คนที่เดินอยู่หน้าเรา 3 คนนั้น มี 1 คนที่ให้เราผูกมิตรและเรียนรู้จากเขา

วันนี้ดิฉันมีบทความเรื่อง คู่หูหรือคู่แข่ง ของคุณแจ๊ด มินทร์ อิงค์เธศ มาเล่าให้ฟังค่ะ ซึ่งท่านได้กล่าวไว้ว่า องค์ประกอบแห่งความสำเร็จขององค์กร ส่วนใหญ่มักจะเทคะแนนให้ ผู้นำเป็นสำคัญ อาจเป็นเพราะที่ผ่านมาองค์กรทุกแห่งล้วนต้องอาศัยกลยุทธ์ และวิสัยทัศน์ของผู้นำเป็นหลักนำองค์กรฝ่าฟันมรสุมทางเศรษฐกิจ แนวคิดเช่นนี้อาจใช้ได้เป็นส่วนใหญ่ แต่ความเป็นจริงหลายๆ องค์กรกลับเกิดปัญหา เพราะกำลังสำคัญของเขาไม่ได้มีแค่ผู้นำ หรือผู้บริหาร แต่กลับกลายเป็นพนักงานฝ่ายระดับปฏิบัติการ ไปจนถึงระดับล่างอีกหลายร้อยหลายพันคน การให้ความสำคัญกับบุคลากรเหล่านี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นและเราจะใช้มุมมองบริหารแบบเดิมๆ จัดการไม่ได้ ลองย้อนนึกไปถึงตัวเราเองก่อน ที่จะขึ้นมาเป็นผู้บริหารก็น่าจะพอเห็นภาพ นั่นคือการแบ่งเพื่อนร่วมงานออกเป็นกลุ่มที่คิดตรงกับเรา มีนิสัยตรงกับเรา ซึ่งในที่สุดก็จะกลายเป็นเพื่อนสนิทที่ทำงานร่วมกันอย่างสบายใจและมีความสุข กลับกันถ้าเจอเพื่อนร่วมงานที่รู้สึกว่าไม่ค่อยถูกใจ ถ้าระดับเบาก็จะรู้สึกว่าเขาจะแข่งกับเรา กลายเป็นคู่แข่ง หรือถ้าระดับหนัก อาจกลายเป็นศัตรูกัน ไม่อยากทำงานร่วมกัน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อองค์กร เพราะทำให้การประสานงานไม่ราบรื่น ทุกครั้งที่ปรับเปลี่ยนองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาประจำปี หรือปรับโครงสร้างใหม่ พนักงานส่วนใหญ่อาจให้ความสำคัญกับผู้บริหาร ทั้งๆ ที่จำนวนผู้บริหารอาจมีแค่ไม่กี่คนเท่านั้น ขณะที่พนักงานระดับเดียวกันหรือระดับหัวหน้างานที่ทำงานกับเรา โดยตรงอาจมีมากมายหลายสิบไปจนถึงหลายร้อยคน  นั่นก็คือ เรามีเพื่อนร่วมงานมากมาย แต่เรากลับหลงลืมไปว่าพวกเขาสำคัญต่อเรา และมีอิทธิพลต่อเราสูงมาก หากวิเคราะห์ให้ดี เพื่อนร่วมงานที่อยู่รอบข้างเราและมีผลต่อเราไม่น้อยไปกว่าเจ้านาย ถ้าโชคดีได้เจอเพื่อนร่วมงานที่ดี เขาจะมีอิทธิพลต่อเราทั้งระยะยาว ระยะกลาง และระยะสั้น เพื่อนร่วมงานจะต้องทำงานร่วมกันไปทุกวัน หากเขาเป็นปัจจัยที่ทำให้เราทำงานอย่างสบายใจ ก็ย่อมเป็นตัวการสำคัญที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จได้ เพื่อนร่วมงานที่ดี จึงทำให้เราเป็นคนมีคุณค่าต่อองค์กร และทำให้เราก้าวหน้าได้ แม้แต่ภาษิตจีนโบราณก็สอนเราเอาไว้ว่า คนที่เดินอยู่หน้าเรา 3 คนนั้น มี 1 คนที่ให้เราผูกมิตรและเรียนรู้จากเขาได้ ซึ่งเรื่องนี้หากทุกคนเข้าใจ เราก็ย่อมมีโอกาสเจอคนที่เก่งกว่าเราเป็นเพื่อนร่วมงานเรา และเราก็มีโอกาสที่จะเรียนรู้จากเขาได้ ทางกลับกัน ถ้าเจอเพื่อนร่วมงานที่ความสามารถด้อยกว่า เราก็ต้องทำงานหนักขึ้น แต่ก็ถือเป็นโอกาสดีที่เราจะสามารถฝึกความเป็นผู้นำให้ตัวเอง ด้วยการสอนให้เรารู้จักวิธีสอนคน กระตุ้นคน เรียนรู้เทคนิคการบริหาร การถ่ายทอด และฝึกฝนคนที่ไม่เก่งให้เก่งขึ้นมา และทำงานกับเราเพื่อบรรลุเป้าหมายขององค์กรได้ ถือเป็นผู้มีบุญคุณกับเราเช่นกัน แล้วกับคนที่มีความสามารถพอๆ กัน จะถือว่าเขาเป็นคู่แข่ง เป็นศัตรูที่ต้องห้ำหั่นกันไหม ซึ่งแม้ว่าหลายๆ องค์กรจะแข่งขันกันลักษณะนี้เป็นเรื่องปกติ แต่การเรียนรู้ซึ่งกันและกันน่าจะเปิดโอกาสให้องค์กรได้มากกว่า โดยเฉพาะยุคที่ต้องใช้ Positive Competition คนเหล่านี้ก็ถือเป็นคนที่มีบุญคุณต่อเราเพราะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เราอยากเรียนรู้ อยากเอาชนะ และทำให้เราเจริญก้าวหน้า

Comments are closed.