Monthly Archives: January 2012

เมื่อชีวิตเรา...ไม่สามารถที่จะ undo ได้จะทำอย่างไร

เทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเฉพาะเรื่องของคอมพิวเตอร์นั้น ช่วยให้ชีวิตเราง่ายขึ้นเยอะ เวลาพิมพ์อะไร หรือทำอะไรผิดพลาด เราสามารถกดปุ่ม Undo ได้ทันที แล้วมันก็จะย้อนกลับมาในจุดเดิมก่อนที่เราจะทำผิด เพื่อให้เราทำใหม่ในสิ่งที่ถูกต้อง แต่ชีวิตของเรานั้น เราไม่สามารถที่จะ undo ได้เลย ประเด็นที่สำคัญที่เราไม่สามารถที่จะ undo ได้ในชีวิตจริงก็คือ

·                     คำพูดที่เราใช้กับคนอื่น เวลาที่เราใช้คำพูดที่ไม่ดีกับผู้อื่นที่เราคุยด้วย เมื่อเราพูดออกจากปากเราไปแล้ว เราจะไม่สามารถ undo ได้อีกเลย ดังนั้น ก่อนจะพูดอะไรจะต้องคิดให้ดีก่อนว่า สิ่งที่เรากำลังจะพูดออกไปนั้นจะมีผลลัพธ์อะไรตามมา นี่คือสาเหตุที่มนุษย์เรามีหูสองข้าง แต่มีปากเพียงหนึ่งปาก

·         อารมณ์โกรธ เวลาเราโกรธ และควบคุมอารมณ์ของตนเองไว้ไม่ได้ เราอาจจะใช้วาจาที่ไม่เหมาะสม เราอาจจะประชดประชัน ใช้วาจาเฉือดเฉือนผู้อื่นให้เขารู้สึกเจ็บแสบ แต่สุดท้ายแล้วเราก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา แต่สิ่งที่เราจะได้ก็คือ ศัตรูอีกคนหนึ่งที่เพิ่มขึ้น และเมื่อเรากระทำไปแล้ว เราก็ Undo ไม่ได้อีกเช่นกัน คนที่รับคำพูดจากเราไป ความรู้สึกของเราก็เสียไปแล้ว เราจะไปหาปุ่ม undo กดเพื่อกลับมาใหม่ไม่ได้แล้วล่ะคะ

·         ความเชื่อใจ เมื่อไหร่ที่เราสามารถสร้างความเชื่อใจให้กับผู้อื่นแล้ว เราจะต้องรักษาความเชื่อใจนี้ไว้ให้ยาวนานที่สุดคะ เพราะเมื่อไหร่ที่เราทำให้เพื่อน หรือ ใครก็ตามที่เชื่อใจเรา หมดความเชื่อใจแล้ว เราก็จะไม่สามารถ undo ได้อีกเช่นกัน

·         เวลาของชีวิต เรื่องของเวลานั้นมันจะเดินหน้าไปเรื่อยๆ ไม่มีวันหยุด หรือย้อนหลังได้เลย ดังนั้นถ้าเราใช้ชีวิตไปวันๆ โดยไม่มีจุดหมายปลายทาง เวลาในชีวิตเราก็จะน้อยลงเรื่อยๆ พอคิดได้ ปุ่ม undo ไม่มีให้เรากดนะคะ สุดท้ายก็ต้องมานั่งเสียใจ และนั่งคิดว่า รู้งี้ทำแบบนั้นซะตั้งแต่แรกก็ดี

ส่วนใหญ่การใช้ชีวิตของเรานั้น เราไม่สามารถที่จะ undo ได้ทั้งหมดก็จริง แต่เราสามารถที่จะเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เราทำไปได้ และถ้าเรามุ่งมั่นตั้งใจจริงที่จะเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตในแง่มุมต่างๆ เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีๆ ในชีวิตของเรา เราก็ต้องทำมันตั้งแต่วันนี้ เดี๋ยวนี้ วินาทีนี้ อย่ามัวแต่ผลัดวันประกันพรุ่ง หรือคิดสั้นๆ ว่าทำไปถ้าผิดเดี๋ยวทำใหม่ก็ได้เพราะชีวิตเรา undo ไม่ได้คะ

ในวันนี้ ดิฉันขอฝากคำคมไว้ว่า

ขอชีวิตงดงามตามที่ฝัน
ขอทุกวันเป็นวันอันสดใส
ขอทุกก้าวคือก้าวที่มั่นใจ
ขอวันใหม่ก้าวไกลไปกว่าเดิม

นิทาน...ลิงล้างหู

วันนี้ดิฉันมีนิทานเรื่อง ลิงล้างหู    มาเล่าให้ฟังกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในป่าใหญ่มีลิงอยู่ฝูงหนึ่ง พญาลิงที่เป็นจ่าฝูงเป็นลิงเผือก มีรูปร่างงดงามมาก วันหนึ่งนายพรานไปพบลิงงามตัวนี้เข้า ก็นึกอยากได้รางวัล จึงไปทูลพระราชาว่า มีลิงรูปร่างงดงามมากอยู่ในป่า พระราชาก็รับสั่งให้ไปจับมาถวาย พอเห็นพญาลิงเข้าท่านก็รัก เพราะงาม และฉลาด เป็นลิงโพธิสัตว์ ท่านก็อ้อนวอนให้ลิงอยู่ในวัง และให้อิสระ จะเดินเที่ยวเล่นในวังอย่างไรก็ได้        
       เมื่อได้รับอิสระ พญาลิงนั้นก็ได้ออกเที่ยวตามตำหนักต่าง ๆ แต่ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ใด ก็ได้ยินคนพูดกันแต่เรื่องตัวเอง (หรือก็คือ การยึดถือในตัวกู ของกู) ทั้งเงิน บ้าน ทรัพย์สิน อะไร ๆ ก็เป็นเรื่องของตัวเองไปทั้งหมด เมื่อพญาลิงอยู่ในสิ่งแวดล้อมดังกล่าวนานวันเข้า จิตใจก็อ่อนแอ นอนเพลีย ไม่ยอมกินข้าวกินน้ำ ผู้ดูแลเกิดความวิตก เกรงว่าพญาลิงจะไม่สบาย จึงไปทูลพระราชาให้ทรงทราบ       
       พระราชาได้ยินดังนั้นจึงเสด็จมาเยี่ยม แล้วทรงถามว่า "เป็นอะไรไปล่ะถึงไม่กินข้าวกินปลา"
       พญาลิงตอบว่า "ถ้าอยากจะให้กินข้าวกินปลา ขอได้โปรดปล่อยหม่อมฉันเข้าไปอยู่ในป่าตามเดิมเถิด เพราะไม่อยากได้อะไรทั้งนั้นแล้ว"       
       พระราชาจึงประทานอนุญาตให้คนพาพญาลิงเข้าไปส่งในป่า              พอไปถึงในป่า พวกลูกน้องลิงพากันออกมาต้อนรับด้วยความดีใจที่พญาลิงได้กลับมาอยู่ป่าตามเดิม และขอให้พญาลิงเล่าถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ได้ไปเห็นมาว่าในบ้านเมือง ตำหนักราชวังเขามีอะไรบ้าง หรือมนุษย์เขาคุยกันเรื่องอะไรบ้าง
           พญาลิงได้ยินคำถามก็เบือนหน้าหนี บอกว่า อย่าถามเลย ไม่อยากพูด แต่ก็ยิ่งทำให้พวกบริวารลิงยิ่งเซ้าซี้ สุดท้ายพญาลิงไม่รู้จะปฏิเสธอย่างไร จึงตัดใจเล่าให้ฟังว่า      
       "สิ่งที่พวกมนุษย์พูดกันนั้น ไม่เห็นมีอะไร นอกจากของกู ไอ้นั่นก็ของกู ไอ้นี่ก็ของกู"
              บริวารได้ยินดังนั้นจึงรีบร้องให้พญาลิงหยุดเล่า พร้อมปิดหูพากันวิ่งลงน้ำ เอาน้ำล้างหูที่ได้ยินคำสกปรกอย่างนั้น โดยฝูงลิงเห็นว่า พวกมนุษย์มีแต่ความเห็นแก่ตัว อะไรก็จะเอาเป็นของกู ทั้ง ๆ ที่ต้องเบียดเบียนคนอื่นกว่าจะได้มา ซึ่งหากเราพิจารณาธรรมชาติ เราจะเห็นต้นหมากรากไม้ สัตว์ป่า ไม่ว่าตัวเล็กตัวใหญ่ ต้นเล็กต้นใหญ่ ล้วนแล้วแต่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ไม่เห็นแก่ตัว แต่มนุษย์ไม่เป็นเช่นนั้น นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ฝูงลิงพากันไปล้างหูเพราะรู้สึกว่าสกปรกหูมากเหลือเกินที่ได้ยินถึงความเห็นแก่ตัวของมนุษย์       
       และเมื่อมีพญาลิงกลับมาอยู่เป็นจ่าฝูงตามเดิม ลิงทั้งฝูงก็อยู่กันอย่างสงบสุขโดยไม่สนใจสังคมมนุษย์อีกเลย

การมอบหมายงาน กับ การโยนงาน

การมอบหมายงานให้กับลูกน้องนั้น เป็นหน้าที่ที่สำคัญอย่างหนึ่งในการเป็นหัวหน้า หัวหน้างานที่ดีจะต้องมอบหมายงานให้กับลูกน้องของตนตามหน้าที่และความรับผิดชอบ รวมทั้งตามทักษะความรู้ และความสามารถของพนักงานแต่ละคน  ลักษณะการมอบหมายงานของหัวหน้างานตามที่แต่ละคนเข้าใจนั้นมีหลายแบบ ลองมาดูลักษณะการมอบหมายงานของหัวหน้าในแต่ละรูปแบบกันนะคะ

·         มอบหมายงานที่ง่ายๆ และไม่สำคัญให้ลูกน้อง หัวหน้าบางคนมักจะมอบหมายงานที่ไม่ค่อยมีความสำคัญให้กับลูกน้อง สาเหตุก็คือ ไม่ไว้วางใจในฝีมือของลูกน้องของตนเอง กลัวว่าจะทำไม่ได้ กลัวว่าจะทำงานไม่สำเร็จ และไม่ได้คุณภาพเหมือนกับที่ตนทำ ก็เลยเก็บงานที่สำคัญๆ ไว้กับตัวเอง และมอบหมายงานที่ไม่สำคัญ งานเล็กๆ น้อยๆ ให้ลูกน้องทำ ถ้าเป็นลักษณะนี้ ลูกน้องคนไหนที่มีความรู้ความสามารถมากพอจะรู้สึกว่าหัวหน้าไม่เชื่อมั่นใจฝีมือที่ตนเองมี และจะทำให้พนักงานขาดแรงจูงใจในการทำงาน และจากนั้นก็จะลาออกไปอยู่กับหัวหน้าคนใหม่ที่ไว้วางใจตนเองมากกว่า

·         มอบหมายงานทั้งหมดให้ในคราวเดียว หัวหน้างานบางคนมอบหมายงานให้ลูกน้องทั้งหมดที่ตนรับผิดชอบ หรือบางครั้งก็มอบหมายงานที่ตัวหัวหน้าไม่ค่อยชอบให้กับลูกน้อง หลังจากที่สั่งงานแล้วก็หายไปเลย ไม่เคยที่จะมาพูดคุย ติดตาม เอาใจใส่ใดๆ ทำให้ลูกน้องรู้สึกว่าเคว้งคว้าง ไม่มีที่พึ่ง เวลางานมีปัญหาก็ไม่รู้จะไปปรึกษาใคร พอเข้าไปจะปรึกษาหัวหน้า ก็อ้างว่าไม่มีเวลา หรือไม่ก็ บอกว่า ปัญหาแค่นี้คิดไม่ออกก็ไม่ต้องทำอะไรกินแล้ว แทนที่จะให้กำลังใจ หรือช่วยแก้ไขปัญหาก็ไม่เคย แบบนี้เขาเรียกกว่าโยนงานมากกว่ามอบหมายงาน

·         มอบหมายงานที่แท้จริง หัวหน้างานที่มอบหมายงานให้ลูกน้องอย่างถูกต้องนั้น จะบอกถึงเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของงานที่มอบหมาย รวมทั้งรายละเอียดทั้งหมด เพื่อให้ลูกน้องมองเห็นเป้าหมายและความสำเร็จที่คาดหวังในภาพเดียวกัน จากนั้นก็จะปล่อยให้พนักงานทำงานโดยมอบอำนาจในการทำงานไว้ให้สำหรับการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เมื่อไหร่ที่งานมีปัญหาก็จะคอยให้คำปรึกษาแนะนำ รวมทั้งติดตามความคืบหน้าของงานเป็นระยะๆ โดยไม่ใช่การจับผิดพนักงาน ถ้าพนักงานทำงานได้สำเร็จก็จะชื่นชม และไม่คิดจะแอบอ้างความสำเร็จว่าเป็นของตนเองเลย

หัวหน้างานที่ดีนั้นจะต้องรู้วิธีที่จะมอบหมายงานอย่างถูกวิธี เพื่อให้พนักงานมองเห็นภาพเป้าหมายที่ชัดเจน และพร้อมที่จะช่วยพนักงานเวลาที่งานมีปัญหาเกิดขึ้น รวมทั้งส่งเสริมให้พนักงานทำงานให้ประสบความสำเร็จไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ การพัฒนาทักษะความรู้ การให้กำลังใจ ฯลฯ    พนักงานส่วนหนึ่งที่มองหัวหน้าตนเองว่า โยนงาน มากกว่ามอบหมายงาน ก็เพราะว่า พอให้งานแล้วก็หายตัวไปเลย ไม่เคยที่จะติดตาม หรือให้คำปรึกษาใดๆ แก่พนักงาน พนักงานเองก็คงรู้สึกว่าหัวหน้าเองพึ่งไม่เคยได้ งานง่ายๆ ก็เก็บไว้ทำคนเดียว โยนงานยากๆ มาให้ลูกน้องทำตลอด พอทำไม่ได้ ก็ด่า  แบบนี้เขาเรียกว่าโยนงานคะ ไม่ใช่มอบหมายงาน

การบริหารเวลา เป็นเรื่องที่คุยกันได้อย่างไม่รู้จบ

การบริหารเวลา เป็นเรื่องที่คุยกันได้อย่างไม่รู้จบ บางคนก็บอกว่าเราบริหารเวลาได้ บางคนก็บอกว่าเวลาบริหารไม่ได้ เพราะมันเดินไปของมันเรื่อยๆ อย่างไม่มีวันหยุด แต่สิ่งที่เราต้องบริหารก็คือ บริหารการใช้เวลาของเราเองมากกว่า ซึ่งดิฉันเองก็เชื่อในแนวคิดนี้เช่นกัน ก็คือ การบริหารเวลาก็คือ การบริหารการใช้เวลาในชีวิตเราเอง  โจ เรสเตอร์ ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับความสำเร็จ ได้กล่าวไว้ว่า “Whoever know  how to manage their time   will be successful in their life.” แปลเป็นไทยได้ว่า ใครก็ตามที่รู้วิธีการบริหารการใช้เวลาของตนเอง จะเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต  ถ้าเราลองมานั่งพิจารณาประโยคข้างต้นอย่างจริงๆ จังๆ แล้วจะพบว่ามันมีความหมายที่ลึกซึ้งมาก การที่คนเราจะประสบความสำเร็จในชีวิตมากน้อยแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับการที่เรารู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ใช้เวลาในกิจกรรมต่างๆ ที่สอดคล้องกับเป้าหมายในชีวิตของเราเอง  นักศึกษา ตั้งเป้าหมายในใจไว้ว่า จะต้องเรียนให้ได้เกียรตินิยม หรือให้ได้เกรดเฉลี่ยมากกว่า 3.50 แล้วถ้านักเรียนคนนั้นรู้วิธีในการจัดสรรเวลาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยใช้เวลาไปกับการเข้าชั้นเรียน ทบทวน อ่านหนังสือ พักผ่อนอย่างถูกต้อง ก็น่าจะทำให้นักเรียนคนนั้นมีผลการเรียนที่ดีได้ ตรงข้ามกับนักเรียนที่อยากได้เกรดดีๆ แต่ไม่เข้าเรียน โดดเรียนไปเที่ยวกับเพื่อน ไม่อ่านหนังสือ ไม่ทบทวนอะไรเลย วันๆ ได้แต่เรื่อยเปื่อยไปวันๆ การบริหารการใช้เวลาแบบนี้ ทำให้ตายก็ไม่ได้ในสิ่งที่ตนเองตั้งเป้าไว้อย่างแน่นอน  ในชีวิตของเราก็เช่นกันคะ ถ้าเรามีการตั้งเป้าหมายในชีวิตไว้ แต่เรากลับไม่มีการบริหารการใช้เวลาเพื่อให้ไปสู่เป้าหมาย ก็ไม่มีประโยชน์คะ ใครที่อยากลดความอ้วน แต่กลับใช้เวลาไปกับการกิน นอน นั่ง ไม่ออกกำลังกายเลย แบบนี้ก็ไม่มีทางจะลดได้  ใครอยากทำงานได้ผลงานที่ดี และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่กลับใช้เวลาในแต่ละวันไปกับการเล่น facebook chat กับเพื่อนตลอดเวลา ทั้งในและนอกเวลางาน ไม่เคยมีการเพิ่มเติมความรู้ใส่ตัวเลย การใช้เวลาแบบนี้ก็คงยากที่จะทำให้ชีวิตการทำงานของเราประสบความสำเร็จดั่งที่เราตั้งใจ  ลองนั่งทบทวนการใช้เวลาในชีวิตของเราในปีที่กำลังจะผ่านไปนี้ก็ได้คะ ว่าเราใช้เวลาไปกับสิ่งที่เราตั้งเป้าหมายไว้สักแค่ไหน เต็ม 10 จะให้คะแนนตัวเองสักเท่าไร  คนที่ประสบความสำเร็จเร็วกว่า หรือมากกว่าคนอื่น ก็คือ คนที่สามารถบริหารเวลาของตนเองให้ไปในทิศทางที่สอดคล้องกับเป้าหมายที่เราตั้งไว้นั้นเองคะ นี่ก็เพิ่งผ่านการเฉลิมฉลองปีใหม่ที่ผ่านมา  ก็อยากให้ทุกท่านลองตั้งเป้าหมายกันสักหน่อยว่า ในปีนี้เราอยากจะประสบความสำเร็จในเรื่องอะไร จากนั้นก็ออกแบบการใช้เวลาในแต่ละวันให้สอดคล้องไปกับเป้าหมายที่เรากำหนดไว้ สุดท้ายที่สำคัญก็คือ การเริ่มลงมือทำ และการมีวินัยในตนเองให้ได้ค่ะ

ก่อนจากกันในวันนี้ ดิฉันขอฝากคำคมไว้ว่า

พอใจเท่าที่มี...ยินดีเท่าที่ได้

นิทาน ...กว่าจะมาเป็นวันขึ้นปีใหม่

ในช่วงเทศกาลขึ้นปีใหม่ 2555 นี้  ดิฉันมีเรื่อง  กว่าจะมาเป็นวันขึ้นปีใหม่    มาเล่าให้ฟัง  เวลาผ่านไปเร็วจริง ๆ เผลอเดี๋ยวเดียว ปี พ.ศ. 2554 ก็สิ้นสุดลง เริ่มต้นศักราชใหม่ ปี พ.ศ. 2555 กันแล้ว เรื่องราวความเป็นมาของวันขึ้นปีใหม่นั้นนับว่ามีประวัติยืดยาว กว่าจะมาเป็นวันขึ้นปีใหม่อย่างที่เรารู้จักในปัจจุบัน ต้องผ่านการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยและความเหมาะสมมาไม่น้อย   เริ่มต้นจากยุคแรก ๆ ที่ชาวบาบิโลเนีย คิดค้นใช้ปฏิทินโดยอาศัยระยะต่าง ๆ ของดวงจันทร์เป็นหลักในการนับ เมื่อครบ 12 เดือน ก็กำหนดว่าเป็น 1 ปี แต่การนับปีตามปฏิทินกับปีตามฤดูกาลจะมีระยะเวลาต่างกันอยู่ จึงเพิ่มเดือนเข้าไปอีก 1 เดือน รวมเป็น 13 เดือนในทุก 4 ปี
ต่อมาชาวอียิปต์ กรีก และชาวเซมิติค ได้นำปฏิทินของชาวบาบิโลเนีย มาดัดแปลงแก้ไขอีกหลายครั้งเพื่อให้ตรงกับฤดูกาลมากยิ่งขึ้น จนถึงสมัยกษัตริย์จูเลียส ซีซาร์ ปรากฏว่าการนับวันเดือนปีทางจันทรคติได้คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงถึง 3 เดือน แทนที่จะเป็นฤดูหนาวกลับยังเป็นฤดูใบไม้ร่วง พระองค์จึงนำความคิดของนักดาราศาสตร์ชาวอียิปต์ที่ชื่อโยซิเยนิส มาปรับปรุงซึ่งเป็นการยกเลิกการนับตามจันทรคติและให้ใช้การนับทางสุริยคติแทนโดยการคำนวณขยายปีออกไป ให้เดือนและฤดูกาลตรงกับความเป็นจริง ให้ปีหนึ่งมี 365 กับ ¼ วัน แต่เพื่อความสะดวกจึงให้ปีปกติมี 365 วัน และทุก ๆ 4 ปี ให้เพิ่มวันอีก 1 วัน เรียกกันว่าปีอธิกสุรทิน คือปีที่มี 366 วัน ซึ่งเป็นการนับปฏิทินตามระบบซีซาร์ ประกาศใช้เมื่อ 1 มกราคม พ.ศ. 497 (46 ปีก่อนคริสตศักราช) คือกำหนดให้เดือนต่าง ๆ มี 31 และ 30 วันสลับกันไป เว้นแต่เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน แต่ถ้าเป็นปีอธิกสุรทิน จึงเพิ่มเป็น 30 วัน แต่พอถึงสมัยจักรพรรดิ ออกุสตุสก็ได้ปรับปรุงปฏิทินเป็นแบบยูเลียน กำหนดให้เดือนหนึ่งมี 30 วัน และมีวันเพิ่ม 5 วันเรียกอธิกวาร ลดเดือนกุมภาพันธ์เหลือ 28 วัน ปีไหนเป็นปีอธิกสุรทินจึงมี 29 วัน และเพิ่มวันในเดือนสิงหาคมจาก 30 วันเป็น 31 วัน แต่ก็ยังมีข้อบกพร่องทำให้วันเวลาผิดไปจากความจริงคือทุก 128 ปีจะมีวันเกินความเป็นจริงไป 1 วัน ถ้าทิ้งไว้ก็จะคลาดเคลื่อนมากขึ้นทุกที เพราะวันในปฏิทินจะยังไม่ตรงกับฤดูกาลจริง คือเวลาในปฏิทินจะยาวกว่า ทำให้ฤดูกาลมาถึงก่อนวันในปฏิทิน  และในวันที่ 21 มีนาคม ตามปีปฏิทินของทุกปี จะเป็นวันที่เวลากลางวันและกลางคืนเท่ากัน คือเป็นวันที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงทิศตะวันออกและตกตรงทิศตะวันตกพอดี ในวันนี้นี่เองทั่วโลกจึงมีเวลา 12 ชั่วโมงเท่ากัน เรียกกันว่า เป็นวันทิวาราตรี เสมอภาคมีนาคม (Equinox in March) แต่พอเอาเข้าจริง ในปี พ.ศ. 2125 วันที่ว่านี้ กลับไปเกิดในวันที่ 11 มีนาคม แทนที่จะเป็นวันที่ 21 มีนาคม พระสันตะปะปาเกรกอรี่ที่ 13 แห่งโรม จึงได้ประกาศเลิกใช้ปฏิทินแบบยูเลียน ได้ปรับปรุงหักวันออกจากปีปฏิทิน 10 วัน โดยกำหนดให้หลังวันที่ 4 ตุลาคม เป็นวันที่ 15 ตุลาคมแทนเฉพาะในปี พ.ศ2125 เท่านั้น และกำหนดเพิ่มว่าหากปีไหนตรงกับปีศตวรรษ ห้ามให้เป็นปีอธิกสุรทิน ยกเว้นปีนั้นจะหารด้วย 400 ลงตัว เช่น ปี ค.ศ. 1600, 2000, 2400 ฯลฯ จึงจะเป็นปีอธิกสุรทินได้
แต่ถึงกำหนดไว้เช่นนั้น วันเวลาก็ยังจะมีการคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง แต่ก็ต้องใช้เวลากว่าสามพันปีจึงจะผิดไป 1 วัน การคำนวณปฏิทินแบบใหม่นี้เรียกว่าปฏิทินเกรกอเรียน ซึ่งนิยมใช้มาจนถึงทุกวันนี้ และได้ประกาศใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันเริ่มต้นของปีตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

เกี่ยวกับวันขึ้นปีใหม่ของไทยเราเอง ก็มีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้งเหมือน กัน ซึ่งพอจะสรุปได้เป็น 4 ระยะด้วยกัน
เริ่มต้นที่จารีตประเพณีของไทยแต่โบราณ ได้ถือเอาวันแรม 1 ค่ำเดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับคติแห่งพุทธศาสนาและเหมือนหลาย ๆ ชาติที่ถือเอาฤดูหนาวเป็นการเริ่มต้นของปี เพราะคนสมัยก่อนเห็นว่า ฤดูหนาวเป็นช่วงที่ผ่านพ้นฤดูฝนอันมืดครึ้ม สว่างเหมือนเวลาเช้า ส่วนฤดูร้อนเป็นช่วงที่สว่างเหมือนเวลากลางวัน และฤดูฝนเป็นเวลามืดหม่นคล้ายเวลากลางคืน เขาจึงนับฤดูหนาวซึ่งมักตรงกับเดือนอ้ายของไทยที่สว่างเหมือนเวลาเช้าเป็นการเริ่มต้นแห่งปี นับช่วงฤดูร้อนเป็นกลางปี และช่วงฤดูฝนเป็นปลายปี
ต่อมาในระยะที่สอง ไทยเราได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 คือราว ๆ ช่วงสงกรานต์ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนไปถือตามคติพราหมณ์ที่นับวันทางจันทรคติ โดยใช้ปีนักษัตร (ชวด ฉลู ขาล เถาะ ฯลฯ) และการเปลี่ยนจุลศักราชเป็นเกณฑ์
วันขึ้นปีใหม่ แม้จะเป็นเพียงสิ่งที่คนเราสมมุติขึ้นมาก็ตาม แต่ก็มีความหมายและเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์และเป็นสิ่งที่ดี เหมือนมีหลักให้เราได้มีเวลาพักตั้งตัวและเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่อีกครั้งในแต่ละช่วงของชีวิต เราน่าจะใช้วันขึ้นปีใหม่เป็นโอกาสในการพิจารณาและทบทวนตนเองว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านไป 1 ปี เราได้ใช้เวลาเหล่านั้นอย่างคุ้มค่าหรือไม่ เราได้กระทำคุณงามความดีหรือทำสิ่งไม่ถูกต้องไว้อย่างไรบ้าง แล้วหาโอกาสกระทำความดี ปรับปรุงแก้ไข และวางแผนดำเนินชีวิตตนเองให้ก้าวหน้าต่อไป
วันขึ้นปีใหม่เป็นช่วงที่ดีแห่งการเริ่มต้นและการรับสิ่งใหม่อันเป็นมงคลแก่ชีวิตเข้ามา เราจึงควรใช้ฤกษ์ที่ดีงามนี้ตั้งจิตอธิษฐานให้รู้จักรักตัวเองให้มากขึ้น ด้วยการดูแลรักษาตัวเราให้ดีพร้อมทั้งกาย วาจา และใจ ตลอดจนเผื่อแผ่ความรักนี้ไปยังเพื่อนร่วมโลก เพื่อให้โลกของเราเป็นโลกที่น่าอยู่ตลอดไปคะ

พอมาถึงระยะที่สาม เนื่องจากวันสงกรานต์ตามวันทางจันทรคติ เมื่อเทียบกับวันทางสุริยคติ มีความคลาดเคลื่อนกันไปในแต่ละปี ดังนั้น ในวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 ปี พ.ศ. 2432 ซึ่งตรงกับวันที่ 1 เมษายน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงทรงเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่มาเป็นวันที่ 1 เมษายน นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมาเพื่อให้วันปีใหม่ตรงกันทุกปี ซึ่งนับเป็นการใช้ปฏิทินแบบใหม่ตามสุริยคติอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก ในยุคนั้นจึงถือเอาเดือนเมษายนเป็นเดือนแรกของปี แต่ถึงแม้เราจะใช้ปฏิทินทางสุริยคติแล้วก็ตาม เราก็ยังใช้การนับทางจันทรคติควบคู่กันไปด้วย
ส่วนในระยะที่สี่ คือ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2483 รัฐบาลสมัย จอมพล ป. พิบูลสงครามได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ไทยให้เป็นไปตามแบบสากลนิยม คือวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี โดยให้เหตุผลว่า วันดังกล่าวกำหนดขึ้นโดยการคำนวณด้วยวิทยาการทางด้านดาราศาสตร์ และเป็นที่นิยมใช้มากว่าสองพันปี อีกทั้งไม่มีความเกี่ยวข้องกับลัทธิ ศาสนา หรือการเมืองของชนชาติใด กลับสอดคล้องกับจารีตประเพณีไทยแต่โบราณที่ใช้ฤดูหนาวเป็นต้นปี จึงทำให้เรามีวันขึ้นปีใหม่ตรงกับนานาประเทศเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2484 เป็นต้นมา
ฟังธรรม ถือศีลปฏิบัติธรรม บ้างก็ทำบุญตักบาตร

ชีวิตคนเรา...อยู่ด้วยความหวัง

ดิฉันเชื่อว่าทุกคนต้องเคยผิดหวังมาก่อน ไม่ว่าจะเรื่องชีวิตส่วนตัว เรื่องเรียน เรื่องความรัก หรือเรื่องงาน ฯลฯ เคยถามตัวเองหรือไม่คะว่า ทำไมเราถึงผิดหวัง คำตอบก็คือ เรามีความหวัง แล้วเราไม่ได้ดั่งที่เราหวังไว้ ก็เลยรู้สึกผิดหวัง เมื่อไหร่ที่ท่านรู้สึกผิดหวังในชีวิตแล้ว ท่านยังมีหวังต่อไปหรือไม่คะ  ชีวิตคนเรานั้นอยู่ด้วยความหวังนะคะ ถ้าคนเราไม่มีความหวัง ดิฉันคิดว่าเราคงใช้ชีวิตแบบซังกะตาย เพราะไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร การที่คนเรามีชีวิตอยู่นั้น แปลว่า แต่ละคนจะต้องมีความหวังอะไรสักอย่างในชีวิตของเรา ซึ่งแต่ละคนก็มีแตกต่างกันออกไป  แต่ถ้าเมื่อไหร่เราผิดหวังขึ้นมา พฤติกรรมของคนเราต่อการผิดหวังก็แตกต่างกันออกไปอีก บางคนเสียใจร้องไห้ฟูมฟาย ตีโพยตีพายไปต่างๆ นานา บางคนผิดหวังแล้วก็โทษชาวบ้านไปทั่วว่าคนอื่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เราผิดหวัง บางคนผิดหวังแล้วก็เลิกหวังทุกอย่างในชีวิต จากนั้นก็ใช้ชีวิตไปตามยถากรรม   โดยปกติชีวิตคนเราต้องประสบกับทั้งสองด้าน ก็คือ ทั้งสมหวัง และผิดหวัง เพราะนี่คือชีวิตคะ คงไม่มีใครที่สมหวังไปทุกเรื่อง และก็ไม่มีใครที่ผิดหวังไปทุกเรื่องเช่นกัน นี่แหละคะ ที่เขาเรียกกว่ารสชาติของชีวิต  การที่เราผิดหวัง เราควรจะลุกขึ้นมาใหม่ เราไม่สูญเสียความหวังอื่นๆ ในชีวิต ไม่ใช่แค่ผิดหวังเรื่องเดียว แต่ไปทำให้ความหวังเรื่องอื่นๆ จบไปด้วย ตัวอย่างความผิดหวังที่รุนแรงมากก็คือ ผิดหวังในเรื่องของความรัก เพราะบางคนจะนำเอาความผิดหวังในเรื่องนี้ไปต่อยอดทำให้ความหวังในเรื่องอื่นต้องปิดกันไปหมดเลยก็มี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความหวังที่จะมีชีวิตอยู่ ความหวังในเรื่องการเรียน หรือแม้แต่เรื่องของการทำงาน  คนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้นั้น จะต้องเปิดโอกาสให้กับความหวังใหม่ๆ เสมอ และมักจะคิดเสมอว่า ชีวิตของเรานั้นไม่มีทางที่จะหมดหวัง ของเพียงแค่เรามีความหวัง และจากนั้นก็พยายามสร้างชีวิตของเราให้ไปสู่เป้าหมายที่เราหวังไว้  ความผิดหวังเป็นเพียงเครื่องมือที่บอกให้เรารู้ว่า เรายังทำไม่เต็มที่ ตรรกะของมันก็คือ ถ้ายังทำไม่เต็มที่ ก็ขอให้ครั้งหน้าทำให้เต็มที่กว่านี้ แล้วเราก็จะสมหวัง ไม่ใช่คิดแค่ว่า เมื่อผิดหวังแล้ว ก็จะไม่ทำอะไรอีกเลย ถ้าคิดแบบนี้ชีวิตเราจะเข้าสู่ทางตันสักวันหนึ่งคะ   ดังนั้นในปีที่ผ่านมาถ้าท่านใดที่รู้สึกว่าผิดหวังกับชีวิตมากกว่าสมหวัง ก็ขอให้มองโลกในแง่บวก และสร้างความหวังอันใหม่ขึ้นมา อย่าเพิ่งท้อนะคะ จากนั้นถ้าเรารู้ว่าที่เราผิดหวังในปีนี้นั้น เป็นเพราะเรายังทำไม่เต็มที่ ก็ขอให้เราเต็มที่กับมันอีกสักครั้ง ทำให้สุดๆ ไปเลยคะ ถ้าคราวนี้ยังไม่ได้ดั่งที่เราหวังอีก อย่างน้อยก็เป็นการพิสูจน์แล้วว่าเราได้ลงมือเต็มที่แล้ว ดีกว่าทำไม่เต็มแล้วมานั่งเสียดายทีหลังว่ารู้งี้ทำให้เต็มที่ดีกว่า  ดิฉันเชื่อว่า การที่คนเราทำอะไรแบบเต็มที่จริงๆ แล้ว ความผิดหวังไม่ค่อยเกิดขึ้นกับคนๆ นั้นหรอกคะ ถ้าไม่เชื่อก็ต้องลองดูกันสักตั้งหนึ่งคะ