน
7.  เจ้าสำราญ นักผจญภัย พวกนี้สนุกสนานร่าเริง ชอบสังคม เฮไหน เฮนั่น แสวงหาประสบการณ์ใหม่ให้กับชีวิตอยู่เสมอ ชอบทำอะไรหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน เก่งหลายอย่าง แต่หน่ายเร็ว
8. ผู้นำ ผู้ปกป้อง พวกนี้เด็ดขาด เชื่อมั่นในตัวเองสูง กล้าตัดสินใจ มีลักษณะของผู้นำ ท้าทายอำนาจอื่นอย่างไม่กลัวเกรง ไม่ยอมให้ใครมาเอาเปรียบ ชอบควบคุม คนอื่น ใจนักเลง ให้ความคุ้มครองดูแล สารทุกข์สุกดิบของคนในบังคับบัญชา

9. ผู้รักสงบ ผู้ประสานไมตรี พวกนี้ รักสงบ นิยมธรรมชาติ ไม่มีศัตรู ไม่ทะยานอยาก มองโลกในแง่ดี ไม่เครียด หรือวิตกกังวล ไม่เห็นด้วยก็ไม่คัดค้าน แต่จะไม่ทำ ดูเชื่องช้า ปล่อยให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปเอง ไม่วางแผน ไม่เตรียมการ ซ่อนปัญหาไว้ ใต้พรม และดื้อเงียบค่ะ

ถ้าเราในฐานะผู้บริหารองค์กร จึงต้องมีวิธีในการบริหารงาน และบริหารคนหลากหลายประเภท เหล่านี้ให้ผสมผสานกัน เราจะต้องเร่งสร้างองค์กรให้มีบุคลากรที่เหมาะสม หมายถึง

"บุคลากรจะต้องมีความรู้ความสามารถเพียงพอ และหากเขาเหล่านั้นถูกส่งไปอยู่ในส่วนงานที่สอดคล้อง กับความสามารถ เขาจะต้องทำหน้าที่ของตนเองอย่างถูกต้อง และ เหมาะสม ที่สำคัญ เราจะต้องแยกให้ได้ว่าเจ้านาย, ลูกน้อง, ลูกค้า และเพื่อนร่วมงาน เขาต้องการอะไรจากเรา" อย่างเช่น

" ถ้าเราเป็นลูกน้อง สิ่งที่เจ้านายต้องการก็จะเกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบในบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย, ความเชื่อมั่นในตนเอง, ความซื่อสัตย์สุจริต แต่ถ้าเราเป็นเจ้านาย สิ่งที่ลูกน้องต้องการคือดูแล และสอนงานบ้าง, มอบหมายงานชัดเจน และให้ข้อมูลข่าวสารที่ จำเป็นต่องาน รวมถึงยังต้องกระตุ้นให้กำลังใจและให้คำชมเชยลูกน้องบ้าง"  ทางกลับกัน หากเรามอง "เพื่อนร่วมงาน" บ้างว่าต้องการอะไรจากเรา ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องความร่วมมือ ความซื่อสัตย์ และจริงใจต่อกลุ่ม ความเคารพนับถือ เอื้อเฟื้อมีน้ำใจ ความมีสำนึกแห่งการทำงาน และการเปิดใจกว้างรับฟังข้อคิดเห็น
ดังนั้น การที่ใครคนหนึ่งจะมีความเป็นมืออาชีพ หรือมีความเป็น Work like a Pro ตามความเห็นของ  "คุณจำลักษณ์ ขุนพลแก้ว" ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ นั่นหมายความว่าผู้บริหารเหล่านั้นจะต้องเก่ง 3 อย่าง คือ
1.  เก่งบริหารงาน อันหมายถึงภูมิรู้

2.  เก่งบริหารคน อันหมายถึงภูมิธรรม
3.  เก่งบริหารตน อันหมายถึงภูมิฐาน
ซึ่งเกี่ยวข้อง และสอดคล้องกับภาวะบทบาทผู้นำ ที่ไม่เพียงจะต้องมีการบริหารจัดการที่ดี หากยังจะต้องมีทีมผู้นำที่ดี
สำคัญไปกว่านั้น ผู้ที่จะเป็นผู้บริหารมืออาชีพ ในระดับการบริหารจัดการจะต้องมือถึงด้วย ขณะที่ผู้บริหารในส่วนของเจ้าของธุรกิจ ก็จะต้องตาถึง, เงินถึง และใจถึง
ส่วนผู้ที่เป็นผู้บริหารในระดับผู้นำก็จะต้องบารมีถึง ถึงจะทำให้ความเป็นมืออาชีพครบถ้วนสมบูรณ์ เหนือสิ่งอื่นใด เมื่อผู้บริหารเผชิญกับภาวะวิกฤตที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า คงจะต้องเร่งสร้างความเป็นมืออาชีพให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ค่ะ

      

        ดิฉันขอฝากคำคมของ คุณจำลักษณ์ ขุนพลแก้ว" ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ไว้ว่า

 

...คนเราเลือกเกิด ไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นได้

และต้องเลือกให้ถูก และทำให้ถูกด้วย

 

 

Comments are closed.