คุณภาพการประเมิน

คุณภาพการประเมิน

               การที่บอกว่าสถานศึกษาใดมีคุณภาพหรือไม่นั้น  เราจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสำหรับใช้ในการวัดและประเมินผล  ดังนั้น การประเมินจึงเป็นเครื่องมือที่ถูกนำมาใช้ในการวัดคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษา  โดยการประเมินจะประกอบด้วยการประกันคุณภาพภายใน  และการประเมินคุณภาพภายนอก

การประกันคุณภาพภายใน (Internal Quality Assurance)

เป็นกระบวนการที่บุคลากรทุกฝ่ายในสถานศึกษาร่วมกันวางแผน  กำหนดเป้าหมายและวิธีการ  ลงมือปฏิบัติตามแผนในทุกขั้นตอน  มีการบันทึกข้อมูลเพื่อร่วมกันตรวจสอบผลงาน  หาจุดเด่น  จุดที่ต้องปรับปรุง  และร่วมกันปรับปรุงแผนงานนั้น ๆ โดยมุ่งหวังให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการสถานศึกษาที่เน้นคุณภาพของผู้เรียนเป็นสำคัญ

การประเมินคุณภาพภายนอก (External Quality Assessment)

เพื่อกระตุ้นให้สถานศึกษามีการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ  รวมทั้งเป็นการสะท้อนจุดเด่น  จุดที่ควรพัฒนา  เงื่อนไขความสำเร็จของสถานศึกษานั้น ๆ พร้อมเสนอแนะแนวทางปรับปรุงให้กับสถานศึกษา  และรายงานผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชนทราบต่อไป

“การประเมินภายนอกรูปแบบ “กัลยาณมิตรประเมิน” เป็นการประเมินที่มุ่งพัฒนาคุณภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด  พร้อมด้วยคุณธรรม  จริยธรรม  ตามนัยของความเกื้อกูลกัน  สู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษา”

               สมศ. มีการกำหนดรูปแบบในการประเมินคุณภาพภายนอกไว้คือ “กัลยาณมิตรประเมิน” (Amicable Assessment) ซึ่งเป็นการประเมินโดยกัลยาณมิตรที่มุ่งพัฒนาคุณภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด  พร้อมด้วยคุณธรรม  จริยธรรม  และจรรยาบรรณ  โดยมีการกำหนดขั้นตอนไว้ ๔ ขั้นตอนหลัก ดังนี้

ขั้นที่ ๑  ส่งเสริมและพัฒนา คือ การสร้างเจตคติที่ดีที่ถูกต้อง  สมจริงต่อการประกันคุณภาพการศึกษา  โดยเฉพาะการประเมินคุณภาพภายนอกและส่งเสริมพัฒนาให้สถานศึกษาพร้อมพัฒนาสู่คุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถาบัน  และพร้อมรับการประเมินคุณภาพภายนอกจาก สมศ.

ขั้นที่ ๒  สร้างศรัทธาต่อหมอโรงเรียน คือ การพัฒนาคัดสรรผู้ประเมินภายนอกที่มีความสามารถและมีความเป็นกัลยาณมิตร  เพื่อให้สถานศึกษาเกิดศรัทธาและไว้วางใจต่อผู้ประเมินภายนอก  และมีความเป็นมิตรต่อกันในการปฏิบัติภารกิจการประเมินคุณภาพภายนอก  เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของสถานศึกษา

ขั้นที่ ๓  เพียรประเมินอย่างกัลยาณมิตร คือ การประเมินสภาพจริงเพื่อยืนยันผลประเมินจากการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา  เพื่อพัฒนาสู่มาตรฐานโดยการบูรณาการ  การประเมินตนเอง  การประเมินเชิงประจักษ์  การประเมินเสริมพลัง  การประเมินเชิงคุณภาพ  และการประเมินเทียบมาตรฐานด้วยหลักการ “เข้าใจ  เข้าถึง  แล้วจึงเข้าประเมิน”

ขั้นที่ ๔ ชี้ทิศทางและเสริมแรงพัฒนา คือ  การรายงานผลการประเมินต่อสถานศึกษาต้นสังกัด  และสาธารณชนอย่างตรงไปตรงมา  พร้อมทั้งร่วมมือกับตันสังกัดในการให้แรงเสริม  เพื่อให้สถานศึกษามีการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

“การประเมินเพื่อพัฒนา  เพื่อกระตุ้นให้สถานศึกษามีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง  และมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการสถานศึกษาที่ดี”

               การประเมินเพื่อพัฒนา

               ในการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสามนี้สมศ. ได้พยายามชี้ให้เห็นว่าการประเมินของ

สมศ. เป็นการประเมินเพื่อพัฒนา  เพราะหากสถานศึกษามีการวางระบบการประกันคุณภาพภายในที่อยู่ในวิถีชีวิตของการทำงานตามปกติอย่างต่อเนื่อง  และมีการนำผลจากการประเมินไปวางแผนพัฒนาสถานศึกษาตามข้อเสนอแนะแล้ว  การประเมินก็จะไม่เป็นภาระหรือสร้างความกังวลให้กับสถานศึกษาและบุคลากรในองค์กรอีกต่อไป

นอกจากการประเมินจะมีคุณูปการต่อสถานศึกษาแล้ว  ยังสร้างคุณค่าต่อสังคมในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวคือ การประเมินที่มคุณภาพจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค  ซึ่งหมายถึงพ่อแม่  ผู้ปกครองและสังคม  ว่าสถานศึกษาที่บุตรหลานของท่านกำลังศึกษาอยู่มีคุณภาพและมาตรฐาน  ทั้งนี้การประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. นับเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยคุ้มครองผู้บริโภคด้วยระบบการประเมินที่มีคุณภาพ  ซึ่งประกอบด้วย

๑)      มีเกณฑ์และวิธีการประเมินที่มีคุณภาพเข้ากับบริบทของสถานศึกษา  และได้รับการ

ยอมรับจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

๒)      มีกระบวนการประเมินที่มีคุณภาพ  ทั้งก่อนการประเมิน  ระหว่างการประเมิน  และหลัง

การประเมิน  รวมทั้งการเก็บข้อมูล  การวิเคราะห์ข้อมูล  การจัดทำรายงานที่มีผลประเมินตรงตามสภาพจริง  ไม่บิดเบือน  เชื่อถือได้

๓)      มีผู้ประเมินภายนอกที่มีคุณภาพ  มีความรู้ความสามารถ  มีคุณธรรม  จริยธรรม  และประเมินด้วยรูปแบบกัลยาณมิตร

ที่มา : คุณภาพศิษย์ เป้าหมายการประเมิน. สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา. ๒๕๕๕

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *