สสว.สร้างระบบเตือนภัยธุรกิจ หนุน SMEs ใช้เป็นแหล่งข้อมูล

นายชาวันย์ สวัสดิ์-ชูโต รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สสว.เดินหน้าพัฒนาระบบเตือนภัย SMEs มุ่งให้ครอบคลุมงบการเงินนิติบุคคลกว่า 3 แสนรายใน 961 หมวดธุรกิจ พร้อมจัดทำอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ และพัฒนาปรับปรุงเว็บไซต์ระบบเตือนภัยธุรกิจ (BWS) เพื่อให้เป็นแหล่งข้อมูลทันสมัย เพื่อสร้างประโยชน์แก่ SMEs และหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน

นายชาวันย์ สวัสดิ์-ชูโต รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว.ได้ดำเนินโครงการจัดทำอัตราส่วนทางการเงินของ SMEs พร้อมพัฒนาปรับปรุงระบบเตือนภัยธุรกิจ ในชื่อเว็บไซต์ “ระบบเตือนภัยธุรกิจ” (Business Warning System : BWS) มาตั้งแต่ปี 2553 และมีการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นแหล่งข้อมูลที่ทันสมัย และเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ SMEs อย่างแท้จริง

โดยในปี 2556 นี้นับเป็นการพัฒนาปรับปรุงฐานข้อมูลปีที่ 3 ซึ่ง สสว.ได้ร่วมกับสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ดำเนินการปรับปรุงข้อมูลระบบเตือนภัยธุรกิจ และทำการวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติม ประกอบด้วย 1. ข้อมูลงบการเงิน พ.ศ. 2553 และ 2554 ของนิติบุคคล จำนวนไม่ต่ำกว่า 300,000 ราย ครอบคลุมหมวดธุรกิจจำนวน 961 หมวดธุรกิจ 2. จัดทำอัตราส่วนทางการเงินของนิติบุคคล พ.ศ. 2553 และ 2554 แยกตามหมวดธุรกิจ เป็นอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญจำนวน 24 อัตราส่วนทางการเงิน และทำการวิเคราะห์-สังเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการใช้งาน และ 3. พัฒนาและปรับปรุงเว็บไซต์ระบบเตือนภัยธุรกิจ Business Warning System หรือ BWS เพื่อแสดงผลอัตราส่วนทางการเงิน ผลการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลอัตราส่วนทางการเงิน พ.ศ. 2553 และ 2554 ให้บุคคลและองค์กรต่างๆ เข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้โดยสะดวก

สำหรับโครงการจัดทำอัตราส่วนทางการเงินของ SMEs พร้อมพัฒนาปรับปรุงระบบเตือนภัยธุรกิจได้เริ่มดำเนินการเป็นครั้งแรกในปี 2553 โดยร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจัดทำข้อมูลและรายงานการวิเคราะห์ รายงานสถานการณ์ต่างๆ ของ SMEs เริ่มจากการนำข้อมูลด้านการเงินของสถานประกอบการจำนวน 2,500 กิจการมากลั่นกรองและจัดทำระบบเตือนภัยธุรกิจ ผ่านการแสดงผลในรูปแบบของสัดส่วนทางการเงิน เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ใช้เป็นเกณฑ์พิจารณาศักยภาพ หรือสมรรถภาพในการดำเนินธุรกิจ หรือเรียกว่าระบบดัชนีสมรรถนะธุรกิจ (Business Performance Index : BPI) จัดทำรายงานเชิงลึก 3 สาขา ได้แก่ สาขาการผลิตยางแผ่นและยางแท่ง สาขาการผลิตน้ำแข็งเพื่อการบริโภค และสาขาธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต และห้องชุด

ในปี 2554 ได้ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมปรับปรุงและพัฒนาระบบเตือนภัยธุรกิจ โดยสำรวจข้อมูลด้านการเงินปี 2552 และ 2553 จากผู้ประกอบการจำนวน 1,500 กิจการ รวมถึงจัดทำรายงานวิเคราะห์เชิงลึกในสาขาผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ และสาขาผู้ผลิตแม่พิมพ์ นอกจากนี้ได้เพิ่มระบบเหมืองข้อมูล หรือ Data Mining : DM ซึ่งสามารถแสดงผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ BPI สำหรับ 3 สาขาธุรกิจ โดยมีการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ 3 หัวข้อ ได้แก่ ด้านพลังงาน ด้านแรงงาน และประสิทธิภาพเครื่องจักร

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าการดำเนินงานดังกล่าวจะเป็นการพัฒนาฐานข้อมูลให้ทันสมัย เพื่อให้ผู้ประกอบการใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาศักยภาพหรือสมรรถภาพในการดำเนินธุรกิจ การบริหารจัดการ การตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งพัฒนาปรับปรุงองค์กรของตนเอง และเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบาย/แผนงานในการส่งเสริม สนับสนุน SMEs ให้เป็นกำลังหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยผู้สนใจสามารถใช้บริการระบบเตือนภัยธุรกิจของ สสว.ได้ที่ www.sme.go.th/bws

นอกจากนี้ ภายใต้การดำเนินโครงการดังกล่าวได้จัดให้มีงานสัมมนา “SMEs ไม่หลงทางด้วย BWS” โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs และหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริม SMEs ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเข็มทิศสำหรับการทำธุรกิจ การวิเคราะห์ปัจจัยความสำเร็จของธุรกิจต่างๆ เช่น การผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร เฟอร์นิเจอร์ ผลิตภัณฑ์จากไม้ โรงแรม-ที่พัก บริการขนส่ง ธุรกิจก่อสร้าง ฯลฯ รวมถึงการใช้งานระบบ Business Warning System ด้วยตัวเอง และระบบ Web Matching System เชื่อมโยงธุรกิจประเทศญี่ปุ่น

โดยกำหนดจะจัดใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคใต้ จ.สงขลา วันที่ 8 พ.ย. 2556 ณ โรงแรมหาดใหญ่ พาราไดซ์ โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ วันที่ 13 พ.ย. 2556 ณ โรงแรมเซ็นทารา ดวงตะวัน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น วันที่ 22 พ.ย. 2556 ณ โรงแรมบุษราคัม และภาคกลาง กรุงเทพมหานคร วันที่ 29 พ.ย. 2556 ณ ห้อง Lotus LL Floor โรงแรม Lotus Sukhumvit Bangkok ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs และหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริม SMEs เข้าใจวิธีการใช้งานและนำข้อมูลไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป

ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์ – SMEs

 

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *