นโยบายด้านเทคโนโลยีของบารัค โอบามา

2238969281_b75876fbc3

นโยบายด้านเทคโนโลยีของบารัค โอบามาที่ปรากฎอยู่บนเว็บไซต์ Change.gov (เว็บไซต์สำหรับช่วงเปลี่ยนผ่านการรับตำแหน่ง) นั้นชัดเจนว่า โอบามาต้องการสร้างนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตของอเมริกา เป็นทางเลือกในระยะยาวเพียงอย่างเดียวเพื่อผ่านพ้นวิกฤตทางตันของระบอบทุนนิยมที่กำลังเริ่มต้นอยู่ในขณะนี้ จากการศึกษาของประเทศอังกฤษโดยบริษัท PriceWaterhouseCoopers พบว่างบประมาณทุก 1 ปอนด์ที่รัฐบาลลงทุนในการศึกษาด้านเทคโนโลยี จะเกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจเป็นมูลค่า 2.05 ปอนด์ โดยมีอัตราการคืนทุน 3 ปี ((ข้อมูลจาก BusinessWeek))

แกนกลางสำคัญในแผนด้านเทคโนโลยีของโอบามา คือ การปรับปรุงการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของนักเรียนในสหรัฐอย่างเร่งด่วน ทั้งจ้างครูสายวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม อุดหนุนทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ปรับปรุงวิธีการสอบวัดผลให้เหมาะสำหรับวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ สนับสนุนให้แรงงานในอุตสาหกรรมพัฒนาทักษะการทำงานตัวเองให้ตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

สิ่งที่น่าสนใจในแผนการนี้คือการประกาศว่าจะตั้งประธานฝ่ายเทคโนโลยี (CTO – Chief Technology Officer) ของประเทศเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ เพื่อมาคุมงานด้านวิทยาศาสตร์โดยตรง สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความจริงจังของโอบามา และความคาดหวังของเขาว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะช่วยแก้ปัญหาในระยะยาวให้กับเขาได้

ผู้บริหารระดับสูงชื่อดังหลายคนของบริษัทไฮเทคต่างๆ ในซิลิคอน วัลเลย์ ถูกมองว่าเป็นตัวเก็งสำหรับตำแหน่งนี้ ไม่เว้นแม้แต่บิล เกตส์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไมโครซอฟท์ อย่างไรก็ตาม ตัวเก็งอันดับหนึ่งคือ เอริค ชมิดต์ (Eric Schmidt) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกูเกิล และผู้สนับสนุนคนสำคัญของโอบามาระหว่างการหาเสียงได้ออกมาปฏิเสธตำแหน่งนี้แล้ว โดยให้เหตุผลว่าเขายังอยากทำงานในภาคเอกชนอยู่

ในแผนการของโอบามานั้นกล่าวถึงกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในภาพรวม ระบุถึงตัวเทคโนโลยีโดยเฉพาะน้อยมาก อย่างไรก็ตามในแผนฉบับนี้ได้เอ่ยชื่อเทคโนโลยีที่อเมริกาต้องลงทุนอย่างเร่งด่วนในระยะเวลาสิบปีข้างหน้า 3 ชนิด คือ พลังงานทดแทน, ชีวการแพทย์ (biomedical) และสเต็มเซลล์ ซึ่งน่าจะช่วยให้เราเข้าใจทิศทางคร่าวๆ ที่วงการเทคโนโลยีของอเมริกาจะมุ่งไป ได้การนำของรัฐบาลโอบามาได้

สิ่งที่ไม่ถูกกล่าวถึงในนโยบายด้านเทคโนโลยีฉบับนี้ แต่อาจมีผลต่ออุตสาหกรรมไฮเทคของประเทศไทยก็คือนโยบายด้านเศรษฐกิจของโอบามา ที่ประกาศว่าจะดึงงานด้านซอฟต์แวร์ที่เคยเอาต์ซอร์ส (outsource) มายังประเทศต่างๆ ในเอเชีย เช่น อินเดีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ จีน และรวมทั้งประเทศไทย กลับไปยังอเมริกาเพื่อแก้ปัญหาการปลดพนักงานของอุตสาหกรรมไอทีสหรัฐ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศไทยซึ่งส่วนหนึ่งรับงานเอาต์ซอร์สจากต่างประเทศ​ (โดยเฉพาะสหรัฐ) จึงต้องเตรียมพร้อมและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงใน พ.ศ.​ 2552 ที่กำลังจะมาถึง

ภาพประกอบจาก Flickr โดย Steve Rodes
ใช้สัญญาอนุญาตแบบ Creative Commons

นโยบายด้านเทคโนโลยีของโอบามา-ไบเดน

ต้นฉบับจาก http://change.gov/agenda/technology_agenda/

บารัค โอบามา และโจ ไบเดน ((รองประธานาธิบดี)) นั้นมีความเข้าใจเป็นอย่างดีว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมมีพลังอานุภาพเพียงใดใน การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนอเมริกัน พวกเขาจะส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างเสรีบนอินเทอร์เน็ต นำเทคโนโลยีช่วยสร้างประชาธิปไตยที่โปร่งใสและเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมมาก ขึ้น ส่งเสริมการสร้างโครงข่ายโทรคมนาคมที่ทันสมัยเพื่อพัฒนาขีดความสามารถ แข่งขันของสหรัฐอเมริกา และใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการแก้ปัญหาร้ายแรงที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ เช่น พลังงานสะอาด, ค่าใช้จ่ายด้านประกันสุขภาพ และความปลอดภัยของประชาชน เป็นต้น

ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารอย่างเสรี ผ่านอินเทอร์เน็ตเสรีและสื่ออื่นๆ

ธำรงความเปิดกว้างของอินเทอร์เน็ต: สนับสนุนหลักการความเท่าเทียมของการส่งข้อมูลบนเครือข่าย (network neutrality) ((หลักการ network neutrality นั้นกำลังเป็นที่ถกเถียงในสหรัฐอเมริกา เพราะบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต้องการจัดความสำคัญของชนิดการเชื่อมต่อบนอินเทอร์เน็ต เช่น การส่งข้อมูลแบบพิเศษที่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม จะมีความสำคัญสูงกว่าการส่งข้อมูลแบบปกติ ซึ่งฝ่ายที่คัดค้านมองว่าเป็นการสร้างความไม่เท่าเทียมกันของการส่งข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต)) เพื่อรักษาข้อดีของอินเทอร์เน็ตเสรีเอาไว้
ส่งเสริมการแข่งขันของวงการสื่อ: สนับสนุนให้เจ้าของสื่อกระจายเสียงไม่กระจุกตัวเฉพาะแค่ในกลุ่มทุนบางกลุ่ม ส่งเสริมการพัฒนาสื่อใหม่ๆ เพื่อเป็นเวทีสำหรับความคิดเห็นที่หลากหลาย และแยกแยะภารกิจด้านความรับผิดชอบต่อสังคมให้เจ้าของสื่อกระจายเสียงที่ครอบ ครองความถี่อยู่แล้วทราบอย่างชัดเจน
ปกป้องเด็กและเยาวชน ไปพร้อมกับการรักษาสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ: มอบเครื่องมือและคำแนะนำให้กับบรรดาผู้ปกครอง เพื่อใช้ปกป้องภัยร้ายที่ลูกหลานของพวกเขาจะได้รับจากทีวีและอินเทอร์เน็ต แต่ในขณะเดียวกันก็ยังต้องไม่ละเมิดสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีตาม ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขครั้งแรก ((รู้จักกันในชื่อ First Amendment)) เพิ่มบทลงโทษที่รุนแรง บังคับให้กฎหมายให้เคร่งครัดมากขึ้น และส่งเสริมความร่วมมือระว่างภาคเอกชนและภาครัฐผู้บังคับใช้กฎหมาย เพื่อแยกแยะและจัดการกับผู้ประสงค์ร้ายต่อเด็กๆ ของเราโดยใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือ
ปกป้องความเป็นส่วนตัว: เพิ่มระดับการป้องกันข้อมูลส่วนตัวในยุคดิจิทัล และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อตรวจสอบการละเมิดความเป็นส่วนตัวทั้งจากภาค รัฐและภาคธุรกิจ
สร้างประชาธิปไตยที่โปร่งใสและมีส่วนร่วมของประชาชน

ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงรัฐบาลได้มากขึ้น: โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยสร้างความโปร่งใสของรัฐบาลที่ตรวจสอบได้ และเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนอเมริกาต่อการทำงานของรัฐบาล
เตรียมรัฐบาลให้พร้อมสู่ศตวรรษที่ 21: ปฏิรูปรัฐบาลโดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย พัฒนาการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างรัฐบาลกลางและประชาชน ในขณะเดียวกันต้องรักษาความมั่นคงในเครือข่ายของเรา แต่งตั้งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี (Chief Technology Office – CTO) ภาครัฐคนแรก เพื่อเป็นผู้ประสานงานกลางระหว่างประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) และประธานเจ้าหน้าที่สารสนเทศ (CIO) ของหน่วยงานรัฐแต่ละแห่ง เพื่อให้หน่วยงานรัฐได้ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับงานมากที่สุด และเรียนรู้ข้อดีข้อเสียจากหน่วยงานแห่งอื่น
วางโครงข่ายการสื่อสารที่ทันสมัย

โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งอนาคต: นำการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่แท้จริงไปยังชุมชนทุกแห่งใน อเมริกา โดยใช้วิธีปฏิรูปกองทุนพัฒนาโทรคมนาคม (Universal Service Fund) ((กองทุนที่เก็บเงินจากผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคม เพื่อนำไปพัฒนาโครงข่ายด้านการสื่อสารในจุดที่ยังขาดแคลน)) ผสมกับการจัดสรรคลื่นความถี่แบบใหม่ที่มีประสิทธิผล ระบบภาษีและเงินกู้แบบใหม่ที่จูงใจ เป้าหมายคืออเมริกาในฐานะผู้นำของประเทศที่มีอัตราส่วนผู้ใช้งาน อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ((ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาอยู่อันดับ 15))
พัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของอเมริกา

ส่งเสริมธุรกิจของอเมริกันในต่างประเทศ: สนับสนุนนโยบายการค้าเสรีที่รักษาประโยชน์ของสินค้าและบริหารอเมริกันในตลาด ต่างแดน ต่อสู้เพื่อสนธิสัญญาการค้าที่เป็นธรรมสำหรับบริษัทอเมริกัน
ลงทุนในวิทยาศาสตร์: เพิ่มงบประมาณภาครัฐด้านการวิจัยทั่วไปเป็น 2 เท่าภายในเวลา 10 ปี เปลี่ยนทัศนคติของรัฐบาลกลางให้มาลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น
ลงทุนในการวิจัยระดับมหาวิทยาลัย: ขยายขอบเขตการวิจัยของมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษา สร้างแหล่งทุนใหม่ๆ สำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ที่โดดเด่นภายในประเทศ
นำนโยบายลดหย่อนภาษีสำหรับการวิจัยมาใช้อย่างถาวร: ลงทุนในการวิจัยที่เชี่ยวชาญ การพัฒนาบุคคลากร และโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี นำนโยบายการลดหย่อนภาษีสำหรับการวิจัยมาใช้อย่างถาวร เพื่อให้บริษัทภาคเอกชนสามารถวางแผนการลงทุนวิจัยในเทคโนโลยีระยะยาวได้ง่าย ขึ้น
ธำรงไว้ซึ่งตลาดเสรี: ส่งเสริมภาคธุรกิจและกฎระเบียบเพื่อให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถอยู่ได้ ผู้ที่อยากมีกิจการเป็นของตัวเองสามารถทำได้ง่าย และองค์กรขนาดใหญ่สามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันผู้ออกกฎระเบียบและผู้บริโภคทั่วไปต้องได้รับการคุ้มครองจาก ภาคเอกชนที่ละเมิดกฎ ทบทวนสภาพบังคับใช้กฎหมายผูกขาดเพื่อรักษาหลักการทุนนิยม
ปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของอเมริกาในต่างแดน: ทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐอเมริกาจะต้องถูกปกป้องในตลาดต่างประเทศ และเน้นการทำงานร่วมกับมาตรฐานระดับนานาชาติที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้เทคโนโลยีของเราสามารถเข้าแข่งขันได้กับตลาดอื่นๆ ในโลกทุกแห่ง
ปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของอเมริกาภายในประเทศ

ปรับปรุงและปฏิรูประบบลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร เพื่อความโปร่งใส-เปิดเผยของข้อมูลสาธารณะ แต่ก็ยังต้องช่วยให้ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญานั้นได้รับความเป็นธรรม
ปฏิรูประบบสิทธิบัตร: ตรวจสอบว่าระบบกฎหมายสิทธิบัตรของเรานั้นปกป้องสิทธิ์ของผู้คิดค้น แต่ไม่ไปทำลายความคิดสร้างสรรค์หรือความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน มอบทรัพยากรแก่สำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า (Patent and Trademark Office – PTO) ให้มากขึ้น เปิดกระบวนการจดสิทธิบัตรเพื่อส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ลดความเสี่ยงจาการฟ้องร้องกันแบบไร้สาระ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ถ่วงรั้งนวัตกรรของอเมริกาอยู่
นำแนวคิดที่นิยมกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์: เผยแพร่การตัดสินใจของรัฐบาลเท่าที่ทำได้ ประเด็นที่เสนอคือการตัดสินใจของภาครัฐจะต้องอิงจากข้อมูลและหลักฐานทาง เศรษฐกิจที่รัดตัว ไม่ใช่อิงจากความเชื่อส่วนบุคคล
เตรียมความพร้อมให้เด็กและเยาวชนอเมริกันสู่ศตวรรษที่ 21

ประกาศให้การศึกษาด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เป็นวาระแห่งชาติ: รับสมัครครูที่จบการศึกษาด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โดยตรง และช่วยให้ครูกลุ่มนี้เรียนรู้จากครูที่มีประสบการณ์การสอนอยู่แล้ว ส่งเสริมการเข้าถึงเนื้อหาและสื่อการสอนด้านวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพในทุก ระดับชั้น
พัฒนาคุณภาพการสอบวัดความทางวิทยาศาสตร์: ทำงานร่วมกับผู้ว่าการรัฐและนักการศึกษาเพื่อปรับปรุงวิธีการสอบวัดความรู้ ให้สามารถวัดผลทักษะการคิดเชิงที่เป็นเหตุเป็นผล เช่น การอนุมานเหตุผล ตรรกะ และการวิเคราะห์ข้อมูล ไม่ใช่การสอบวัดความรู้ที่เน้นความจำ
แก้ปัญหาเด็กออกจากโรงเรียนก่อนจบการศึกษา: อุดหนุนงบประมาณให้กับเขตการศึกษาสำหรับพัฒนายุทธศาสตร์แก้ปัญหาเด็กออกจาก โรงเรียนระดับชั้นมัธยมต้น ตัวอย่างยุทธศาสตร์เหล่านี้ได้แก่ การวางแผนการศึกษาเฉพาะของนักเรียนแต่ละคน การใช้ครูสอนเป็นทีม การดึงผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วม การแนะแนว การสอนทักษะการอ่านและคณิตศาสตร์อย่างจริงจัง และการเรียนนอกเวลา เป็นต้น
สนับสนุนทุนเรียนด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในระดับอุดมศึกษา: สร้างฐานข้อมูลออนไลน์สำหรับว่าที่นักวิทยาศาสตร์ที่มีศักยภาพ ให้เข้าถึงข้อมูลความช่วยเหลือด้านค่าเล่าเรียนที่มีอยู่ในสายงานวิจัย ทั้งจากภาครัฐ ภาคสาธารณะ และภาคเอกชน
เพิ่มจำนวนบัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์: ปรับปรุงคุณภาพการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในระดับชั้นมัธยมปลาย เพื่อเตรียมนักศึกษาให้พร้อมสู่การเรียนระดับมหาวิทยาัลย เพิ่มจำนวนบัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม และสนับสนุนให้บัณฑิตเหล่านี้ศึกษาต่อปริญญาโทหรือเอก เพิ่มอัตราส่วนของนักศึกษาหญิงและนักศึกษาที่มีชาติพันธุ์อื่นๆ ในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ใช้ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของอเมริกาให้เป็นประโยชน์สำหรับความต้องการ แรงงานมีฝีมือที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
เตรียมความพร้อมผู้ใหญ่วัยทำงานให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบใหม่

การเรียนรู้ตลอดชีพ: แก้ไขกฎหมายการพัฒนาฝีมือแรงงาน และเพิ่มงบประมาณให้กับวิทยาลัยชุมชน รวมถึงโครงการการเรียนรู้สำหรับผู้ใหญ่ เพื่อให้ประชาชนอเมริกันสามารถพัฒนาทักษะอาชีพได้ตลอดชีวิต ปรับปรุงระบบช่วยเหลือแรงงานที่โดนปลดหรือลดชั่วโมงการทำงาน ((trade adjustment assistance)) โดยเพิ่ม อุตสาหกรรมภาคบริการเข้ามาด้วย สร้างระบบการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นเพื่อให้แรงงานสามารถเข้ามาใช้พัฒนาทักษะของตัวเองได้ตลอดเวลา
สร้างเครือข่ายการคุ้มครองแรงงาน ((Safety Net)) ที่พึ่งพิงได้: ถึงแม้ว่าโอบามาและไบเดนได้เสนอนโยบายการประกันสุขภาพ ประกันสังคม และประกันการว่างงานไปแล้ว แต่ทั้งสองคนยังจะต้องพัฒนานโยบายสำหรับช่วยเหลือคนอเมริกันที่ต้องเปลี่ยนงานจากภาวะเศรษฐกิจโลก
ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาร้ายแรงที่ประเทศกำลังเผชิญ

เทคโนโลยีและการสื่อสารในศตวรรษที่ 21 ได้เปลี่ยนโครงสร้างของตลาดแรงงาน และวิธีในการติดต่อสื่อสารอย่างรุนแรง ส่งผลให้เกิดช่วงที่มีนวัตกรรมเกิดขึ้นมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เราจึงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเชื่อมต่อกับประชาคมโลกได้ทั่วถึง เราสามารถนำพลังของเทคโนโลยีมาพัฒนาระบบการประกันสุขภาพ พัฒนาพลังงานสะอาดที่ใช้งานได้จริง พัฒนาการศึกษาให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และสนับสนุนให้อเมริกาเป็นประเทศผู้นำทางด้านเทคโนโลยีของโลกต่อไป

โอบามาและไบเดนจะ:

ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพโดยลงทุนในระบบสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์: ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อลดค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ ลงทุนปีละ 1 พันล้านดอลลาร์ในอีก 5 ปีข้างหน้าเพื่อพัฒนาระบบประกันสุขภาพของสหรัฐให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด รวมถึงประวัติการรักษาที่เป็นอิเล็กทรอกนิกส์ด้วย
ลงทุนในการพัฒนาพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม: ลงทุนปีละ 150 ล้านดอลลาร์ในอีก 10 ปีข้างหน้า เพื่อให้วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ และผู้ประกอบการด้านพลังงานสามารถพัฒนาพลังงานชีวภาพ และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานขึ้นมาใหม่ เร่งให้การนำรถยนต์ไฮบริดมาใช้งานจริงได้เร็วขึ้น ส่งเสริมอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนภาคเอกชน และมุ่งเป้าสู่ระบบผลิตไฟฟ้าแบบดิจิทัล ((digital electricity grid)) การลงทุนจะเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และเกิดการจ้างงานใหม่อีก 5 ล้านตำแหน่ง
ปรับปรุงโครงข่ายความปลอดภัยสาธารณะ: นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น บรอดแบนด์ และวิธีการสื่อสารแบบใหม่ๆ มาพัฒนาระบบรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินเฉพาะหน้าให้รับมือได้ทันท่วงทีมากขึ้น
ลงทุนในการวิจัยด้านชีวการแพทย์ (biomedical): สนับสนุนการวิจัยด้านชีวการแพทย์ เช่นเดียวกับวิชาการแพทย์ และการสาธารณสุขอื่นๆ ลงทุนในการวิจัยด้านชีวการแพทย์ และส่งเสริมความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ และภาคีนอกภาครัฐอื่นๆ
ลงทุนในการวิจัยสเต็มเซลล์ (stem cell): สนับสนุนการวิจัยสเต็มเซลล์ อนุญาตให้รัฐบาลกลางสามารถลงทุนด้านสเต็มเซลล์เป็นจำนวนเงินมากขึ้นได้

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *