คำว่า “leadership” (ภาวะผู้นำหรือการเป็นผู้นำ) กับคำว่า “management” (การบริหารจัดการ)

ในภาษาอังกฤษคำว่า “leadership” (ภาวะผู้นำหรือการเป็นผู้นำ) กับคำว่า “management” (การบริหารจัดการ) มักพบว่าสามารถใช้แทนกันได้ก็ตาม แต่โดยสาระในแง่กระบวนการและแนวคิดแล้ว แท้จริงมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ เมื่อพูดถึงการบริหารจัดการ ก็มักมองถึงการดำเนินการตามหน้าที่หลัก (functions) ซึ่งเป็นกลไกปกติขององค์การ เช่น การวางแผน (planning) การจัดองค์การ (organizing) การอำนวยการ (directing) และการกำกับควบคุม (controlling) ในขณะที่ภาวะผู้นำหรือการเป็นผู้นำ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (interpersonal aspects) โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันถือว่า ภาวะผู้นำหรือการเป็นผู้นำเกี่ยวข้องกับเรื่องความเปลี่ยนแปลง (change) การสร้างแรงดลใจ (inspiration) การสร้างแรงจูงใจ (motivation) และการใช้อำนาจเชิงอิทธิพล (influence) เป็นต้น โดยปกติคนที่อยู่ในองค์การจะแสดงบทบาทใดบทบาทหนึ่งในสามบทบาทที่สำคัญต่อไปนี้คือ 1) บทบาทเป็นผู้ผลิต (producer) 2) บทบาทเป็นผู้บริหาร (manager) 3) บทบาทเป็นผู้นำ (leader) แต่ละบทบาทล้วนจำเป็นต่อความสำเร็จขององค์การทั้งสิ้น
ท่านผู้ฟังค่ะ ถ้าไม่มีผู้ผลิต ก็ไม่อาจทำให้ความคิดดี ๆ และการตัดสินใจที่สำคัญลงสู่การปฏิบัติได้ พูดง่าย ๆ คือ งานที่รับผิดชอบจะไม่สำเร็จ ถ้าไม่มีผู้บริหารบ้าง ผลก็คือจะเกิดความขัดแย้งด้านบทบาทหน้าที่ของผู้ทำงานเนื่องจากขาดความชัดเจน ผลคือ ทุกคนพยายามแย่งกันเป็นผู้ผลิต ต่างคนต่างทำงานแยกอิสระจากกัน แทบไม่มีระบบและขั้นตอนการทำงานที่ดี แต่กรณีถ้าขาดผู้นำ ก็จะขาดวิสัยทัศน์ และทิศทางของการทำงาน ส่งผลให้คนค่อย ๆ เบี่ยงเบนไปจากภารกิจที่ต้องรับผิดชอบในที่สุด
แม้แต่ละบทบาทต่างมีความสำคัญต่อองค์การก็ตาม แต่บทบาทที่มีความสำคัญที่สุดก็คือ ผู้นำ โดยเฉพาะถ้าขาดผู้นำกลยุทธ์ (strategic leadership) ก็เชื่อได้ว่าเหมือนผู้คนที่ร่วมเดินป่าเพื่อจะเดินทางกลับให้ถึงบ้านในตอนเย็น ก็คงหลงวนเวียนอยู่ในป่านั่นเอง เพราะขาดผู้นำทาง ขาดผู้กำหนดวิธีการเดินทาง รวมทั้งขาดคนปลอบประโลมให้กำลังใจยามท้อแท้ให้หันกลับมาสู้เอาชนะอุปสรรคจนบรรลุเป้าหมายได้ในที่สุด จึงกล่าวได้ว่า บทบาทของผู้นำมีความสำคัญมากในการสร้างความต่อเนื่องไปสู่ความสำเร็จโดยการเป็นผู้นำ (leadership) จะเกี่ยวกับเรื่องกำหนดทิศทาง (direction) คอยช่วยให้ทุกคนมั่นใจว่า การเดินป่าครั้งนี้ไม่มีใครหลงทางอย่างแน่นอน ในขณะที่การบริหาร (management) เกี่ยวข้องกับความเร็ว (speed) ในการเดินทาง ผู้อ่านลองจินตนาการดูว่า คนเดินป่าที่เดินได้รวดเร็ว แต่ไม่รู้ทิศทางจะเป็นอย่างไร ในองค์การนั้น การเป็นผู้นำหรือภาวะผู้นำจึงเกี่ยวกับเรื่องวิสัยทัศน์ (vision) และการทำให้พันธกิจ (mission) มีความชัดเจนไม่ถูกละเลย หรือเบี่ยงเบนไปโดยผู้ปฏิบัติงาน นั่นคือ สามารถบรรลุผล (result) หรือความมีประสิทธิผล (effectiveness) นั่นเอง ส่วนการบริหารจัดการเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดโครงสร้าง (structure) และระบบ (system) เพื่อช่วยให้บรรลุผลที่ดีหรือมีประสิทธิภาพ (efficiency) โดยเน้นเรื่องการวิเคราะห์ต้นทุนกำไร (cost-benefit analysis) นโยบาย ขั้นตอนวิธีการ และการใช้หลักเหตุผลเชิงตรรกวิทยา เป็นต้น ภาวะผู้นำจะยึดการมองเกณฑ์ที่สูงสุด (top line) ในขณะที่การบริหารจัดการมองที่เส้นเกณฑ์ที่ต่ำสุด (bottom line) ในการทำงาน ภาวะผู้นำได้รับอำนาจ (ในลักษณะการมีอิทธิพล) มาจากการที่ตนประพฤติดีประพฤติชอบ มีหลักการและค่านิยมที่ดีในการปฏิบัติงาน ส่วนการบริหารจัดการได้อำนาจมากับตำแหน่ง หน้าที่รับผิดชอบให้ปฏิบัติงานเกิดผลผลิตได้ตามเกณฑ์ขั้นต่ำที่องค์การกำหนด

Comments are closed.