การเตรียมตัวเป็นผู้บริหาร/ผู้นำ

จากบทความเรื่อง พัฒนาผู้นำในองค์กรไฮเทค  ของคุณจารุนันท์ อิทธิอาวัชกุล ได้กล่าวไว้ว่า องค์กรไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะอยู่ในธุรกิจประเภทใด

ก็ต้องเผชิญความท้าทายในการเตรียมผู้บริหารให้พร้อมเป็นผู้นำในอนาคตและดูเหมือนว่า การสร้างผู้นำในองค์กรธุรกิจสื่อสาร  และเทคโนโลยีสารสนเทศนั้น จะมีความยากลำบากกว่าธุรกิจประเภทอื่น ๆ หรือพูดง่าย ๆ คือ การพัฒนาเหล่าผู้เชี่ยวชาญสายเทคนิคทั้งหลาย ให้กลายเป็นผู้บริหารที่มีความเป็นผู้นำนั้น เป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทายมากองค์กรที่เน้นเทคโนโลยีดังกล่าวนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นองค์กรที่เพิ่งเกิดใหม่ และมีอัตราการเติบโตที่รวดเร็ว รวมทั้งต้องพร้อมขับเคลื่อนสู่การเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ตลอดเวลา การสร้างระบบการพัฒนาผู้นำให้สอดคล้องกับการเติบโตที่รวดเร็วนั้น  จึงเป็นเรื่องยาก เพราะต้องสร้างระบบพัฒนาผู้นำให้สอดคล้องกับจังหวะเวลาของวงจรธุรกิจ รวมทั้งต้องหาวิธีการที่เหมาะสมกับผู้บริหารสายวิชาชีพด้านเทคนิคเหล่านั้นด้วย สัญญาณที่บ่งชี้ว่า ถึงเวลาวางแผนระบบพัฒนาผู้นำในองค์กรเทคโนโลยีแล้วหรือยัง ให้ลองพิจารณาตอบคำถามต่อไปนี้
 1) องค์กรของคุณมีปัญหาในการหาผู้นำทดแทนหรือไม่
 2) ผู้บริหารระดับหัวหน้าหน่วยงานต่าง ๆ ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่

     มาจากสายวิศวกรรมเทคโนโลยีใช่หรือไม่
 3) บุคลากรเก่ง ๆ หลายคนทยอยลาออกไปหรือไม่

หากตอบว่า กำลังประสบอยู่ครบทั้ง 3 ข้อ ก็พออนุมานได้ว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีกระบวนการพัฒนาผู้นำอย่างเป็นระบบ องค์กรประเภทไฮเทคที่เพิ่งเริ่มธุรกิจไม่นาน หากมีการจัดวางระบบการพัฒนาที่เป็นมาตรฐานหรือเป็นทางการเร็วเกินไป ก็จะไปลดอัตราเร่งทางธุรกิจ  ทอนอารมณ์และบรรยากาศการทำงานที่ทุกคนรู้สึกเป็นผู้ประกอบการลงไปได้ แต่ถ้าหากพัฒนาความเป็นผู้นำช้าเกินไป ก็จะมีความเสี่ยงในการรักษาคนเก่งไว้กับองค์กร และการสร้างการเติบโตขององค์กรที่ยั่งยืน

แนวทางในการจัดวางระบบพัฒนาผู้บริหารสายวิชาชีพด้านเทคนิคให้พร้อมเป็นผู้นำนั้น สามารถเริ่มต้นจาก
 -
พัฒนาโปรแกรมการพัฒนาความเป็นผู้นำที่เน้นการลงมือปฏิบัติ คนในสายวิชาชีพด้านเทคนิค ถือได้ว่า เป็นผู้ที่เรียนรู้เร็ว มีความเชี่ยวชาญเชิงเทคนิค วิทยาการสูง และชอบงานหรือโครงการที่ทำได้จริง ชัดเจน วัดผลได้ ดังนั้น การออกแบบหลักสูตรจึงต้องเน้นการสร้างสถานการณ์จำลอง มีกรณีศึกษาที่เป็นภาคปฏิบัติมากกว่าภาคทฤษฎี จัดให้มีผู้นำตัวจริง เสียงจริงมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์จริง พร้อมแบ่งปันการเรียนรู้และข้อสังเกตต่าง ๆ ในการทำงานในฐานะผู้นำ โดยเน้นย้ำว่า ผู้นำจะต้องสามารถลงมือทำงานกับการบริหารคนควบคู่กันไปเสมอ

-ส่งเสริมการสอนงานแบบเป็น Coach หรือเป็นพี่เลี้ยงเพื่อพาไปสู่เส้นทางการเป็นผู้นำ ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ทำงานลักษณะเป็นโครงการ จึงมีทักษะในการบริหารจัดการงานและทรัพยากรต่าง ๆ โดยรวม  แต่อาจไม่ได้ลงลึก เพื่อฝึกฝนการใช้ภาวะผู้นำในการบริหารทีมงานอย่างเต็มที่ ดังนั้น การโค้ชที่แนะนำเชิงพฤติกรรมการเป็นผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นโค้ชจากผู้นำภายในองค์กร หรือจากผู้เชี่ยวชาญด้าน Executive Coach ภายนอกที่มาให้ข้อสังเกต และข้อมูลป้อนกลับต่าง ๆ ก็จะสามารถสร้างความพร้อมให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเหล่านั้นเข้าสู่เส้นทางในการเป็นผู้นำอย่างมีประสิทธิผล นอกจากนี้ ระบบเพื่อนสอนเพื่อน (Peer Coaching) โดยจัดให้มีการจับคู่กันระหว่างเพื่อนที่อยู่ในสายงานสนับสนุนต่าง ๆ เช่น ส่วนงานประชาสัมพันธ์, ส่วนงานบริหารทรัพยากรบุคคล, ส่วนงานการตลาดนั้น ก็อาจจะช่วยเพิ่มมุมมองที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการบริหารคนได้เป็นอย่างดี

-ส่งเสริมค่านิยมการเป็นผู้นำที่มีประสิทธิผล ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิคมักจะให้ความสำคัญกับความสำเร็จในการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ล้ำสมัย หรือสร้างโปรแกรมใหม่ ๆ มากกว่าการสร้างคนให้ควบคู่กันไป ดังนั้น องค์กรจึงต้องจัดให้มีระบบการเรียนรู้ต่าง ๆ ให้ตระหนักถึงความแตกต่างของการเป็นผู้นำกับการเป็นเพียงผู้จัดการสายเทคนิค และทำให้เกิดความเข้าใจว่า ผู้นำที่มีประสิทธิผลต้องมีพฤติกรรมอย่างไร จึงทำให้ได้ทั้งใจคน ได้ทั้งผลงานที่โดดเด่น แตกต่าง   เป็นผู้นำที่มีประสิทธิผล เรียกว่า ผู้นำตัวคูณ ไม่ใช่ผู้จัดการที่เป็นลบ สิ่งที่ผู้นำตัวคูณจะทำ คือ การสร้างผู้นำรุ่นต่อไป ไม่ใช่การลดทอนความรู้สึกมั่นใจของลูกทีม รวมทั้งสร้างบรรยากาศที่ทำให้ทีมผลักดันศักยภาพมาใช้อย่างเต็มที่ ไม่ใช่ให้เกิดความรู้สึกต้องพึ่งพา ดังนั้น ผู้นำที่แท้จริงจะใช้การถาม การฟังมากกว่า ซึ่งจะกระตุ้นความคิดของทีมงาน ได้ความรู้สึกร่วมและเกิดความไว้วางใจมากกว่าการสั่งการ 

-มีระบบการวางเส้นทางอาชีพที่เติบโตทั้งการเป็นผู้เชี่ยวชาญและการเป็นผู้นำหน่วยงาน ซึ่งอาจจะเติบโตได้ไกลกว่าและกว้างกว่า รวมทั้งมีระบบการประเมินผลงานที่นำเรื่องการสร้างคนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย พร้อมทั้ง จัดให้มีระบบการยกย่องชมเชยผู้ที่มีความสามารถในการสร้างแรงจูงใจ การสอนแนะนำงานที่ดี ซึ่งก็ต้องมีระบบการวัดประเมินผลที่เชื่อถือได้ เป็นที่ยอมรับได้ในกลุ่มวิชาชีพเทคนิคเหล่านั้น ในวงการที่ยิ่งอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ กลับยิ่งต้องใช้ความเป็นผู้นำที่มีสไตล์การนำที่ส่งเสริมให้ทุกคนมีอิสระในการใช้ความคิดของเขาอย่างเต็มศักยภาพ       ค่ะ

Comments are closed.