การบริหารหลักสูตรการเรียนการสอนสู่ความเป็นเลิศของ มทร.พระนคร

การบริหารหลักสูตรการเรียนการสอนสู่ความเป็นเลิศของ มทร.พระนคร

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุขุมาล  หวังวณิชพันธุ์

      เป็นที่ทราบกันแล้วว่า "คุณภาพของคน" เป็นปัจจัยสำคัญในการก้าวสู่ความสำเร็จของการพัฒนาประเทศ และ "การศึกษา" เป็นปัจจัยหลักในการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพ  การจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ จึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง นับตั้งแต่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้ก่อให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ ที่มุ่งเน้นคุณภาพการศึกษา โดยกำหนดให้มี ระบบการประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ  และได้กำหนดให้หน่วยงานต้นสังกัดและสถานศึกษาจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาและให้ถือว่าการประกันคุณภาพภายใน เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารการศึกษาที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง (พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 : มาตรา 48) รวมทั้งให้มีการประเมินคุณภาพภายนอก ของสถานศึกษาทุกแห่งอย่างน้อยหนึ่งครั้งในทุก 5 ปี โดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาเป็นผู้ดำเนินการ (พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 : มาตรา 49) จากการจัดทำรายงานประเมินตนเอง ที่ผ่านมา ทำให้สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน ได้เริ่มต้นกระบวนการดังกล่าว ตั้งแต่การรวบรวมผลการดำเนินงาน การประเมินตนเอง มาวิเคราะห์  จำแนกรายองค์ประกอบในแต่ละตัวชี้วัด โดยเฉพาะองค์ประกอบที่ 2 ด้านการเรียนการสอน ในตัวบ่งชี้ที่ 2.1 ระบบและกลไกการพัฒนาและบริหารหลักสูตร ได้นำผลการประเมินมาปรับปรุงงาน วิเคราะห์ สังเคราะห์ และนำไปสู่วางแผนและปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนและการบริหารหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้งประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2552 ซึ่งถือเป็นกฎหมาย ได้ระบุให้ทุกหลักสูตรต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับกรอบมาตรฐานที่กำหนดภายในปีการศึกษา 2555 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งที่เป็นหน่วยงานกำกับและส่งเสริมการดำเนินการของสถาบันอุดมศึกษา ได้จัดทำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ TQF ขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการนำพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ เกี่ยวกับมาตรฐานการอุดมศึกษาไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม  โดยกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา(TQF) เน้นผลการเรียนรู้ (learning outcomes)ของนักศึกษา ซึ่งต้องมีอย่างน้อย 5 ด้าน คือ (1)ด้านคุณธรรม จริยธรรม (2) ด้านความรู้  (3)ด้านทักษะทางปัญญา(4) ด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ (5) ด้านทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ นั้น นอกจากผลการเรียนรู้ทั้ง 5 ด้านดังกล่าวแล้ว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่เน้นการผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติที่ต้องการทักษะทางกายภาพจึงได้เพิ่มการเรียนรู้ด้าน ทักษะพิสัย เพื่อการพัฒนาบัณฑิตนักปฏิบัติของมทร.พระนครให้มีคุณภาพ และมาตรฐานที่สามารถเทียบเคียงกันได้ ในการเตรียมความพร้อมเพื่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปีพ.ศ. 2558 โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ

สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน(สสท.) ได้กำหนดหลักการประเมินผลการดำเนินงานของหลักสูตรโดยการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยคณะต่างๆต้องจัดทำรายละเอียดหลักสูตร ตามขั้นตอนการเปิดหลักสูตรใหม่หรือการปรับปรุงหลักสูตร ตามแบบ มคอ.2 ภายใต้รูปแบบที่กำหนดของมหาวิทยาลัย ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาวิชาการ สภามหาวิทยาลัยและสภาวิชาชีพ(ถ้ามี) จากนั้นจึงนำเสนอ สกอ. ภายใน 30 วัน หลังจากได้รับการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย

นอกจากนี้อาจารย์ผู้สอนจะต้องจัดทำ รายละเอียดรายวิชา(มคอ.3) และ/หรือรายละเอียดของประสบการณ์ภาคสนาม(มคอ.4) และต้องดำเนินการจัดทำให้แล้วเสร็จก่อนเปิดภาคการศึกษานั้นๆ     หลังจากดำเนินการสอนเสร็จสิ้นในแต่ละภาคการศึกษา อาจารย์จะต้องจัดทำรายงานผลการดำเนินการของรายวิชา (มคอ. 5) และ/หรือรายงานผลการดำเนินการของประสบการณ์ภาคสนาม (มคอ.6)  ภายใน 30 วัน หลังสิ้นสุดภาคการศึกษาที่เปิดสอน  ต้องจัดทำให้ครบถ้วนทุกรายวิชา โดยนำเสนอต่อคณะ  นอกจากนี้อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรหรือหัวหน้าหลักสูตร จะต้องจัดทำรายงานผลการดำเนินการของหลักสูตร(มคอ.7)  ภายใน 60 วัน  หลังสิ้นสุดปีการศึกษา ทั้งนี้ มคอ. 7 จะต้องนำเสนอต่อสภาวิชาการ และสภามหาวิทยาลัยตามลำดับ

จากขั้นตอนการดำเนินการบริหารหลักสูตรดังกล่าวข้างต้น เป็นผลให้มีการกำหนดขั้นตอน

การดำเนินงานด้วยการกำหนดแผนผังการไหลของงาน(Flow Chart) ที่ได้จากการระดมสมองของ

ตัวแทน/หัวหน้างานหลักสูตรจากคณะต่างๆ เป็นแนวทางปฏิบัติการนำเสนอหลักสูตร ดังแผนผังด้านล่างนี้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แนวทางปฏิบัติการนำเสนอหลักสูตร

 

จากนั้นได้ดำเนินการจัดทำแผนผังการดำเนินการต่างๆอีกหลากหลาย อาทิเช่น แผนผังการเปิดหลักสูตร แผนผังการปิดหลักสูตร รวมทั้งแบบฟอร์มการรายงานรูปแบบต่างๆในการบริหารหลักสูตร โดยผ่านการจัดการความรู้ เช่น กิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียน ที่มีแผนการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างเป็นระบบ จากนั้นจึงนำแนวทางที่ได้ตกลงร่วมกัน(Approach) อย่างมีแบบแผนด้วยนำไปใช้(Deployment)อย่างทั่วถึงทั้งองค์กร เพื่อให้เกิดการเรียนรู้(Learning)และบูรณาการเชื่อมโยงสอดคล้องกัน(Integration)  มีการนำกระบวนการตามที่กำหนดไว้อย่างเป็นระบบไปสู่การปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอและทั่วถึง ด้วยการประกาศใช้และมีการเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ เช่นแผ่นบันทึกซีดี เว๊บไซต์ของมหาวิทยาลัย คู่มือหลักสูตร การสื่อสารออนไลน์และการ”Walk-in”ในการให้ความกระจ่างตามคณะต่างๆอีกด้วย เพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกแก่คณาจารย์ซึ่งนับว่าเป็นกลไกสนับสนุนการดำเนินการตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิอย่างครบถ้วน ในด้านกระบวนการ(Process)

ในส่วนของการรายงานผลการดำเนินการ มคอ.3-6 คณะมีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อติดตาม ตรวจสอบ ความสมบูรณ์ของการจัดทำ มคอ.3-6  ส่วน สสท. จะรวบรวม มคอ.3-6 จากคณะในรูปของ CD โดยคณะต้องเป็นส่งเป็น Files Pdf. ไม่ต้องส่งเป็นเอกสาร เพื่อการลดความสิ้นเปลืองของทรัพยากร แต่ขอให้รวบรวมในรูปของ CD เพื่อมหาวิทยาลัยจะได้ควบคุม ติดตาม และประเมินผลการดำเนินการตามการกำหนดตัวชี้วัด(Measurable)  ด้านการควบคุมคุณภาพการบริหารหลักสูตรตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าการบริหารหลักสูตรการเรียนการสอน สู่ความเป็นเลิศของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ได้เริ่มจากการสำรวจความต้องการขององค์กรผ่านการระดมสมอง สู่การกำหนดแนวทางการปฏิบัติงาน การจัดทำแผนปฏิบัติงานรวมทั้งการใช้เครื่องมือทางการจัดการต่างๆมาใช้ในการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายร่วมกันทั้งสถาบัน โดยมีการวางเป้าหมายร่วมกัน มุ่งมั่นพัฒนาอย่างจริงจัง และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยต่อไปในอนาคต

 

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *