Monthly Archives: July 2010

คู่แข่งคือ ครูคนสำคัญ

วันนี้ ดิฉันมีเรื่อง คู่แข่งคือ ครูคนสำคัญ      มาเล่าให้ฟังค่ะ

อาจารย์สอนยูโดชาวญี่ปุ่นอายุปูนปัจฉิมวัยคนหนึ่ง ชวนลูกศิษย์หนุ่มชาวอเมริกันเดินทอดน่องไปตามชายหาดยามเย็น ช่วงหนึ่งของการสนทนา อาจารย์ใช้ไม้เท้าขีดสองเส้นคู่ขนานลงไปบนผืนทรายขาวละเอียด เส้นหนึ่งยาวประมาณ 5 ฟุต อีกเส้นยาวประมาณ 3 ฟุต

"เธอลองทำให้เส้นที่ยาว 3 ฟุตยาวกว่าเส้นที่ยาว 5 ฟุตให้อาจารย์ดูหน่อยซิ"

เสียงอาจารย์บอกเป็นเชิงท้าทายอยู่ในที ลูกศิษย์อเมริกันหยุดคิดพินิจเส้นทั้งสองอยู่ครู่หนึ่งก็เผยยิ้มที่ริมฝีปากเหมือนค้นพบคำตอบ เขาบรรจงใช้เท้าข้างหนึ่งค่อยๆ ลบรอยเส้นตรงที่ยาวประมาณ 5 ฟุตนั้นให้สั้นลงจนเหลือนิดเดียว โดยวิธีนี้เส้นที่ยาวราว 3 ฟุตจึงโดดเด่นขึ้นมาแทน ลบเสร็จเขาเงยหน้าสบตาอาจารย์พลางขอความเห็น

"เช่นนี้ใช้ได้หรือยังครับ"

ผู้เป็นอาจารย์ใช้ไม้เท้าเคาะศีรษะเขาเบาๆ 1 ทีก่อนบอกว่า

"ใช้วิธีนี้ชีวิตเธอก็มีแต่จะล้มเหลว รู้ไหมคนที่คิดจะยกตัวเองให้สูงขึ้นโดยการทำร้ายคู่แข่งนั้นไม่สู้ฉลาดเลย ทางที่ดีจงยกตัวเองขึ้นแต่อย่าลดคนอื่นลง"

ว่าแล้วอาจารย์ก็ขีดเส้นทั้งสองใหม่ แล้วสาธิตให้ดูโดยการปล่อยเส้นที่ยาว 5 ฟุตไว้อย่างเดิม แต่ขีดต่อเส้นที่ยาว 3 ฟุตให้ยาวขึ้นไปเป็น 10 ฟุต ฝ่ายลูกศิษย์ยังคงกังขา

"คู่แข่งของเธอไม่ใช่ศัตรู แต่คือครูของเธอ และเขาคือคนสำคัญที่จะทำให้เธอได้ก้าวไปข้างหน้าอย่างสง่างาม เธอลองคิดดูหากไร้เสียซึ่งคู่แข่ง เธอจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวเองมีศักยภาพในการทำงานขนาดไหน ไม่มีอัปลักษณ์ เธอจะรู้จักความสวยงามได้อย่างไร ไม่มีน้ำขุ่น มีหรือเธอจะรู้จักน้ำใส คู่แข่งของเรายิ่งเก่ง ยิ่งฉลาดล้ำ ก็จะทำให้เรารู้จักขยับตัวเองขึ้นไปให้สูงส่งยิ่งขึ้น นักสู้ที่ดีนั้นเขายืนหยัดอยู่ในสังเวียนได้เพราะมีคู่แข่งที่เข้มแข็ง คู่ต่อสู้ที่อ่อนแอทำให้เราเป็นผู้ชนะ แต่ชัยชนะนั้นมักไม่ยืนยง

"คนที่พยายามจะเลื่อนตัวเองขึ้นไปโดยการฆ่าน้อง ฟ้องนาย และขายเพื่อน ถึงแม้จะทำได้สำเร็จ แต่นั่นก็เป็นความสำเร็จที่ปราศจากเกียรติคุณ ไม่อาจเอ่ยอ้ายได้อย่างเต็มภาคภูมิ จงดูความสำเร็จของนักการเมืองที่ใช้เงินซื้อเสียงเข้าสภาเป็นตัวอย่าง แล้วเธอจะตอบได้เองว่าการเลื่อนตัวเองขึ้นไปโดยวิธีที่ไม่ชอบธรรมกับการเลื่อนตัวเองขึ้นไปโดยปล่อยให้คนอื่นได้ก้าวไปตามวิถีทางของเขาอย่างเสรีนั้นมีผลลัพธ์ต่างกันเพียงไร

"การเลื่อนตัวเองขึ้นพร้อมกับลดคนอื่นลง เธออาจชนะแต่ก็มีศัตรูเป็นของแถม"

"เลื่อนตัวเองขึ้น แต่ไม่ลดคนอื่นลง เธออาจเป็นผู้ชนะพร้อมกับมีเพื่อนแท้เพิ่มขึ้นมากมาย วิธีไหนจะดีกว่ากัน"

ผู้นำที่แท้จริงคือผู้รับใช้ที่คอยตอบสนองความต้องการของทีม

หนึ่งในปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาให้องค์กรมุ่งไปสู่ความสำเร็จได้นั่นคือ "ผู้นำ" หลายๆ ท่านที่เคยดูภาพยนตร์ หรืออ่านวรรณกรรม "สามก๊ก" คงจะเห็นภาพ ที่ชัดเจนมาก ว่า "ผู้นำ" ผู้ตาม และกลยุทธ์มีส่วนสัมพันธ์กับความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นการพลิกความ เสียเปรียบให้กลับมาเหนือคู่แข่ง หรือ พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ซึ่งล้วนแล้วแต่เกิดจาก "ผู้นำชั้นยอด" "กลยุทธ์ชั้นดี" และ ส่งต่อไปยัง "ผู้ตามที่มีคุณภาพ" เพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่แท้จริง สำหรับวันนี้ดิฉันจะมาพูดคุยถึงเรื่องของ "ผู้นำ ที่แท้จริงในองค์กร เรามีมากน้อยแค่ไหน และจะสามารถวัดได้อย่างไรว่าใครเป็นผู้นำที่แท้จริง"
ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคำว่า ผู้นำ หลายองค์กรต่างให้ความสำคัญกับ การสร้างผู้นำ แต่ในวันนี้ถ้าถามว่า ในองค์กรมีผู้นำที่แท้จริงซักกี่คน ? และมีความสามารถที่จะทำหน้าที่ของผู้นำได้อย่าง ครบถ้วนซักกี่คน ? แล้วถ้าเรามีผู้นำในองค์กรปัญหาในองค์กรที่มีอยู่ถูกแก้ไขแล้วหรือไม่    ทุกๆ องค์กรควรจะมีบุคลากรที่จะมาคอยมองหาหรือสร้างโอกาสใหม่ให้กับองค์กร และต้องเป็นผู้ที่จะสามารถมองการณ์ไกลไปในอนาคตข้างหน้าได้รวมถึงต้องมีความสามารถที่จะรับรู้ได้ว่ามีอะไรบ้างในองค์กรที่จะต้องได้รับการพัฒนา และต่อยอด จุดอ่อนตรงไหนที่ต้องแก้จุดแข็ง ตรงไหนขององค์กรที่ต้องเสริมเติมให้แกร่งเพื่อที่จะไปตอบโจทย์อนาคตที่ผู้นำวางแผนไว้ได้ ในจุดนี้ก็เป็นอีกหนึ่งหน้าที่ของผู้นำที่แท้จริงต้องผลักดันองค์กรได้ ต้องถามตัวเองว่า ทุกวันนี้ในองค์กร ของเรามีผู้นำที่จะคอยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ?  อยากให้ท่านลองพิจารณาดูจากคำถาม ห้าประการดังต่อไปนี้
         ประการแรก ทุกวันนี้ในองค์กรมีคนที่จะคอยคิด พัฒนา และวางแผนเพื่อมองหาโอกาสสำหรับอนาคตให้แก่องค์กรหรือไม่ ไม่ใช่แค่จะคอยแต่คิดแก้ไขปัญหา ในงานประจำวันเท่านั้น องค์กรต้องถาม ตัวเองว่าในองค์กรของเรา เรามีผู้นำแบบนี้หรือไม่ และนี่คือสิ่งที่ผู้นำต้องช่วยกันทำช่วยกันคิด
ผู้นำโดยทั่วไปมักจะพูดว่า  อันนั้นต้องพัฒนา อันนี้ต้องพัฒนา
แต่จริงๆ แล้วต้องถามดูว่ามันใช่สิ่งที่ต้องพัฒนาหรือเปล่า องค์กรต้องทำตรงนี้ เป็นเรื่องเร่งด่วนหรือไม่ หรือองค์กรสามารถนำคนทั่วไปมานั่งทำในส่วนงาน ตรงนี้แล้ว ให้ผู้นำไปทำสิ่งที่จะทำให้เกิดความสำคัญต่ออนาคตขององค์กรแทนซึ่งเป็นความสำคัญมากกว่า   โดยสรุปแล้วผู้นำที่แท้จริงต้องระบุได้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ ไม่ใช่เพื่อแก้ปัญหางานปัจจุบันแต่เป็นการวางรากฐานอนาคตขององค์กร สร้างโอกาสให้แก่องค์กร ในวันนี้องค์กรของเรามี ผู้นำแบบนี้มากน้อยแค่ไหน ?
       ประการที่สอง ต้องเป็นผู้นำที่จะสามารถทำให้เกิดคำว่า การเจริญเติบโตขององค์กรที่แท้จริง ตรงนี้หมายความว่า เป็นผู้นำที่เกิดมาเพื่อทำหน้าที่ตรงนี้จริง ไม่ใช่อะไรที่เป็นงานทั่วไป ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่สามารถทำได้ แต่ในผู้นำองค์กรจะมีซักกี่คนที่ทุกชิ้นงานของเขาทำให้องค์กรเติบโตขึ้น ทำให้คู่แข่งตามไม่ทัน ทำให้องค์กรอยู่ได้ยาวนาน ทำให้มีผลประกอบการที่ดีขึ้น
และตรงนี้องค์กรต้องถามตัวเองว่าในตอนนี้องค์กรมีผู้นำแบบนี้กี่คน ที่สามารถทำได้จริงๆ
     ประการที่สาม เรามีผู้นำกี่คนที่มี ความสามารถที่ผลักดันให้คนในองค์กรตระหนักถึงวิสัยทัศน์ ทิศทางของ องค์กร และสามารถสื่อสารกับพนักงาน ในองค์กร ผลักดันให้อยากที่จะทำ อยากที่จะไปให้ถึงเป้าหมายในทิศทางที่องค์กรได้วางไว้ หลายครั้งอาจจะสั่งให้ ลูกน้องทำงานตามเป้าหมายได้
แต่จะมีซักกี่คนที่สามารถสร้างให้ลูกน้องและทีมงานเกิดความตื่นเต้น อยากที่จะทำด้วยใจจริง อยากที่จะเปลี่ยนแปลง
อยากที่จะไปด้วยกันกับทิศทางและ เป้าหมายขององค์กรโดย ความตั้งใจเดียวกันไม่ใช่มาจากการสั่งงานตามหน้าที่ ไม่ว่าองค์กรจะมีทิศทางใหม่ที่แตกต่าง หรือความเปลี่ยนแปลงที่ต้องใช้ความสามารถ   หรือความพยายามมากขนาดไหน
ต้องถามองค์กรว่า  มีกี่คนที่จะสามารถนำพาลูกน้องไปตรงจุดนั้นได้ด้วยความเต็มใจตื่นเต้นและมีความยินดีกับ ความเปลี่ยนแปลง
      ประการที่สี่ มีผู้นำซักกี่คนที่สามารถกระตุ้นบุคลากรได้ สร้างทัศนคติ ที่ดีต่อการทำงานไม่ใช่แค่การมาทำงาน ไปวันๆ หนึ่ง แต่ต้องทำงานด้วยความรู้สึก ที่อยากจะสู้ อยากจะพัฒนา อยากจะเก่ง ตอนนี้องค์กรต้องถามตัวเองว่ามีกี่คนที่ทำตรงนี้ได้ผู้นำที่สามารถผลักดัน กระตุ้นและให้กำลังใจ สร้างความภูมิใจ กับการทำงานชิ้นนั้นให้แก่บุคลากรในองค์กรอย่างแท้จริง
ในอดีตความเปลี่ยนแปลงอาจจะเกิดขึ้นใน 1 ปี 2 ปี หรือแม้แต่ 3 ปี แต่ในทุกวันนี้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ตลอดเวลาทุกวัน จะทำอย่างไรที่จะไปกระตุ้นให้บุคลากรในองค์กรรู้สึกว่า ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงก็ไม่สามารถอยู่ในการแข่งขันนี้ได้
เพราะฉะนั้นคำว่าความเปลี่ยนแปลง ในยุคสมัยนี้เหมือนเพื่อนที่จะมาพร้อมกับธุรกิจเลยถือเป็นเรื่องธรรมดา
ซึ่งคนที่เป็นผู้นำต้องนำไปได้ทุกวัน ไม่ว่าองค์กรจะปรับบ่อยแค่ไหนหรือต้องพยายามมากแค่ไหน
ในองค์กรตรงนี้จะมีกี่คนที่สามารถ ทำได้ คนที่สามารถทำให้การเปลี่ยนแปลง เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตได้สร้างให้เกิดความรักในการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่ความกลัวหรือท้อใจผู้นำทั่วไปอาจจะสามารถนำคนบางกลุ่มได้ แต่ผู้นำที่แท้จริงต้องสามารถนำคนทั้งองค์กรไปสู่จุดเดียวกันได้ แน่นอนว่าต้องถามองค์กรว่าตอนนี้มีกี่คนในองค์กรที่สามารถนำไปถึงทิศทางขององค์กรได้อย่างแท้จริง
     ประการที่ห้า สิ่งที่สำคัญมากๆต้องถามองค์กรว่ามีผู้นำกี่คนที่พัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง รู้ว่าเรามีจุดอ่อนอะไรตรงไหนโดยไม่ต้องมีคนมาบอก สามารถรู้ได้เองว่าเราต้องพัฒนาอะไร ทำอะไร ในขณะเดียวกันก็ต้องเป็นผู้นำที่เปิดรับฟังข้อมูลป้อนกลับจากแหล่งต่างๆ หรือผู้อื่นอย่างใจเปิดก

คำว่า Leader (ผู้นำ) มาจากภาษาอังกฤษโบราณว่า Lead ซึ่งแปลว่า ถนน ทาง  หรือ การเดินทาง  ผู้นำเดินทางไปด้วยกันกับผู้ตาม  คอยชี้นำพวกเขาให้ไปสู่จุดหมายปลายทาง  ความหมายโดยนัยคือ  ผู้นำเป็นผู้รวบรวมผู้คนให้อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม  แล้วเดินทางไปสู่จุดหมายร่วมกัน         ผู้นำไม่ใช่ตำแหน่ง  แต่เป็นทัศนคติ  ผู้นำคือผู้ขายความหวัง  ถึงแม้ในยามที่ดูเหมือนว่าคุณกำลังเผชิญกับสิ่งสุดวิสัยที่จะทำได้สำเร็จ  แต่ผู้นำกลับเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์และทำให้ทีมงานเห็นมันด้วย  ผู้นำที่แท้จริงคือผู้รับใช้ที่คอยตอบสนองความต้องการของทีม

ดิฉันขอยกตัวอย่างให้ฟังสักเรื่องสั้นๆ นะค่ะ    เมื่อครั้งที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช และกองทัพอันเกรียงไกรของพระองค์หยุดพัก ระหว่างยาตราทัพข้ามทะเลทราย  ก็พบว่ามีน้ำเหลืออยู่ถ้วยสุดท้าย  เมื่อมีผู้ถวายน้ำถ้วยนั้นให้แก่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ฯ  พระองค์ทรงรับถ้วยมาแล้วเทน้ำทั้งหมดลงบนทรายพลางตรัสว่า  ไม่มีใครดื่มน้ำจนกว่าพวกเราทุกคนได้ดื่มพร้อมๆกัน  นี่เป็นตัวอย่างที่ผู้นำต้องเป็นให้ได้ค่ะ

วันนี้ ดิฉันขอฝากคำคมไว้ว่า

คนฉลาดที่ขาดคุณธรรม เป็นผู้นำที่ดีไม่ได้ว้างเช่นกัน

นิทาน เรื่อง กากับนกเค้า

คราวนี้ ดิฉันมีเรื่อง กากับนกเค้า    มาเล่าให้ฟัง

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในครั้งปฐมกัลป์พวกสัตว์ทั้งหลายได้เลือกผู้นำของตนเองกล่าวคือ พวกมนุษย์เลือกชายผู้มีรูปร่างสวยงาม มีมารยาทเรียบร้อยและมีสติปัญญาเป็นพระราชา พวกสัตว์ ๔ เท้าเลือกราชสีห์เป็นหัวหน้า พวกปลาเลือกปลาอานนท์เป็นหัวหน้า
     ฝ่ายพวกนกมาประชุมกันที่ป่าแห่งหนึ่งแล้วทำการคัดเลือกหัวหน้า ฝูงนกเสนอให้นกเค้าขึ้นเป็นหัวหน้า แต่มีกาตัวหนึ่งพูดคัดค้านขึ้นว่า
     ” ท่านทั้งหลาย หน้าตาของนกเค้าขนาดยังไม่โกรธก็ยังเป็นเช่นนี้ ถ้าเขาโกรธขึ้นมาจะดูได้หรือ ผู้ที่จะเป็นหัวหน้าจะต้องหน้าตาดูดีกว่านี้ ข้าพเจ้าไม่เห็นดีด้วย   แล้วกล่าวเป็นคาถาว่า
      ” ขอความเจริญรุ่งเรืองจงมีแก่ท่านทั้งหลาย การแต่งตั้งนกเค้าให้เป็นใหญ่          ข้าพเจ้ายังไม่ชอบใจ ท่านจงมองดูหน้านกเค้าที่ยังไม่โกรธดูซิ       ถ้านกเค้าโกรธจะทำหน้าอย่างไร
ว่าแล้วก็บินร้องไปในอากาศว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย ๆ ฝ่ายนกเค้าโกรธมากที่ถูกกาว่าร้ายได้บินไล่กานั้นไป ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมากากับนกเค้าได้จองเวรกันและกันจนถึงปัจจุบัน

สุดท้ายพวกนกได้เลือกหงส์ทองให้เป็นหัวหน้านก

 

 
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า 
 เป็นผู้นำคนหน้าตาจะต้องยิ้มแย้มเบิกบานเป็นที่สบายใจของลูกน้องและผู้พบเห็น

ผู้ที่จะเป็นผู้บริหารมืออาชีพ จะต้องมือถึงและบารมีด้วย

เป็นที่ทราบว่า ขณะนี้เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจประเทศไทย กำลังผันผวน และไม่มีใครล่วงรู้ได้ว่า ทิศทางของเศรษฐกิจไทย         จะเป็นอย่างไรต่อไป ดังนั้น คนที่เป็นผู้บริหารองค์กร ที่จะต้องบริหารพนักงานหลายร้อยหลายพันคน หรือบางองค์กรอาจจะถึงหลักหมื่นคน จึงต้องมีความเป็นมืออาชีพมากๆ หาไม่เช่นนั้นสินค้าก็จะขายไม่ได้
หรือไม่ก็จะถูกพิษเศรษฐกิจ ดอกเบี้ย และค่าเงินกระหน่ำซัด จนทำให้องค์กรที่แบกพนักงานจำนวนหลายร้อย หลายพันหรือหลักหมื่นคนอาจต้องล้มทั้งยืน
ปุจฉาแห่งความเป็นมืออาชีพจึงเกิดขึ้นว่า...แล้วจะมีหนทางใดที่จะให้ผู้บริหารก้าวไปสู่ความเป็นมืออาชีพ หรือจะมีหนทางใดที่จะทำให้ผู้บริหารเหล่านั้น บริหารองค์กร จนกลายเป็นมืออาชีพในบัดดลค่ะ
ซึ่งเรื่องนี้ "คุณจำลักษณ์ ขุนพลแก้ว" ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ บอกว่า...คนเราเลือกเกิด ไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นได้ และต้องเลือกให้ถูก และทำให้ถูกด้วย
โดยอยู่บนความเชื่อ 3 ประการของความเป็นมืออาชีพ คือ
หนึ่ง Proactive people
สอง Professional people
สาม Productive people

ซึ่งมีคุณลักษณะของมืออาชีพจะต้องประกอบด้วย ไม่ล้ำเส้น, คิดเองได้, มีความรับผิดชอบ, กล้าตัดสินใจ, ให้เกียรติผู้อื่น, รักษาเกียรติในยามแพ้, ยอมรับความเปลี่ยนแปลง, เมื่อผิดพลาดรู้จักขอโทษ, มีความยืดหยุ่น, ไม่น่ารักก็ไม่เป็นไร, จริยธรรม และมีศักยภาพสูงสุดของตัวเอง   คำถามจึงเกิดขึ้นว่า เมื่อลักษณะของ มืออาชีพเป็นเช่นนี้แล้ว องค์กรควรเป็น ผู้สร้างคน หรือคนเป็นผู้สร้างองค์กร   ถ้าเราเป็นผู้บริหารองค์กร เราก็อยากที่จะทำองค์กรน่าอยู่ น่าทำงาน เหมือนกับบ้านหลังที่ 2 เพื่อให้เขาเกิดความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน ขณะเดียวกัน ถ้าเรามองไปที่คน เราในฐานะผู้บริหารก็อยากให้คนของเรากล้าที่จะคิดงานใหม่ๆ งานใหญ่ งานที่ยาก และงานท้าทายด้วย ที่สำคัญ เขาต้องคิดให้เป็น และการคิดให้เป็นนั้น ถ้าเราในฐานะผู้บริหาร ก็จะต้องให้เครื่องมือ อาวุธ ในการทำงานด้วย รวมถึงระบบการทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน สรุปในประเด็นนี้คือ เราจะต้องทำงานอย่างผสมผสาน โดยไม่เลือกว่าองค์กรสำคัญกว่าคน หรือคนสำคัญกว่าองค์กร" ซึ่งการคิดให้เป็นนั้น มืออาชีพจะต้องมีองค์ประกอบคือ
หนึ่ง ทัศนคติ
สอง ความฉลาด
สาม ผลสืบเนื่องจากการกระทำ

 

เพราะทั้งหมดนั้นเกี่ยวข้องกับบุคลากร ซึ่งจะมีอยู่ 9 แบบด้วยกันค่ะ  คือ
1. พวกนักปฏิรูป คนสมบูรณ์แบบ ที่ไม่เพียงจะมีหลักการ มีระเบียบวินัยต่อตนเอง หากยังเคร่งครัดต่อกฎเกณฑ์ มีจุดยืนที่แน่นอนในทุกๆ เรื่อง
2.  นักบุญ ผู้ช่วยเหลือ พวกนี้ชอบดูแลเอาใจใส่ทุกข์สุขของคนรอบข้าง คิดถึงปัญหาของคนอื่นมากกว่าปัญหาของตัวเอง และชอบพยายามทำตัวเป็นที่รักของคนอื่น ด้วยการยกย่องความรักเหนือสิ่งอื่นใด
3.  ผู้ชนะ ผู้ใฝ่ความสำเร็จ พวกนี้ ปรับตัวเก่ง ทะเยอทะยาน เชื่อมั่นในความสามารถของตัวเอง มองเป้าหมายเป็นหลัก ทำงานเก่ง ใส่ใจภาพลักษณ์ บุคลิกภาพ
4. ศิลปิน คนโรแมนติก พวกนี้มีความคิดสร้างสรรค์ ยกย่องจินตนาการ มีความถนัดทางศิลปะ ใจลอย ไม่ค่อยอยู่กับปัจจุบัน และชอบค้นหาตัวเอง อยู่กับตัวเอง
5. นักปราชญ์ นักสังเกตการณ์ คนพวกนี้จะเป็นนักคิดมากกว่าปฏิบัติ เป็นนักประดิษฐ์ ช่างสังเกต และพยายามทำความเข้าใจสิ่งรอบตัว หาความรู้ใส่ตัวอยู่เสมอ ชอบงานที่ใช้ทักษะเฉพาะทาง ไม่ใช้อารมณ์ หรือความรู้สึกตัดสิน
6. นักปุจฉา เพื่อนยาก พวกนี้มีศิลปะในการทำงานเป็นทีม เป็นนักจัดการองค์กร หรือนักรณรงค์ เพื่อสวัสดิภาพที่ดีขึ้นของชุมชน สร้างมิตร สร้างความสามัคคี และชอบการพึ่งพาอาศัยกัน
7.  เจ้าสำราญ นักผจญภัย พวกนี้สนุกสนานร่าเริง ชอบสังคม เฮไหน เฮนั่น แสวงหาประสบการณ์ใหม่ให้กับชีวิตอยู่เสมอ ชอบทำอะไรหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน เก่งหลายอย่าง แต่หน่ายเร็ว
8. ผู้นำ ผู้ปกป้อง พวกนี้เด็ดขาด เชื่อมั่นในตัวเองสูง กล้าตัดสินใจ มีลักษณะของผู้นำ ท้าทายอำนาจอื่นอย่างไม่กลัวเกรง ไม่ยอมให้ใครมาเอาเปรียบ ชอบควบคุม คนอื่น ใจนักเลง ให้ความคุ้มครองดูแล สารทุกข์สุกดิบของคนในบังคับบัญชา

9. ผู้รักสงบ ผู้ประสานไมตรี พวกนี้ รักสงบ นิยมธรรมชาติ ไม่มีศัตรู ไม่ทะยานอยาก มองโลกในแง่ดี ไม่เครียด หรือวิตกกังวล ไม่เห็นด้วยก็ไม่คัดค้าน แต่จะไม่ทำ ดูเชื่องช้า ปล่อยให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปเอง ไม่วางแผน ไม่เตรียมการ ซ่อนปัญหาไว้ ใต้พรม และดื้อเงียบค่ะ

ถ้าเราในฐานะผู้บริหารองค์กร จึงต้องมีวิธีในการบริหารงาน และบริหารคนหลากหลายประเภท เหล่านี้ให้ผสมผสานกัน เราจะต้องเร่งสร้างองค์กรให้มีบุคลากรที่เหมาะสม หมายถึง

"บุคลากรจะต้องมีความรู้ความสามารถเพียงพอ และหากเขาเหล่านั้นถูกส่งไปอยู่ในส่วนงานที่สอดคล้อง กับความสามารถ เขาจะต้องทำหน้าที่ของตนเองอย่างถูกต้อง และ เหมาะสม ที่สำคัญ เราจะต้องแยกให้ได้ว่าเจ้านาย, ลูกน้อง, ลูกค้า และเพื่อนร่วมงาน เขาต้องการอะไรจากเรา" อย่างเช่น

" ถ้าเราเป็นลูกน้อง สิ่งที่เจ้านายต้องการก็จะเกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบในบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย, ความเชื่อมั่นในตนเอง, ความซื่อสัตย์สุจริต แต่ถ้าเราเป็นเจ้านาย สิ่งที่ลูกน้องต้องการคือดูแล และสอนงานบ้าง, มอบหมายงานชัดเจน และให้ข้อมูลข่าวสารที่ จำเป็นต่องาน รวมถึงยังต้องกระตุ้นให้กำลังใจและให้คำชมเชยลูกน้องบ้าง"  ทางกลับกัน หากเรามอง "เพื่อนร่วมงาน" บ้างว่าต้องการอะไรจากเรา ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องความร่วมมือ ความซื่อสัตย์ และจริงใจต่อกลุ่ม ความเคารพนับถือ เอื้อเฟื้อมีน้ำใจ ความมีสำนึกแห่งการทำงาน และการเปิดใจกว้างรับฟังข้อคิดเห็น
ดังนั้น การที่ใครคนหนึ่งจะมีความเป็นมืออาชีพ หรือมีความเป็น Work like a Pro ตามความเห็นของ  "คุณจำลักษณ์ ขุนพลแก้ว" ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ นั่นหมายความว่าผู้บริหารเหล่านั้นจะต้องเก่ง 3 อย่าง คือ
1.  เก่งบริหารงาน อันหมายถึงภูมิรู้

2.  เก่งบริหารคน อันหมายถึงภูมิธรรม
3.  เก่งบริหารตน อันหมายถึงภูมิฐาน
ซึ่งเกี่ยวข้อง และสอดคล้องกับภาวะบทบาทผู้นำ ที่ไม่เพียงจะต้องมีการบริหารจัดการที่ดี หากยังจะต้องมีทีมผู้นำที่ดี
สำคัญไปกว่านั้น ผู้ที่จะเป็นผู้บริหารมืออาชีพ ในระดับการบริหารจัดการจะต้องมือถึงด้วย ขณะที่ผู้บริหารในส่วนของเจ้าของธุรกิจ ก็จะต้องตาถึง, เงินถึง และใจถึง
ส่วนผู้ที่เป็นผู้บริหารในระดับผู้นำก็จะต้องบารมีถึง ถึงจะทำให้ความเป็นมืออาชีพครบถ้วนสมบูรณ์ เหนือสิ่งอื่นใด เมื่อผู้บริหารเผชิญกับภาวะวิกฤตที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า คงจะต้องเร่งสร้างความเป็นมืออาชีพให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ค่ะ

      

        ดิฉันขอฝากคำคมของ คุณจำลักษณ์ ขุนพลแก้ว" ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ไว้ว่า

 

...คนเราเลือกเกิด ไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นได้

และต้องเลือกให้ถูก และทำให้ถูกด้วย