Monthly Archives: February 2014

ปักกิ่ง 24 ก.พ.- สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงานว่า นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ของจีน ได้ประกาศมาตรการใหม่เพื่อกวาดล้างการทุจริตรับสินบนในแวดวงราชการ โดยจะกระจายการรวมอำนาจของส่วนกลาง เพิ่มความโปร่งใส และสร้างทัศนคติจะไม่ยอมทนต่อการทุจริต

นายกรัฐมนตรีหลี่ ประกาศเรื่องนี้ตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ แต่ซินหัวเพิ่งรายงานเมื่อค่ำวานนี้ เขากล่าวว่า การที่รัฐบาลกลางควบคุมมากเกินไปและเข้าไปแทรกแซงเศรษฐกิจจุลภาคโดยตรง นอกจากจะกระทบต่อความสามารถของตลาดในการตัดสินใจจัดสรรทรัพยากรแล้ว ยังจะทำให้ต้นทุนการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้นและเปิดช่องให้เกิดการทุจริตรับสินบน ปีที่แล้วรัฐบาลยึดเงินได้ 400,000 ล้านหยวน (ราว 2 ล้านล้านบาท) ระหว่างสอบสวนคดีทุจริต ลงโทษเจ้าหน้าที่ทำผิดวินัยแล้วกว่า 40,000 คน และไล่ออกไปแล้ว 10,000 คน รัฐบาลจะสร้างทัศนคติจะไม่ยอมทนต่อผู้ทุจริตในแวดวงราชการ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใครจะต้องถูกสอบสวนจนถึงที่สุด

นายกรัฐมนตรีหลี่ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลจะเปิดเผยงบประมาณและบัญชีทั้งหมด รวมทั้งขอให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงเข้มงวดการยับยั้งชั่งใจของเครือญาติและเจ้าหน้าที่ใต้บังคับบัญชา.-สำนักข่าวไทย

กสอ.ผุดไอเดีย “พิซซ่าโมเดล” หนุน SME สู้วิกฤตไทยรับมือ AEC

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมร่วมระดมสมอง ผุดไอเดีย “พิซซ่าโมเดล” หวังยกระดับภาคอุตสาหกรรมเอสเอ็มอี รับมือการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลก และการแข่งขันที่รุนแรงหลังเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พร้อมชู 6 โมเดลการพัฒนาตลาดเฉพาะกลุ่ม กรอบความคิดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การบริหารการเงินอย่างชาญฉลาด กลยุทธ์เครือข่ายธุรกิจ การสร้างโอกาสทางธุรกิจ กรอบความคิดที่ถูกต้อง

นางอรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จากการที่ทั่วโลกกำลังหันมาให้ความสนใจในประเทศแถบเอเชียมากขึ้น อันสืบเนื่องจากความเจริญรุดหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศจีน และอินเดีย รวมถึงการรวมตัวกันของประเทศในกลุ่มอาเซียน อันก่อให้เกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทำให้เกิดตลาดในภูมิภาคที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสทางการค้าของแต่ละประเทศ

นอกจากนี้ หากมีการขยายความร่วมมือการค้าเสรีกับคู่ค้าสำคัญอย่างจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งมีประชากรรวมกันกว่า 3,000 ล้านคน จึงนับเป็นโอกาสทางการตลาดอันมหาศาลสำหรับผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมไทย ซึ่งหากมองในภาพรวม การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะช่วยให้ประเทศสมาชิกมีความเป็นปึกแผ่นและช่วยสร้างอำนาจการต่อรองในเวทีการค้าต่างๆ ได้มากขึ้นด้วย

กสอ.ผุดไอเดีย “พิซซ่าโมเดล” หนุน SME สู้วิกฤตไทยรับมือ AEC
นางอรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการ SMEs ก็ต้องปรับตัวเพื่อเตรียมความพร้อมความหลากหลายทางเศรษฐกิจ และการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศกลุ่ม CLMV ที่สำคัญต้องศึกษาแนวโน้มความต้องการของตลาดอาเซียน ตลอดจนศึกษาความเป็นไปได้ในการย้ายฐานการผลิตไปยังแหล่งวัตถุดิบและแรงงานที่ถูกกว่า ยิ่งไปกว่านั้น ต้องเรียนรู้วิธีที่จะรักษาทรัพยากรบุคคลเพื่อป้องกันการถูกแย่งชิงแรงงานที่มีฝีมือ

นอกจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญต่อเรื่องธรรมาภิบาล และเรื่องที่ท้าทายที่อุตสาหกรรมต่างๆ ต้องเร่งแข่งขัน การเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสีเขียวต้องรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) สู่การผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าเตรียมรับมือกับ AEC ได้อย่างสร้างสรรค์ และยั่งยืน

นางอรรชกากล่าวต่อว่า ภาคอุตสาหกรรมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นกลุ่มที่ต้องมีการปรับตัว เพราะภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนตลอดเวลา และการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัว เสริมความแข็งแกร่งให้ตนเองเพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขัน ในส่วนของอุตสาหกรรมเครื่องเรือน กองพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมเพื่อเข้าสู่ AEC ในหลักสูตร “พิซซ่าโมเดล” โมเดลความอยู่รอดอุตสาหกรรม SMEs ในยุควิกฤต ระดมสมองยักษ์ใหญ่สร้างโมเดลปฏิรูปอุตสาหกรรม SMEs เพื่อการอยู่รอดอย่างสร้างสรรค์รับมือ AEC และการค้าชายแดน โดยได้คิด 6 โมเดลทางธุรกิจขึ้น ประกอบด้วย การพัฒนาตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niches Development) กรอบความคิดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Mindset) การบริหารการเงินอย่างชาญฉลาด (Financially Guru Smart) กลยุทธ์เครือข่ายธุรกิจ (Network Strategy) การสร้างโอกาสทางธุรกิจ (Opportunity) กรอบความคิดที่ถูกต้อง (Right Mindset)

ทั้งนี้ จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “พิซซ่าโมเดล” โดยวิทยากรที่มีชื่อเสียง เช่น คุณโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานสภาสถาบันและกรรมการบริหารสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) คุณบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) คุณเอกสิทธิ์ อเนกสิทธิสิน เลขาธิการสมาคมธุรกิจค้าไม้ และคุณณรงค์ ประเสริฐศรี สำนักงานทูตการเกษตร สถานทูตสหรัฐอเมริกาเพื่อหาทางออกวิกฤตอุตสาหกรรม SMEs ของชาติ ฯลฯ มาร่วมแชร์ประสบการณ์ และให้ความรู้ โดยตั้งเป้าหมายให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในภาพรวม ไม่เพียงกลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเฟอร์นิเจอร์ไทยสามารถเข้าใจในสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน สามารถประเมินความอยู่รอดของตนเองในสภาวะวิกฤตนี้ได้ ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ และการเมือง

ขอบคุณข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์

ขณะที่ภูฏานชวนผู้ประกอบก่อสร้างไทยไปลงทุน

สถาบันก่อสร้างแห่งประเทศไทยประสบผลสำเร็จ หลังกลุ่มธุรกิจและสมาคมก่อสร้างแห่งภูฏานดูงานที่ไทย ส่งผลให้เกิดการจับคู่การค้าและการลงทุนที่จะเปิดตลาดอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ภูฏาน เผยแนวโน้มยังมีการร่วมทุนระหว่างกันต่อเนื่อง เตรียมควงนักธุรกิจไทยไปดูงานถึงภูฏาน ระหว่างวันที่ 22-26 เมษายนนี้ พร้อมจัดงาน “Thailand Construction Expo” ที่เมืองทิมพู ภูฏาน เดือนกันยายน-ตุลาคมนี้

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สถาบันก่อสร้างแห่งประเทศไทยร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้การต้อนรับกลุ่มผู้ประกอบการก่อสร้างและตัวแทนสมาคมก่อสร้างแห่งประเทศภูฏาน กว่า 30 คน ที่เดินทางมาดูเทคโนโลยีด้านการก่อสร้างของไทย รวมถึงเชิญชวนผู้ประกอบการก่อสร้างของไทยไปลงทุนที่ภูฏาน เนื่องจากขณะนี้ภาคการก่อสร้างของภูฏานขยายตัวอย่างรวดเร็ว และเห็นว่าไทยมีศักยภาพในอุตสาหกรรมดังกล่าว

นายจักรพร อุ่นจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันก่อสร้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 20-24 มกราคมที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมและสมาคมก่อสร้างแห่งภูฏานได้เดินทางมาไทย เพื่อเข้ามาพบปะผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง และศึกษาดูงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างไทย ทำให้เกิดการจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการก่อสร้างไทยกับภูฏาน เพื่อรับงานภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง   ที่ภูฏาน

นอกจากนี้ยังได้ตกลงซื้อเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์เกี่ยวกับการก่อสร้างที่สามารถขนส่งทางเครื่องบินได้ในเบื้องต้นแล้ว และอีกส่วนอยู่ระหว่างการเจรจาการค้าและการลงทุนด้านการจัดหาวัสดุ เครื่องจักร อุปกรณ์ น้ำยา เฟอร์นิเจอร์ในงานก่อสร้าง รวมถึงความร่วมมือระหว่างไทยและภูฏานที่จะมีการฝึกอบรมช่างก่อสร้างที่ภูฏาน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สถาบันก่อสร้างฯ จะนำผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทย ประกอบด้วย กลุ่มสถาปนิก วิศวกร กลุ่มผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรอุปกรณ์ น้ำยาเคมี เฟอร์นิเจอร์ ผู้ประกอบการโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ เดินทางไปยังภูฏาน เพื่อศึกษาลู่ทางการค้าและการลงทุนในระหว่างวันที่ 22-26 เมษายน 2557

“จะเปิดตลาดการค้าและการลงทุนในภูฏาน โดยมีกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ช่วงเดือนกันยายน-เดือนตุลาคมนี้ จะมีการจัดงาน Thailand Construction Expo ที่เมืองทิมพู ภูฏาน เพื่อจะเป็นเวทีเจรจาการค้าและการลงทุนอุตสาหกรรมก่อสร้างอีกครั้ง” นายจักรพร กล่าว

ด้านนางพุบ ซัม นายกสมาคมก่อสร้างประเทศภูฏาน กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศภูฏานอยู่ระหว่างการพัฒนาให้เป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างสมบูรณ์ ซึ่งต้องมีการลงทุนระบบสาธารณูปโภคเพื่อการก่อสร้างโรงแรมและรีสอร์ท รวมถึงที่พักอาศัย  เพื่อรองรับการท่องเที่ยวดังกล่าว แต่ปัจจุบันภูฏานยังมีขีดจำกัดของระบบสาธารณูปโภคในการรองรับ ดังนั้นจำเป็นจะต้องมีการลงทุนด้านต่าง ๆ ซึ่งมองว่ามี 2 ประเทศที่มีระบบเทคโนโลยีสอดคล้องกับภูมิศาสตร์ ได้แก่ ไทยและอินเดีย

ทั้งนี้ จากการที่เข้ามาดูงานในไทย ไม่ว่าจะเป็นโรงงานต่าง ๆ เช่น โรงงานผลิต  แผ่นผนังสำเร็จรูป แบบพรีแฟบ (Prefab) และศูนย์ SCG Building material Center เห็นว่าไทยเป็นประเทศที่มีความพร้อมด้านองค์ความรู้การผลิตวัสดุอุปกรณ์ การก่อสร้างระบบต่าง ๆ ที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ทั้งยังรวดเร็วในการก่อสร้าง เนื่องจากประเทศภูฏานยังขาดเครื่องจักรและเทคโนโลยี จึงทำให้ใช้เวลาการก่อสร้างนาน

“รัฐบาลภูฏานจัดสรรงบประมาณการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคสูงถึงร้อยละ 50 จากงบรวมของประเทศ เพื่อที่จะรองรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้มีศักยภาพระยะยาว ซึ่งการมาพบและดูงานในไทยครั้งนี้ นอกจากการศึกษาความรู้ด้านผลิตภัณฑ์และการก่อสร้างในประเทศไทยแล้ว ยังมีเป้าหมายที่จะหาคู่ค้าเพื่อการลงทุนกับภูฏานในอนาคตด้วย” นางพุบ กล่าว. – สำนักข่าวไทย

ขอบคุณ Mcot.net

icon Tomorrow’s E-Commerce : Trend & Marketing 

ธุรกิจออนไลน์ถือเป็นเทรนด์แห่งอนาคต ผู้คนเริ่มให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการเลือกใช้ google, youtube, facebook และ instagram เป็นช่องทางหนึ่งในการนำเสนอสินค้า ซึ่งมีความแพร่หลายและเริ่มต้นได้ง่าย ๆ จากสิ่งที่ใช้อยู่เป็นกิจวัตร  อย่างไรก็ตาม แม้จะมีผู้สนใจในการทำธุรกิจออนไลน์เป็นจำนวนมาก สิ่งที่สำคัญคือ แต่ละท่านได้ “ลงมือทำ และเชื่อมั่นต่อการทำธุรกิจออนไลน์แล้วหรือไม่”

การจะทำธุรกิจออนไลน์ ต้องเข้าใจ คำแรก คือ คำว่า Trend โดย Trend นั้น หมายถึง “การหาสินค้า” (ขายอะไรดี)  นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด สินค้าที่ขายได้ดีที่สุดในโลกออนไลน์ คือ สินค้าที่ไม่สามารถหาได้ในโลกแห่งความเป็นจริง หรือหาได้ยาก (เฉพาะทาง) และต้องเป็นสินค้าที่เป็น “Need” (ความจำเป็นทางจิตใจ) ไม่ใช่ “Want” (ความต้องการ) จึงขอนำเสนอกฏสำคัญ 5 ข้อสำหรับสินค้าที่ขายได้ดีตลอดกาล

1.   สินค้าที่ทำให้ลูกค้าดูโดดเด่นในสังคม เป็นสินค้าที่สร้างความรู้สึกทางใจให้แก่ผู้ซื้อ และทำให้บุคคลภายนอกมองเห็นได้อย่างชัดเจน จะสร้างความภาคภูมิใจ และความไม่เหมือนใครให้แก่ผู้ซื้อได้

2.   สินค้าที่ตอบสนองด้านความสวยงาม และทำให้ผู้อื่นเกิดความสนใจต่อผู้ซื้อ เกี่ยวกับการแต่งตัว หน้าตา และสิ่งที่ทำให้เพศตรงข้ามสนใจ

3.   สินค้าที่เล่นกับความทุกข์ของคนหรือช่วยให้คนหายทุกข์ หายเจ็บปวด

4.   สินค้าที่ทำให้คนที่เรารักมีความสุข

5.   สินค้าที่ตอบสนองงานอดิเรก สิ่งที่ชอบ

คำที่สองที่ต้องรู้จัก คือ คำว่า  Marketing หรือ “การทำการตลาด” (ขายของได้) ทำอย่างไรให้ลูกค้าเห็นสินค้าของเราให้ได้มากที่สุด  โดยเราต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายลูกค้าให้ชัดเจน เพื่อให้เราทำการตลาดได้อย่างตรงจุด ปัจจุบัน การทำการตลาดสำหรับการค้นหาสินค้านิยมใช้ 2 วิธี คือ

1. SEO (Search Engine Optimization) โดยการเพิ่มอันดับของเว็บไซต์ในส่วนของผลการค้นหาให้อยู่ในลำดับต้น ๆ หรือหน้าแรก โดยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในเว็บไซต์ให้เป็นไปตามกฏของ Search Engine นั้น ๆ

2. PPC (Pay Per Click) คือ ส่วนของพื้นที่โฆษณาซึ่งอยู่ในหน้าผลการค้นหาเช่นกัน แต่ต้องจ่ายเงินเมื่อมีการคลิกเปิดเข้าไปดูเว็บไซต์ PPC มีข้อแตกต่างกับ SEO ตรงที่สามารถแสดงผลในลำดับต้น ๆ ได้ง่ายและรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม ยังมีวิธีการอื่น ๆ ที่ทำให้สินค้าของเราเป็นที่รู้จัก ได้แก่ การทำ Google Adwords, การทำ Classified Marketing หรือการประกาศขายผ่านเว็บไซต์ประกาศต่าง ๆ , การโฆษณาลงเว็บบอร์ด และการลงสินค้าบน Facebook

ธุรกิจออนไลน์ถือเป็นการลงทุนทางธุรกิจที่มีต้นทุนถูกที่สุด และมีโอกาสที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จในระยะเวลาอันสั้น ผู้ประกอบธุรกิจต้องศึกษาและทำความเข้าใจ “Trend” กับ “Marketing” ให้ถ่องแท้ก่อนตัดสินใจ เพื่อทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จตามที่ตั้งไว้ จากนั้น ลงมือทำด้วยความตั้งใจ

ข้อมูลจาก : คุณวรเศรษฐ์ เมธาอัครพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอบายโกลบอกเทรด จำกัด

จากการสัมมนา “Tomorrow’s E-Commerce : Trend & Marketing”

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

12-13 ธันวาคม 2556 

 

คณะกรรมการจำนำ 2 ปีฉุดยอดส่งออกข้าว “กมลกิจ” หด 40% แก้เกมอัดงบฯ 600 ล้านบาท ขยายคลังสินค้า รีแบรนด์น้ำมันรำข้าวชิม มองไกลเร่งวิจัยและพัฒนาสู่เวชสำอาง-ยา ตั้งเป้าโกยรายได้ปี′57 ทะลุ 8,000 ล้านบาท

นางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ ประธานกรรมการบริหาร กมลกิจกรุ๊ป ผู้ส่งออกข้าวนึ่ง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายหลังจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวในช่วง 2 ปี นับจากปี 2554/2555 และปี 2555/2556 ยอดส่งออกข้าวของบริษัทลดลงประมาณ 40% เหลือเพียง 2,500 ล้านบาท และยังส่งผลกระทบต่อธุรกิจน้ำมันรำข้าวด้วย เพราะโครงการรับจำนำข้าวทั้งหมดทำให้วัตถุดิบรำข้าวในตลาดหายาก ไม่สม่ำเสมอ หรือบางครั้งมีปัญหาเรื่องคุณภาพด้วย ประกอบกับเกิดการแย่งชิงวัตถุดิบ หลังจากที่มีผู้ประกอบการได้ตั้งโรงสกัดน้ำมันรำข้าวขึ้นมาในตลาดเพิ่มขึ้นอีก 4-5 ราย เพื่อส่งออกไปยังตลาดเกาหลีและญี่ปุ่น และเพื่อจำหน่ายในประเทศให้กับลูกค้าในกลุ่มอาหารสัตว์

“ธุรกิจส่งออกข้าวไม่เคยแย่ขนาดนี้ เราเคยทำได้ถึงสูงสุดปีละ 6,000 ล้านบาท ปีนี้ธุรกิจส่งออกข้าวอาจจะต้องชะลอเพื่อดูจังหวะที่เหมาะสมในโอกาสต่อไป แต่เราคาดหวังว่าปีนี้การส่งออกข้าวไทยน่าจะกลับมาได้ และราคาคงไม่ถูกเกินไป”

นางสาวกอบสุขกล่าวว่า ในปีนี้ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มรายได้เป็น 8,000 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมาที่รายได้ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 5,000 ล้านบาทเท่านั้น โดยยังคงสัดส่วนรายได้จากการส่งออกข้าวสัดส่วน 50% และน้ำมันรำข้าวสัดส่วน 50%

โดยเตรียมปรับแผนการลงทุน เพื่อเพิ่มรายได้จากธุรกิจคลังสินค้าที่ให้เช่าฝากเก็บสินค้า ซึ่งเดิมทีทางบริษัทได้ลงทุนสร้างคลังไปแล้ว 30,000 ตารางเมตร โดยปีนี้จะมีแผนขยายคลังเพิ่มอีก 30,000 ตารางเมตร คาดว่าจะใช้งบประมาณ 600 ล้านบาท เพราะเป็นการขยายในพื้นที่เดิมบริเวณ จ.ปทุมธานี และอาจจะมีซื้อที่ดินเพิ่มอีกส่วนหนึ่ง

“ธุรกิจคลังนี้มีแนวโน้มเติบโตดี เพราะทำเลของคลังเราอยู่ริมน้ำ มีท่าเรือขนถ่ายสินค้าได้ เชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมสะดวก พื้นที่คลังเดิม 30,000 ตารางเมตร มีลูกค้าเต็มหมด เรามีพันธมิตรด้านโลจิสติกส์ที่คอยบริหารจัดการและหาลูกค้าให้ หลัก ๆ จะรับฝากสินค้า เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอุปโภคบริโภค และเคยรับฝากเก็บหัวรถไฟฟ้า แต่ไม่ได้ให้เช่าเก็บข้าวสารรัฐบาล เพราะค่อนข้างยุ่งยาก”

พร้อมกันนี้ บริษัทยังได้เตรียมปรับรีแบรนด์น้ำมันรำข้าว “ชิม” ในช่วงกลางปีนี้ เพราะเป็นแบรนด์ดั้งเดิมที่ได้รับความนิยมในต่างจังหวัดมาเป็นเวลานาน ดังนั้นควรจะมีการเพิ่มคุณสมบัติของน้ำมัน เช่น เพิ่มแกมม่าออริซานอลมากขึ้น ส่วนช่องทางจำหน่ายมีแผนจะเพิ่มการจัดจำหน่ายให้กลุ่มผู้ซื้อ ยี่ปั๊ว-ซาปั๊วในต่างจังหวัดมากขึ้น จากเดิมที่จัดจำหน่ายผ่านห้างโมเดิร์นเทรดเป็นหลัก และอาจจะเพิ่มงบฯการทำโฆษณาในส่วนของสื่อสิ่งพิมพ์มากขึ้น จากปัจจุบันเน้นป้ายโฆษณาบนรถบัสขนาดใหญ่

“เราจะเน้นทำรีเทล ชิมน่าจะช่วยเพิ่มสัดส่วนตลาดในประเทศมากขึ้น จากปัจจุบันที่เน้นส่งออกเป็นหลัก โดยมีแบรนด์อัลฟ่า วัน (Alfa one) เป็น International Brand เป็นหลัก แต่ก็มีขายในประเทศด้วย และแบรนด์ริซี่ (Rizi) ซึ่งเราพัฒนาให้เป็นสินค้าระดับบนสำหรับตลาดในประเทศ ส่วนแบรนด์โรซ่า เราพัฒนาสำหรับขายในประเทศแต่ไม่ติดตลาดเท่าที่ควร ผู้บริโภคจะคุ้นเคยกับชิมมากกว่า”

ทั้งนี้น้ำมันรำข้าว คิดเป็นสัดส่วน 5% ในตลาดน้ำมันพืชบริโภค และที่ใช้ในอุตสาหกรรม ซึ่งแบรนด์ของเรามีหลายแบรนด์อยู่ในระดับพอ ๆ กับแบรนด์คิง และล่ำสูง และยังมีโรงกลั่นสุรินทร์ที่เน้นส่งออกเท่านั้น

นอกจากนี้ยังจะเน้นเพิ่มการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายสูงสุดของสินค้าเกษตรคือ การผลิตยา และเวชสำอาง ซึ่งขณะนี้มีหลายประเทศ เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ที่เริ่มตื่นตัวให้ความสำคัญเรื่องนี้มากขึ้น

ขอบคุณ : ประชาชาติธุรกิจ

 

เป็นการตอกย้ำอีกครั้งของการเข้าไปลงทุนในประเทศ CLMV สำหรับเมืองไทย หากไทยจะไป ผู้ประกอบการไทยควรจะเตรียมตัวอย่างไร จากมุมมองของภาคเอกชนที่เข้าไปคลุกคลี บอกได้ว่าโอกาสของประเทศไทยยังมีอีกมาก

นางดวงใจ จันทร ประธานกรรมการ บริษัท นัทธกันต์ จำกัด ผู้ประกอบการที่ลุยตลาดพม่า กัมพูชา และเวียดนามมานาน กล่าวในงาน “CP ALL SMEs FORUM 2014 บุกตลาด CLMV…อนาคต SMEs ไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ว่า พม่า ลาว และกัมพูชายังพึ่งพาสินค้าจากไทยเยอะ โดยเฉพาะสินค้าอาหารที่ล้วนติดรสชาติอาหารไทย ซึ่งลาวและกัมพูชาจะสะดวกเรื่องภาษา การสื่อสาร ที่ได้ทั้งภาษาไทยและจีน ชาวกัมพูชาร้อยละ 20 ฟังภาษาไทยรู้เรื่อง และเรื่องค่าเงินที่สามารถใช้ได้ทั้งเงินบาท และดอลลาร์

สิ่งสำคัญในการเข้าไปยังประเทศเหล่านี้ คือ สภาหอการค้า, ทูตพาณิชย์, สมาคมธุรกิจ เพื่อหาข้อมูลตลาดและหาตัวแทน ส่วนการแสดงสินค้าเป็นเพียงการเปิดตัว ไม่ได้ยืนยันว่าสินค้าจะติดตลาดและต้องหาลูกค้าใหม่ ในระยะ 6 เดือนก็รู้แล้วว่ารอดหรือไม่ ที่พนมเปญ มีสมาคมเอสเอ็มอีช่วยเรื่องเงินทุน ผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์ มีเทคโนโลยี สามารถเข้าไปได้

ขณะที่ประเทศเวียดนาม สามารถแบ่งผู้บริโภคเวียดนามออกเป็น 3 ส่วน คือ เวียดนามเหนือ เวียดนามกลางเป็นเมืองท่องเที่ยว ขณะที่เวียดนามใต้เป็นเมืองเศรษฐกิจ เพราะเป็นเมืองใหญ่ มีประชากรมากถึง 60 ล้านคน สินค้าที่ไปที่เวียดนามต้องผ่านกัมพูชา เพราะเสรีทางด้านภาษีมากกว่า

นายธีรพงษ์ ฤทธิ์มาก รองประธานสภานักธุรกิจไทยในเวียดนาม กล่าวในงาน “เปิดแนวรุก บุกตลาดเวียดนาม” จัดโดยสถาบันองค์ความรู้ด้านการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ว่า เวลานี้คนเริ่มเข้าสู่ยุคกินดีอยู่ดี มีกำลังในการซื้อหาสินค้า และกลุ่มคนมีเงินจะซื้อสินค้าตามห้าง ในขณะที่สินค้าจากเมืองไทยมีโอกาสในทุกอุตสาหกรรม แต่ต้องมีการจัดการที่เป็นสากล ไม่ใช้ระบบญาติ

ส่วนสินค้าที่เข้าไปเปิดตลาด ควรจะมีระบบกฎหมาย มีการจ้างที่ปรึกษาเข้ามา ช่วยให้กฎหมายมีความรัดกุม เพราะมีกรณีที่สินค้าไทยถูกก๊อบปี้มาแล้ว กรณีเรดบูล และอีกหลายกรณี

ทางออกของเอสเอ็มอีก็คือ อย่าซื้อไลเซนส์จากยุโรปหรืออเมริกามาทำตลาดในเวียดนาม เพราะเมื่อสินค้าไปได้ดี

คู่ค้าหรือชาวเวียดนามที่เห็นโอกาส จะบินไปซื้อไลเซนส์มาเองขยายตลาดแข่ง หากเป็นสินค้าไทย เน้นการสร้างโนว์ฮาวนวัตกรรมเอง นำมาขยายตลาดในเวียดนาม โอกาสที่จะเติบโตสูงกว่า

นอกจากนี้ สินค้าประเภทยาหรือของมีแบรนด์ต่าง ๆ จะคล้ายกันกับไทย คือ ขณะที่มีสินค้าอยู่ที่ร้าน จะมีกองทัพมดหิ้วมาจำหน่ายแข่งในราคาถูกกว่าจำนวนมาก

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ที่หวังจะเข้าไปเปิดโรงงานและใช้แรงงานราคาถูกของชาวเวียดนาม แนะว่าให้ไปเลือกโรงงานที่มีการปิดตัว เพราะก่อนหน้านี้ก็มีจำนวนมาก และน่าจะเป็นหนทางที่ดีกว่าการไปตั้งโรงงานใหม่ ส่วนเครื่องจักรจากไทย หากเป็นเครื่องจักรที่เก่าไม่แนะนำ เพราะที่เวียดนามเครื่องจักรที่อยู่ในเขตอุตสาหกรรมเป็นเครื่องจักรที่ทันสมัยเกือบทั้งหมด

ข้อมูลของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกระทรวงพาณิชย์พบว่า การค้าชายแดนของไทยกับเพื่อนบ้าน ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2556 ของไทยกับ เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา มีตัวเลขที่น่าสนใจ

สินค้าที่เมียนมาร์นำเข้าจากไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ น้ำมันดีเซล, เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และน้ำมันเบนซิน แต่สินค้าที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา 3 อันดับแรก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็ก และเหล็กกล้า เพิ่มขึ้น 139.34% เครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้างและส่วนประกอบ เพิ่มขึ้น 144.33% และเครื่องโทรสาร โทรพิมพ์ โทรศัพท์ อุปกรณ์ เพิ่มขึ้น 199.85% โดยด่านที่มีการนำเข้าสินค้าจากไทยสูงสุดสามอันดับแรก ได้แก่ ด่านศุลกากรแม่สอด, ระนอง และแม่สาย ตามลำดับ

สินค้าที่ลาวนำเข้าจากไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ น้ำมันดีเซล, รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และน้ำมันเบนซิน ส่วนสินค้าที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นในช่วงปี

ที่ผ่านมา 3 อันดับแรก ได้แก่ สินค้าปศุสัตว์อื่น ๆ เพิ่มขึ้น 78.70% ไก่ เพิ่มขึ้น 32.80% เหล็กและเหล็กกล้า เพิ่มขึ้น 19.67% ด่านที่มีการนำเข้าสินค้าจากไทยสูงสุดสามอันดับแรก ได้แก่ ด่านศุลกากรหนองคาย, มุกดาหาร และพิบูลมังสาหาร

สินค้าที่กัมพูชานำเข้าจากไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์, เครื่องยนต์สันดาปในแบบลูกสูบ และเครื่องสำอาง เครื่องหอม และสบู่ ส่วนสินค้าที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา 3 อันดับแรก ได้แก่ น้ำมันเบนซิน เพิ่มขึ้น 30.25% รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่มขึ้น 30.25% ผ้าผืน และด้าย เพิ่มขึ้น 29.83% ด่านที่มีการนำเข้าสินค้าจากไทยสูงสุดสามอันดับแรก ได้แก่ ด่านศุลกากรอรัญประเทศ, คลองใหญ่ และจันทบุรี

ขอบคุณ : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

630

ขณะนี้เอสเอ็มอีกำลังเผชิญกับวิกฤตสภาพคล่องหาย สต๊อกล้น ทำให้หน่วยงานหลักอย่างคณะกรรมการร่วม สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย……. อ่านต่อได้ที่ : http://bit.ly/1bAI8T8

ขอบคุณ โพสทูเดย์

 

“ผมเป็นคนชอบเรื่องรถ เรื่องความเร็วมาตั้งแต่เด็กครับ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมสนใจก็หนีไม่พ้นเรื่องในแวดวงนี้” เปิดฉากการสนทนาด้วยความชอบส่วนตัวของเซเลบหนุ่ม “แบรนด์เนม-ปรกฤษฎ์ หงษ์โสภา” หลานทวดขุนนาคอรรณไวยโรจน์ (ชิด ประสิทธิ์สรจักร์) หลานของพลโทประชุมและคุณหญิงสวาท ประสิทธิ์สรจักร์ ผู้ซึ่งกำลังเป็นที่จับตาในแวดวงนักธุรกิจรุ่นใหม่ของเมืองไทย ด้วยวัยที่ยังไม่ถึงเลข 3 แต่รักในความเป็นผู้นำ ทำให้มุมมองความคิดในการทำธุรกิจที่ทันสมัย หวังจะเปิดตลาดใหม่ไม่ให้ซ้ำกับที่มีอยู่เดิม

ขณะเดียวกัน ธุรกิจนั้นต้องมีความเป็นตัวเองอยู่ คือไม่หนีไปจากเรื่องราวในชีวิตของตนเองมากนัก แบรนด์เนมเติบโตขึ้นมาท่ามกลางธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องจักรอุตสาหกรรมนำเข้าจากต่างประเทศ จึงทำให้เขามีความสนใจในนวัตกรรมใหม่ ๆ อยู่ตลอด บวกกับความสนใจส่วนตัวเกี่ยวกับแวดวงยานยนต์ เขาจึงเลือกจับธุรกิจอย่างคาร์แคร์มาเป็นธุรกิจของตนเองตั้งแต่อายุ 22 ปี ทำให้เขาคลุกคลีอยู่ในวงการธุรกิจคาร์แคร์มานานกว่า 4 ปี โดยไม่ได้ทำงานตามสายที่เขาร่ำเรียนมาในเส้นทางนิเทศศาสตร์ แต่เขาเลือกร่วมหุ้นกับเพื่อน ๆ เปิดคาร์แคร์ ล้างสี ดูดฝุ่น อัดฉีดทั่วไป

“ผมเชื่อว่าถ้าเราได้ทำในสิ่งที่เรารัก เราสนใจ และมีความถนัด เราจะทำมันได้ดี สามารถใช้เวลาทุ่มเทกับมันอย่างจริงจัง อย่างเมื่อก่อนนั้นถึงผมจะมีธุรกิจล้างรถเป็นของตัวเอง ขณะเดียวกันผมก็คอยติดตามข่าวสารเกี่ยวกับแวดวงยานยนต์อยู่เสมอ อีกทั้งยังไม่หยุดคิดต่อยอดแตกไลน์ธุรกิจใหม่จากธุรกิจเดิมที่เรามีอยู่ด้วย ทำให้ผมต้องคิดมากยิ่งขึ้น

ผมจะมองว่าการทำธุรกิจนั้นเราควรจะมองในช่องธุรกิจที่คนอื่นยังไม่มอง ทำให้ตัวเองเป็นเหมือนจิ๊กซอว์ที่หายไป ซึ่งนั่นเหมือนเป็นช่วงโหว่ที่ทำให้ผมเกิดความรู้สึกว่า เราอยากเป็นคนทำให้มีอะไรเกิดขึ้นมา ในวันต่อ ๆ ไปเมื่อเวลามีใครพูดถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เขาก็จะนึกถึงเราก่อน ทีนี้จึงเกิดเป็นคำถามว่าแล้วอะไรล่ะที่บ้านเรายังไม่มี ฉะนั้นจึงยิ่งต้องศึกษาให้มาก”

ด้วยความเป็นคนรุ่นใหม่ เมื่อคิดที่จะเป็นผู้นำ แบรนด์เนม ปรกฤษฎ์ จึงเฟ้นหาธุรกิจที่จะสร้างความแปลกใหม่ให้กับแวดวงธุรกิจในประเทศไทย โดยต่อยอดจากร้านล้างรถแบบธรรมดาทั่วไป มาเป็นการล้างรถแบบไอน้ำรายแรกในประเทศไทยที่นำนวัตกรรมใหม่เข้ามาใช้ล้างรถ

“เมื่อช่วงต้นปีที่แล้วผมรู้จักนวัตกรรมล้างรถแบบไอน้ำจากอินเทอร์เน็ต ผมชอบด้านนี้อยู่แล้ว ผมจึงลองสั่งเครื่องแรงดันไอน้ำออปติมา สตีมเมอร์ มาลองใช้กับรถของตัวเองดู ปรากฏว่าเวิร์กมาก ผมจึงอยากทำให้ธุรกิจนี้มีขึ้นมา”

ประสบการณ์ทำธุรกิจคาร์แคร์มาเกือบครึ่งทศวรรษของแบรนด์เนม ทำให้เขามองว่า การจะเปิดร้านสักแห่งต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมาก เพราะไม่ใช่แค่มีเงินลงทุนและสถานที่เท่านั้น ยังต้องมองไปถึงข้อจำกัดในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นระบบจัดการน้ำ สิ่งสกปรก คราบฟองแชมพูต่าง ๆ คราบน้ำมัน ซึ่งอาจจะไปสร้างความรำคาญให้คนรอบข้างได้ ทำให้คาร์แคร์หลายสถานที่มักมีปัญหากับบุคคลโดยรอบ ๆ ซึ่งตัวเขาเองเห็นว่าปัญหาเหล่านี้ควรจะมีทางออกแต่ยังไม่เห็นมีใครที่จะพัฒนาให้ปัญหาเหล่านี้หมดไป หรืออย่างน้อยก็ทำให้ดียิ่งขึ้น ทั้ง ๆ ที่ธุรกิจการล้างรถของบ้านเราก็มีมานานมากแล้ว และเทคโนโลยีก็ล้วนรุดหน้าไปมาก

“เมื่อผมเจอกับความแตกต่างและสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในวงการคาร์แคร์บ้านเราผมเลยคิดว่าในเมื่อเราเจอสิ่งที่ดีกว่า หากเรานำมาต่อยอดก็จะสามารถสร้างให้เราเป็นผู้นำที่แตกต่างได้ แน่นอนว่าความยากจะต้องเกิดขึ้นในระยะแรก จากเมื่อกลางปีที่แล้วคือช่วง 3 เดือนแรกของผม ยอมรับว่ายากมาเลยครับ ผมต้องอธิบาย ประชาสัมพันธ์ ทำทุกอย่างให้ทุกคนรู้จักว่าการล้างรถไอน้ำคืออะไร ดีกว่ายังไง แต่เมื่อทุกคนได้ลอง ทุกคนก็พูดเป็นเสียงเดียวกันเลยครับว่า ดีกว่า สะอาดกว่าจริง ๆล้างได้รวดเร็วกว่าด้วย ในขณะเดียวกันก็ยังไม่สร้างความสกปรกเลอะเทอะให้พื้นที่ประกอบการด้วยครับ”

ทันทีชที่ทดลองกับตัวเองและคนรอบข้างจนเกิดผลลัพธ์ที่น่าพอใจแล้ว ไอเดียที่จะจริงจังกับธุรกิจนี้ของแบรนด์เนม ปรกฤษฎ์ จึงเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ด้วยการลงมือสร้างสรรค์แบรนด์โปร-สตีม (Prosteam) โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำนวัตกรรมล้างรถแบบครบวงจร ภายใต้คอนเซ็ปต์ Quick&Cool

“เมื่อผมเห็นว่าตรงนี้สามารถตอบโจทย์ทุกคนได้แล้ว ผมยังนึกไปถึงเรื่องสำคัญอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแชมพูจากธรรมชาติ น้ำยาที่ใช้ในโปร-สตีม ทุกตัวจะมีค่ากลาง pH 0.5 หมด ทำให้รถทุกคันโดนสารเคมีน้อยที่สุด แวกซ์ขี้ผึ้งจากประเทศบราซิลที่ได้รับการยกย่องว่าดีที่สุดในโลก เคลมได้เลยว่าเป็นมิตรกับธรรมชาติ 100% ซึ่งผมว่าเรื่องพวกนี้นอกจากจะเป็น CSR สำหรับการทำธุรกิจแล้ว ยังเป็นข้อดีที่เราช่วยโลกเราได้ ซึ่งโปร-สตีมสามารถทำได้จริงด้วยครับ”

หลังจากโปร-สตีมเริ่มเป็นที่รู้จัก แบรนด์เนม ปรกฤษฎ์จึงขยายไอเดียให้กว้างขึ้นอย่างรวดเร็วตามแบบฉบับของคนรุ่นใหม่ไฟแรง โดยคิดจะทำโมบายคาร์วอตช์ให้ประสบความสำเร็จในไทย จริง ๆ แม้จะมีคนทำมาแล้ว แต่เขาคิดว่าเขาน่าจะทำให้บูมขึ้นได้กว่าเดิม ด้วยเครื่องแรงดันไอน้ำออปติมา สตีมเมอร์ที่เขาถือลิขสิทธิ์ในมือ เพราะสามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก แถมมีเครื่องเดียวก็สามารถเปิดอู่ย่อม ๆ ได้ทันที เมื่อต้นทุนทุกอย่างจะลดลง เป็นมิตรกับธรรมชาติและยังเป็นมิตรกับกระเป๋าสตางค์ลูกค้า ขณะเดียวกันเขายังมองไปถึงธุรกิจการทำความสะอาดอื่น ๆ นอกจากนั้นยังอาจต่อยอดไปถึงล้างรถทุกประเภท เรือ รถไฟ เครื่องบิน ที่อยู่อาศัย ไปจนถึงโรงงานอุตสาหกรรมก็เป็นได้

“6 เดือนที่ผ่านมาถือว่าน่าประทับใจมากครับ เพราะนอกจากจะทำให้คนทั่วไปรู้จักเรายิ่งขึ้นแล้ว เรายังเปิดสาขาโปร-สตีมได้อีกหลายจังหวัดในประเทศ บางจังหวัดก็มองไปถึงความครอบคลุมในตลาดประเทศเพื่อนบ้านด้วยครับ”

ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นในระยะเวลาอันรวดเร็วบ่งบอกได้ชัดเจนว่านวัตกรรมใหม่ของแวดวงยานยนต์และไอเดียในการทำธุรกิจจากแบรนด์เนม ปรกฤษฎ์ หงษ์โสภา หนุ่มยุคใหม่คนนี้น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือหมดศรัทธารัฐฯ กร้าวไร้น้ำยาแก้วิกฤตการเมือง
นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สทร.)

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ร้องรัฐฯ ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลังกระทบธุรกิจหนัก กร้าวตอนนี้ผู้ประกอบการพึ่งรัฐฯ ไม่ได้ คาดเกิดสุญญากาศทางการเมืองอีก 6 เดือน แนะเอสเอ็มอีออกโรดโชว์ บุกค้าชายแดนกระตุ้นยอดขายในภาวะวิกฤต

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สทร.) เปิดเผยว่า หลังจากที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้ส่งกระทบต่อการส่งออกสินค้าทางอากาศ เนื่องจากอัตรานักท่องเที่ยวเข้ามายังประเทศไทยลดลง ทำให้จำนวนเครื่องบินเข้ามายังประเทศไทยลดลง ส่งผลต่อเนื่องให้ระวางการขนส่งสินค้าทางอากาศลดลงทำให้ค่าระวางการขนส่งปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้มีการเรียกเก็บค่าความเสี่ยงในการขนส่งเพิ่มและส่งผลต่อความมั่นใจของผู้ซื้อต่างชาติ ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉุกเฉินโดยเร็ว หากสถานการณ์ยืดเยื้อ ก็อาจย้ายไปซื้อจากประเทศอื่น

“ดังนั้นองค์กรเอกชนจะต้องช่วยเหลือกันเองให้มากที่สุด อย่าหวังพึ่งพาภาครัฐอีกเลย มั่นใจว่าอีก 1 ปี ไม่มีทางที่จะยื่นมือเข้ามาช่วยภาคเอกชนได้ เพราะดูจากงบประมาณภาครัฐก็ยังไม่เห็นแนวทางว่าจะเข้ามาช่วยอะไรได้ ขนาดที่ทำงานยังต้องย้ายไปย้ายมาหาที่ทำงานเป็นหลักแหล่งไม่ได้” นายวัลลภ กล่าว

“ผู้ประกอบการไทยควรจะต้องปรับตัวให้รอดพ้นจากวิกฤติในช่วงนี้ โดยออกไปร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศใกล้เคียง เช่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ เพราะไม่สามารถพึ่งพางานแสดงสินค้าภายในประเทศไทย รวมทั้งเพิ่มปริมาณการค้าชายแดน จากเดิมที่มุ่งเพียงการค้าผ่านแดน ไปเป็นการส่งสินค้าเข้าไปเจาะตลาดในหัวเมืองขนาดใหญ่ชั้นใน และเมืองหลวงของประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งการค้าผ่านแดนไปประเทศที่ 3 เช่น เวียดนาม และจีน เป็นต้น” นายวัลลภ กล่าว

อย่างไรก็ตามการที่ประเทศไทยไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้อย่างน้อยภายใน 6 เดือน ทำให้ไม่มีรัฐบาลที่มีอำนาจในการเจรจาข้อตกลงกับต่างประเทศส่งผลต่อการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรปหยุดชะงักลง และคาดว่าจะล่าช้าการที่กำหนดไว้กว่า 1 ปี จะทำให้ไทยมีต้นทุนสินค้าที่เสียเปรียบประเทศคู่แข่ง เนื่องจากไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี) ปีนี้ถูกตัดไป 50 รายการ และในปีหน้าจะถูกตัดทั้งหมด 723 รายการ ทำให้ศักยภาพการแข่งขันของไทยตกต่ำและจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกอย่างชัดเจนในปี 2558

 

ขอบคุณข้อมูลจาก ASTV Online