อยากขอเจ้านายขึ้นเงินเดือน ต้องทำอย่างไรดี

คนไทยเราเป็นชนชาติขี้เกรงใจ โดยเฉพาะเรื่องเงินๆ ทองๆ ยิ่งเกรงใจคูณสอง อย่างเรื่องขอเจ้านายขึ้นเงินเดือนนี่ปะไร ทำงานมาตั้งนานนม ผลงานโตขึ้นเป็นกอง แต่ก็ยังกล้าๆ กลัวๆ..
ว่าแต่ของแบบนี้ใครไม่เห็น เจ้านายไม่เห็น และตัวคุณนั่นแหละที่เห็น ในเมื่อตนเป็นที่พึ่งของตนฉันใด คุณเองเท่านั้นที่จะต้องรวบรวมความกล้า เดินหน้าเข้าไปหาเจ้านายเพื่อขอขึ้นเงินเดือนด้วยตัวคุณเอง..ฉันนั้น
1. อย่าบอกเจ้านายว่า คุณหวังว่าเจ้านายจะขึ้นเงินเดือนให้เป็นเงินเท่านั้นเท่านี้
ตรงกันข้าม ให้บอกเจ้านายว่า จะปฏิเสธคุณเลยก็ไม่ว่า เพราะคุณเป็นคนที่รับได้กับการถูกปฏิเสธ และคุณก็ไม่อยากให้เจ้านายคิดมากถ้าต้องปฏิเสธ การเกริ่นแบบนี้แต่แรกจะทำให้ภาพทุกอย่างชัดเจนทั้งตัวคุณและเจ้านาย ไม่ต้องกลัวว่าวันหลังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเก็บไปคิดเล็กคิดน้อย
2.อย่าเจ้าอารมณ์จนเกินไป ก่อนไปปะหน้าเจ้านาย ให้ทำใจให้ว่าง ทำสมองให้โล่งโปร่ง และอย่ากดดันตัวเองว่าผลการเจรจาครั้งนี้จะต้องสำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น คุณเองนั่นแหละที่จะเกร็งจนพูดไม่ออก
3.อย่าเจรจาในที่ที่บรรยากาศไม่เอื้อ ลองทำการบ้านมาก่อนเรื่องเวลา สถานที่ บรรยากาศ และปัจจัยอื่นๆ ที่จะเอื้อให้การพูดครั้งนี้ประสบความสำเร็จด้วยดี ศึกษาดูว่าช่วงที่เวลาไหนที่เจ้านายแฮปปี้ที่สุดและยากที่จะปฏิเสธ อะไรเป็นอุปสรรคขวางคุณอยู่ตรงหน้า ลองศึกษาเรื่องผลประกอบการบริษัทในปีที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร ช่วงนี้มีใครถูกไล่ออกไหม พยายามมองหลายมุมเพื่อให้เจ้านายเออออด้วยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องตั้งอยู่บนความสมเหตุสมผลเป็นสำคัญ
4.อย่าเลียจนเกินงาม ให้เจ้านายรู้สึกได้ว่าคุณก็ยังเป็นคุณคนเดิม การทำอะไรที่มันผิดแผก เช่น การเอาใจเจ้านายด้วยการแต่งกายยั่วยวน (กรณีเจ้านายเป็นผู้ชาย) การซื้อของราคาแพงๆ มาประเคน หรือการทำบางสิ่งบางอย่างที่เสแสร้งแกล้งทำ ทั้งๆ ที่ตัวจริงของคุณเป็นอีกอย่าง จะทำให้เจ้านายรู้สึกว่าคุณเปลี่ยนไป เผลอๆ เขาอาจจะคิดไปได้ว่าคุณเป็นประเภททำได้ทุกอย่างเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการ
5.อย่าพรีเซนต์แบบเว่อร์ พยายามพูดแบบเนื้อๆ เน้นๆ และตรงประเด็นที่สุด ที่พลาดไม่ได้คือการถามความเห็นของเจ้านาย เพื่อจะได้รู้ว่าตอนนี้สถานการณ์ของบริษัท และมุมมองของเจ้านายที่มีต่อตัวคุณและผลงานเป็นอย่างไร
6. อย่าต้อนเจ้านายด้วยคำถามที่ต้องตอบว่า “โอเค” กับ “โนเค” พยายามถามด้วยคำถามที่ให้โอกาสเจ้านายได้โต้ตอบเป็นฉากๆ เช่น คำถามที่เริ่มต้นประโยคด้วย "ใคร" "อย่างไร" "ที่ไหน" "ทำไม" "เมื่อไหร่" เมื่อเจ้านายพูดแนะนำหรือให้เหตุผลใดๆ ออกมา รับรองว่าคุณจะได้ข้อมูลใหม่ๆ มาใส่ “แรม” ของตัวเองได้อีกเพียบ ถ้าการขออัพเงินครั้งนี้ไม่ประสบผลสำเร็จ แต่หลังจากนี้คุณสามารถเก็บไปวิเคราะห์และพัฒนาตัวเองให้เข้าตาเจ้านายต่อไปได้ในอนาคต
7.อย่าเพิ่งนึกถึงตอนจบ เป็นไปได้อย่านึกถึงเป็นดีที่สุด อย่าหวังหรือวางแผนเป็นขั้นๆ หรือเป็นสูตรตายตัวว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ให้ลองโฟกัสไปในจุดที่คุณสามารถควบคุมได้ตอนเจรจา เช่น การเตรียมข้อมูลสำคัญ การควบคุมอารมณ์ไม่ให้ตื่นเต้นเกินไป หรือหากเจ้านายถามเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ต้องตอบให้ได้จะดีกว่าเยอะ
8.อย่าเชื่อมั่นตัวเองสุดโต่งว่า คุณจะต้องได้เงินเดือนขึ้น
ให้คิดว่าการที่คุณมาเจรจาและแลกเปลี่ยนความเห็นกับเจ้านายก็เพื่อเป้าหมายของการบรรลุผลตามปรัชญาหรือตามเป้าหมายของบริษัท เงินเดือนมีผลต่องานที่คุณจะทำออกมา และเจรจาก็เพื่อให้องค์กรได้ผลผลิตของงานที่ดีขึ้น แต่อย่าลืมว่าทุกประเด็นที่คุณยกมาเป็นตัวอย่างในการขอขึ้นเงินเดือน ทำให้งานงอกเงยขึ้นและมีส่วนช่วยผลักดันให้บริษัทโตขึ้นจริงๆ
9. อย่าคิดว่าเงินเดือนหรือตำแหน่งงานตอนนี้ของคุณคือปัญหา
จงพรีเซนต์ตัวเองว่าเป็นผู้ไขทางออก อย่ากลัวที่จะเอาผลงานที่เคยทำสำเร็จมาโชว์ให้เห็นเป็นรูปธรรม จงทำให้เห็นว่างานที่ว่านั้นได้ช่วยบริษัทในแง่มุมไหนบ้าง ยิ่งถ้าคุณเตรียมการบ้านมาดีและลิสต์แง่มุมต่างๆ รอบด้านแล้ว การเจรจาต้าอวยจะไม่มีอะไรทำให้หงุดหงิดหัวใจ
10. อย่าแสดงท่าทีข่มขู่ คุกคาม หรือบีบคอเจ้านายให้ตอบตกลง
ให้สงบเสงี่ยมเจียมตัว วางระยะห่างของคุณกับเจ้านายให้ดี (ให้เกียรติและเคารพในฐานะที่เขาเป็นหัวหน้างาน) พูดจาฉะฉานและมีเหตุมีผล ถ้าต้องถกกันก็ควรถกแบบเคลียร์ๆ แตกประเด็นออกไป ให้ชัดเจนแบบคนมีวุฒิภาวะ ไม่ต้องกลัวว่าผลการเจรจาจะออกมาอย่างไร ถ้าลองได้ทำการบ้านมาดี คุมอารมณ์อยู่ มั่นใจตัวเอง ผลลัพธ์ที่ออกมาแม้ไม่เต็มร้อย แต่เชื่อว่าน่าจะเกิน 75 หรือ 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเปอร์เซ็นต์ที่หายไปอาจเกิดจากปัจจัยภายนอกที่อยู่เหนือจากการควบคุมของตัวคุณหรือแม้เจ้านายเอง

Comments are closed.