คิดเห็นไม่ตรงกัน ให้พูดจากันดีที่สุด

คุณจำลักษณ์ ขุนพลแก้ว ได้เขียนไว้ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ว่า ถ้าข้อคิดเห็นไม่ตรงกัน ให้พูดจากันดีที่สุด               Work like a pro ให้ทุกฝ่ายลืมสิ่งที่เรียกว่า My way หรือ Your way ออกไปเสีย เพื่อที่จะเดินหน้าหา Our way ดูจะดีที่สุดระหว่างความเชื่อกับความจริง บางครั้งก็ไปในทิศทางเดียวกัน แต่หลายครั้งก็สวนทางกันอย่างสิ้นเชิง บางคนก็ใช้ความเชื่อนำความจริง ในขณะที่บางคนก็ใช้ความจริงนำความเชื่อ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่เลือกจะเชื่อ แม้ว่าจะรู้ทั้งรู้ว่าความจริงเป็นเช่นไร                                เพราะถ้าความจริงบางส่วนที่เรารู้นั้นมันไม่ได้สร้างประโยชน์ แถมบางครั้งกลับเป็นโทษเสียด้วยซ้ำ จึงเป็นความตั้งใจของคนคนนั้นที่จะหยิบยกเอาความเชื่อ ที่แม้ว่าจะไม่มีเอกสารหลักฐานมาสนับสนุน แต่ก็ใช้กลุ่มคนจำนวนมากที่เห็นพ้องต้องกันมาเป็นเครื่องยืนยัน และหลายครั้งที่ความเชื่อของคนจำนวนมากที่ไม่มีพื้นฐานความจริงสนับสนุนอย่างเด่นชัด ก็มักจะได้รับการตัดสินใจจากทุกคน ให้เป็นตัวเลือกสำหรับทางออกของปัญหาหรืออุปสรรคที่กำลังเผชิญอยู่  ประเด็นคือแต่ละคนอาจมีความเชื่อที่เหมือนกันทั้งหมด เหมือนกันบางส่วน แตกต่างกันบ้าง หรือแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงก็ได้ แต่ความจริงยังไงมันก็จริงอยู่อย่างนั้น ไม่ว่าจะมีคนกี่หมื่น กี่แสน หรือกี่ล้านแสดงความเชื่อไปในทิศทางที่ต่างออกไป ความจริงก็ยังคงเป็นความจริงอยู่อย่างนั้น แต่อย่างไรก็ตามความเชื่อก็ไม่ได้เลื่อนลอยเสียทีเดียว ย่อมต้องมีฐานอยู่พอสมควรที่ทำให้แต่ละคนคิดเห็นไปเช่นนั้น อาทิ พฤติกรรมที่สะท้อนจากความชอบ ความรัก ความหลง หรือแม้แต่ความชัง ผลประโยชน์ส่วนตน บุญคุณที่เคยมีต่อกัน ประสบการณ์ในอดีต ความกล้า และความกลัวที่มีอยู่ในตัว เป็นต้น ดังนั้นขึ้นชื่อว่าคน ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์อันแสนประเสริฐ มีวิจารณญาณการคิดวิเคราะห์แล้ว โอกาสในการเห็นต่างแต่ถ้านำมาสร้างสรรค์ ก็ทำให้เกิดคุณประโยชน์ได้มากมาย แต่ถ้านำมาห้ำหั่นกันก็มีแต่จะเสียหายไปในที่สุด และเหตุการณ์ในลักษณะนี้กลับพบเห็นได้ในหลายสถานที่ ตั้งแต่ระดับครอบครัว องค์กร สังคม จนถึงประเทศชาติ แม้แต่ระดับระหว่างประเทศก็มีมาแล้ว แค่เพียงเรียกชื่อโบราณสถานต่างกันก็เป็นเรื่องได้ ทั้งๆ ที่ก็พูดถึงสิ่งเดียวกันแท้ๆ ทางออกของความคิดเห็นที่แตกต่างกัน สามารถคลี่คลายได้ด้วยการหันหน้ามาพูดจากัน แต่ต้องมีเงื่อนไขว่า ต้องไม่มีเงื่อนไขระหว่างกันนั่นคือต้องไม่พกเอาความเชื่อของตนมาด้วย หรือคิดหนทางของตนไว้แล้ว ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นทุกคนก็จะมาเพื่อพูด มากกว่าจะมาเพื่อฟัง ดังนั้นทำใจให้ว่างตั้งสติและสมาธิ เพื่อมาร่วมหาทางเลือกที่เห็นพ้องต้องกันดีกว่า ในการเจรจาไม่ว่าจะสองฝ่ายหรือหลายฝ่าย ทางเลือกที่เห็นชอบร่วมกันเกิดเป็นฉันทามติ (Consensus) นั้นดีที่สุด ถึงแม้ว่าจะมีข้อเสียคือเยิ่นเย้อเนิ่นนานกว่าจะให้ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันได้สำเร็จ แต่ก็มักจะไม่มีผลข้างเคียง (Side effect) ติดออกไปนอกห้องเจรจา ในขณะที่การใช้พวกมากลากไปด้วยการยกมือโหวตนับคะแนนเสียงนั้น ดูเหมือนดีสรุปจบง่ายได้ทางออกเบ็ดเสร็จแต่เห็นทุกครั้งมันก็ไม่ไปสู่ความสำเร็จที่ทุกคนมุ่งหวังเสียที ดังนั้นการหันหน้าพูดจาด้วยการปลดอาวุธที่เป็นอคติออกจากตัวแล้วกองไว้หน้าห้อง โดยให้ทุกคนทุกฝ่ายลืมสิ่งที่เรียกว่า My way หรือ Your way ออกไปเสีย เพื่อที่จะเดินหน้าหา Our way ภายในห้องดูจะดีที่สุด แล้วก็เริ่มต้นด้วยการกำหนดวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่จะไปร่วมกัน คิดถึงทางข้างหน้าอย่ามัวแต่ไปถกเถียงกับสิ่งที่ผ่านมาแล้ว ในอดีตของการแข่งขันกันทางธุรกิจก็มักจะเอากันให้ตาย หรือต้องให้ฝ่ายตรงข้ามพ่ายไปในที่สุด ยิ่งทำให้อยู่ในจุดที่เพี้ยงพล้ำชนิดไม่สามารถกลับมาต่อกรได้อีกยิ่งดี แต่ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่าการแข่งขันกันอย่างโปร่งใสและยุติธรรม ไม่จำเป็นจะต้องชนะหรือแพ้กันอย่างราบคาบไปเสียทั้งหมด ดังนั้นผลลัพธ์อาจจะไม่ได้มีแค่ฝ่ายหนึ่งแพ้และอีกฝ่ายหนึ่งชนะเสมอไป มีบ่อยครั้งที่สามารถชนะด้วยกันได้ทั้งสองฝ่าย (win-win situation) นั่นคือต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์โดยที่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ขอเน้นย้ำและขีดเส้นใต้ตรงคำว่า ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใครเพราะถ้า 2 ฝ่ายที่หันหน้ามาคุยกันแล้วได้ประโยชน์ แต่กลับโยนภาระหรือความเสียหายไปให้แก่คนนอกวงเจรจา มันก็จะเข้าตำรา ฮั้วกันหรือร่วมกันหาประโยชน์ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ว่าจะเร่งรัดผลสำเร็จจากการเจรจาในครั้งแรก แล้วจะบรรลุเป้าหมายที่ร่วมกันตกลง โดยไม่มีใครเสียประโยชน์ในทันที ยิ่งเรื่องที่ยากและมีความซับซ้อน อาจจะหารือกันไปมาหลายรอบกว่าจะได้ข้อสรุป แต่ถ้าบรรยากาศดีสมานฉันท์ผลของมันก็จะขยับเขยื้อนเคลื่อนไปข้างหน้า ถ้าไม่เลิกราไปเสียก่อน ย่อมต้องบรรลุข้อตกลงร่วมกันในที่สุด สถานการณ์ของการพูดคุยที่ยังหาทางออกที่ดีที่สุดของทุกฝ่ายไม่ได้ในทันที ก็อาจจะกลับไปคิดไตร่ตรองในรายละเอียดซ้ำใหม่ก็ยังไหว แล้วเมื่อเกิดปัญญาในสิ่งใหม่ก็กลับมาเจรจากันใหม่ สถานการณ์แบบนี้เรียกว่า (win-win or no deal) คือไม่จบคราวนี้ค่อยว่ากันใหม่คราวหน้า สิ่งที่กลัวกันมากตอนนี้ก็คือ สังคมยุคใหม่ที่รีบเร่งรีบด่วนกันจนเคย มันได้ทำให้ความละเอียดรอบคอบหายไป ความรู้สึกที่จะอดรนทนอะไรนานๆ ไม่ได้นั้น เป็นตัวบั่นทอนสติปัญญาและความนึกคิดที่ดีไปเสียหมด ซึ่งเราได้เห็นผลเสียหายมากมายทั้งในแง่วิกฤตสังคม วิกฤตการเมือง หรือแม้แต่วิกฤตเศรษฐกิจ ที่เป็นผลพวงมาจากความเร่งร้อนที่จะเผด็จศึก หรือยึดหัวหาดเพื่อชิงความได้เปรียบทางการแข่งขัน อย่างกรณีของธุรกิจยานยนต์ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ดังนั้นการกลับมาทบทวนกระบวนการผลิต กระบวนการจัดจำหน่าย กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตลอดจนกระบวนการพัฒนาคน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด วันนี้เรามาทำอะไรให้ช้าลงกันบ้างดีไหม ทานอาหารให้ช้าลง อยู่กันให้นานขึ้น พูดคุยกันให้มากขึ้น และใช้เทคโนโลยีเท่าที่จำเป็น เชื่อว่าถ้าคุยกันมากขึ้น ความเข้าอกเข้าใจกันจะก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี

ไม่ว่าจะเป็นองค์กรไหนๆ จะใหญ่หรือจะเล็กก็ตามที

Comments are closed.