หลักการทรงงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มิได้ทรงเป็นเพียง พระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของชาติ หากได้ทรงน้อมนำ ประเทศไทยและพสกนิกรไทยให้ก้าวไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน ทรงได้รับการเทิดพระเกียรติจากนิตยสารไทม์แห่งเอเชีย ในฐานะที่ทรงเป็นวีรบุรุษ ผู้เป็นแรงบันดาลใจแห่งเอเชีย วันนี้ดิฉันขอนำ หลักการทรงงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มานำเสนอดังนี้ค่ะ
1. ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ การที่จะพระราชทานโครงการใดโครงการหนึ่งนั้น จะทรงศึกษาข้อมูลรายละเอียดอย่างเป็นระบบ
2. ระเบิดจากข้างใน พระองค์ทรงมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาคน ต้องสร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชนที่เราเข้าไปพัฒนาให้มีสภาพพร้อมที่จะรับเสียก่อน แล้วจึงค่อยออกมาสู่สังคมภายนอก
3. แก้ปัญหาที่จุดเล็ก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเปี่ยมไปด้วยพระอัจฉริยภาพ ในการแก้ปัญหา ทรงมองปัญหาในภาพรวม (Macro) ก่อนเสมอ แต่การแก้ปัญหาของพระองค์จะเริ่มจากจุดเล็ก ๆ คือ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่คนมักจะมองข้าม
4. ทรงทำตามลำดับขั้น “…การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐานคือ ความพอมีพอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน ใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัดแต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ
5. ภูมิสังคม “…การพัฒนาจะต้องเป็นไปตามภูมิประเทศ ภูมิศาสตร์และภูมิประเทศทางสังคมศาสตร์ในสังคมวิทยา คือนิสัยใจคอของคนเราจะไปบังคับให้คนอื่นคิดอย่างอื่นไม่ได้ เราต้องแนะนำ เราเข้าไป ไปช่วยคิด แล้วก็อธิบายให้เขาเข้าใจหลักการของการพัฒนานี้ก็จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง…”
6. องค์รวม ทรงมีชีวิตคิดอย่างองค์รวม (Holistic) หรือมองอย่างครบวงจร ในการที่จะพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการหนึ่งนั้นจะทรงมองเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นและแนวทางแก้ไขอย่างเชื่อมโยง
7. ไม่ติดตำรา การพัฒนาตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีลักษณะของการพัฒนาที่อนุโลมและรอมชอมกับสภาพธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสภาพของสังคมจิตวิทยาแห่งชุมชน คือ “ไม่ติดตำรา” ไม่ผูกมัดติดกับวิชาการและเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริงของคนไทย
8. ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด ประชาชนชาวไทยทราบกันดีว่าเรื่องส่วนพระองค์ทรงใช้อย่างคุ้มค่าอย่างไร หรือฉลองพระองค์แต่ละองค์ทรงใช้อยู่เป็นเวลานานดังที่นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เคยเล่าว่า “...กองงานในพระองค์โดยท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ บอกว่าปีหนึ่งพระองค์เบิกดินสอ 12 แท่ง เดือนละแท่งใช้จนกระทั่งกุด ใครอย่าไปทิ้งของท่านนะ จะกริ้วเลย ประหยัดทุกอย่างเป็นต้นแบบทุกอย่าง ทุกอย่างมีค่าสำหรับพระองค์หมด ทุกบาททุสตางค์จะใช้อย่างระมัดระวัง จะสั่งให้เราปฏิบัติงานด้วยความรอบคอบ...”
9. ทำให้ง่าย Simplicity ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้การคิดค้น ดัดแปลง ปรับปรุง และแก้ไขงานการพัฒนาเป็นไปได้โดยง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และที่สำคัญคือสอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่และระบบนิเวศน์โดยส่วนรวมใช้กฎแห่งธรรมชาติเป็นแนวทาง
10. การมีส่วนร่วม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นนักประชาธิปไตย “ประชาพิจารณ์” มาใช้ในการบริหาร เพื่อเปิดโอกาสให้สาธารณชน ประชาชนหรือเจ้าหน้าที่ทุกระดับได้มาร่วมกัน แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่จะต้องคำนึงถึงความคิดของประชาชน
11. ประโยชน์ส่วนรวม การปฏิบัติพระราชกรณียกิจ และการพระราชทานพระราชดำริ ทรงระลึกถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ
12. บริการรวมที่จุดเดียว One-Stop Services ทรงเน้นในเรื่องการสร้างความรู้ รัก สามัคคีและการร่วมมือร่วมแรงใจกันด้วย
13. ทรงใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ ทรงเข้าใจถึงธรรมชาติและต้องการให้ประชาชนใกล้ชิดกับธรรมชาติ
14. ใช้อธรรม ปราบ อธรรม แนวปฏิบัติที่สำคัญในการแก้ปัญหาและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาวะที่ไม่ปกติ ให้เข้าสู่ระบบที่เป็นปกติ
15. ปลูกป่าในใจคน พระราชดำรัสตอนหนึ่งความว่า “….เจ้าหน้าที่ป่าไม้ควรจะปลูกต้นไม้ลงในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง”
16. ขาดทุนคือกำไร ขาดทุน คือ กำไร (Our loss is our gain…) การเสีย คือ การได้ ประเทศก็จะก้าวหน้า และการที่คนอยู่ดีมีสุขนั้น เป็นการนับที่เป็นมูลค่าเงินไม่ได้
17. การพึ่งตนเอง “…การช่วยเหลือสนับสนุนประชาชนในการประกอบอาชีพ และตั้งตัวให้มีความพอกินพอใช้ ก่อน
18. พออยู่พอกิน การพัฒนาเพื่อให้พสกนิกรทั้งหลายประสบความสุข สมบูรณ์ในชีวิต ได้เริ่มจากการเสด็จฯไปเยี่ยมประชาชนทุกหมู่เหล่าในทุกภูมิภาคของประเทศ จากนั้นได้พระราชทานความช่วยเหลือให้มีความอยู่ดีกินดี มีชีวิตอยู่ในขั้น “พออยู่พอกิน” ก่อน
19. เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่พระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด มานานกว่า 25 ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ โดยยึดหลักทางสายกลางพอเพียง พอประมาณด้วยเหตุผล มีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีสำนึกในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์ สุจริตดำเนินชีวิตด้วยความอดทนมีสติปัญญา รอบคอบ
20. ความซื่อสัตย์ สุจริต และกตัญญู “…คนที่ไม่มีความสุจริต คนที่ไม่มีความมั่นคง ชอบแต่มักง่าย ไม่มีวันจะสร้างสรรค์ประโยชน์ส่วนรวมที่สำคัญอันใดได้ ผู้ที่มีความสุจริตและความมุ่งมั่นเท่านั้นจึงจะทำงานสำคัญยิ่งใหญ่ที่เป็นคุณเป็นประโยชน์แท้จริงได้สำเร็จ
21. ทำงานอย่างมีความสุข พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระเกษมสำราญและทรงมีความสุขทุกคราที่จะช่วยเหลือประชาชน
22. ความเพียร :พระมหาชนก พระบาทสมเด็จอยู่หัว ทรงเริ่มทำโครงการต่างๆในระยะแรก ที่ไม่มีความพร้อมในการทำงานมากนัก และทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ทั้งสิ้น แต่พระองค์ก็มิได้ท้อพระราชหฤทัย มุ่งมั่นพัฒนาบ้านเมืองให้บังเกิดความร่มเย็นเป็นสุข และสุดท้ายค่ะ ก็คือ
23. รู้ รัก สามัคคี มีพระราชดำรัสในเรื่อง รู้ รัก สามัคคี ที่เราสามารถปรับใช้ได้กับทุกยุค ทุกสมัยค่ะ

Comments are closed.