หัวหน้างานกับทักษะการสื่อความ

หลายๆครั้งที่เราคุยกันในเรื่องของหัวหน้างานกับการบริหารคน ในเรื่องของการจูงใจพนักงานไปแล้ว วันนี้จะมาในเรื่องของหัวหน้างานกับทักษะการสื่อความ ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้เรื่องของการสร้างแรงจูงใจเลยทีเดียว การสื่อความเป็นทักษะที่สำคัญมากในการทำงาน ยิ่งเฉพาะกับหัวหน้างานแล้ว การสื่อความเป็นทักษะที่จะช่วยให้เกิดแรงจูงใจในการทำงานของพนักงาน เกิดการทำงานเป็นทีมที่ดี และเกิดความเข้าใจกันระหว่างทีมงานด้วยกันเอง ดูแล้วเหมือนกับว่าการสื่อความจะเป็นพื้นฐานของทุกอย่างในการทำงาน  แต่ทำไมหัวหน้างานบางคนก็ยังไม่สามารถที่จะใช้การสื่อความให้เป็นเครื่องมือในการสร้างทีมงาน และสร้างแรงจูงใจที่ดีให้กับพนักงาน ในทางตรงกันข้าม กลับใช้การสื่อความนี้เป็นเครื่องมือในการทำลายทีมงาน สร้างความขัดแย้งกันเองในทีมงาน สร้างรอยร้าวในความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้างานกับลูกน้อง  การสื่อความทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย การเขียน การอ่าน เราจะต้องเลือกวิธีการสื่อความให้ถูกต้องตรงกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการจะสื่อ การที่จะชมเชยพนักงาน ก็ควรใช้การสื่อความด้วยวาจามากกว่าการใช้การเขียนชมพนักงานแต่หัวหน้างานบางคนก็ยังใช้วิธีการสื่อความแบบไม่ค่อยถูกต้องนัก ดิฉันเคยเห็นหัวหน้างานไม่พูดคุยกับลูกน้องเลย นั่งติดกัน แต่เวลาจะคุยกันจะใช้อีเมล์ส่งถึงกัน พอลูกน้องไม่ได้เช็คเมล์ หัวหน้าก็ดุด่า ว่าทำไมไม่เช็คเมล์ซะบ้าง   หัวหน้าบางคนก็ใช้วาจาเชือดเฉือนลูกน้องจนเป็นแผลเหวอะหวะไปทั้งตัว มีแต่การดุด่าว่ากล่าว หรือไม่ก็ประชดประชันลูกน้อง เพื่อความสะใจของตนเอง จนลืมไปว่า นี่คือลูกน้องของเราซึ่งเป็นคนที่จะต้องสร้างผลงานให้เราด้วยซ้ำ หัวหน้าไม่สามารถทำงานได้เลย ถ้าไม่มีลูกน้องมือดีคอยช่วยอีกแรง แล้วถ้าหัวหน้างานสื่อความแบบแย่ๆ แบบนี้ จะมีลูกน้องสักกี่คนที่อยากทำงานด้วย   หัวหน้างานบางคน ก็พูดไม่หยุดเลยก็มี ไม่เคยคิดที่จะฟังลูกน้องตัวเองบ้าง การสื่อความไม่ใช่แค่การส่งสารนะค่ะ การสื่อความจะรวมถึงการรับสารด้วย ดังนั้น หัวหน้างานก็ต้องมีทักษะในการฟังที่ดีด้วย ไม่ใช่ฟังแล้วคิดไปเองทุกอย่าง คิดเข้าข้างตัวเองทุกเรื่อง  นอกจากการสื่อความที่ดีแล้ว หัวหน้างานยังต้องสร้างทีมงานที่ดีอีกด้วย ต้องประสานความแตกต่างของลูกน้องแต่ละคนเข้าด้วยกัน เพื่อเป้าหมายของงาน และต้องจัดการกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในทีมงาน ไม่ใช่ทำตัวให้เกิดความขัดแย้งซะเอง   เรื่องของการทำงานเป็นทีมนั้น มันเริ่มจากความเชื่อใจกัน ถ้าลูกน้องเชื่อใจหัวหน้า หัวหน้าเชื่อใจลูกน้อง ทีมงานมันก็จะเกิดค่ะ แต่ถ้าต่างคนต่างไม่มีความเชื่อใจกันเลย มันก็จบค่ะ ดังนั้นหัวหน้าจะทำอย่างไรให้ลูกน้องเชื่อใจ คำตอบก็คือ สร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในทีมงาน ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่รักใครชอบใครเกินหน้าเกินตา จนทำให้คนอื่นรู้สึกว่าลำเอียง ถ้าเป็นแบบนี้ทีมงานที่ดีย่อมไม่เกิดขึ้นแน่นอนค่ะ  ดังนั้นโดยสรุปที่ได้กล่าวไปก็คือ หัวหน้างานกับการบริหารคนนั้น จะต้องสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงาน เสริมสร้างทักษะการสื่อความที่ดี ทั้งการส่งสาร และการรับสาร และยังต้องสร้างบรรยากาศในการทำงานเป็นทีมที่ดี รวมทั้งสามารถจัดการกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในทีมได้อย่างสร้างสรรค์  ทุกอย่างในโลกนี้ล้วนมีด้านมืดและด้านสว่าง มีเรื่องดี และไม่ดี เรื่องของผู้นำก็เช่นกัน มีทั้งด้านมืดและด้านสว่าง สิ่งที่ผู้นำทุกคนควรจะระวังไว้ให้ดี ก็คือ การที่เราได้ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำ มีอำนาจ มีหน้ามีตา มีคนยกย่องและยอมรับนับถือมากขึ้น อาจจะทำให้ผู้นำคนนั้นหันเข้าสู่ด้านมืดได้ ถ้าผู้นำท่านนั้นขาดสติ   หลายคนบ่นว่าท้อแท้กับชีวิต ไม่มีกำลังใจในการใช้ชีวิต หมดแรง หมดหวัง หมดอาลัยตายอยาก หมดแล้วทุกสิ่งทุกอย่าง ฯลฯ ถามจริงๆ ว่าเราหมดทุกอย่างจริงๆ หรือ เราคิดว่าเราหมดทุกอย่าง ต่างกันนะค่ะ ในชีวิตจริง ไม่มีใครที่จะสูญเสียไปหมดทุกอย่างในชีวิตหรอกค่ะ นอกจากจะไม่มีชีวิตแล้ว ถ้าเรายังมีลมหายใจอยู่ แปลว่าเรายังมีหวังในชีวิตค่ะ ดังนั้นเปลี่ยนความคิดของเราเสียใหม่ แล้วชีวิตเราจะดีขึ้นอีกมากค่ะ

Comments are closed.